วันนี้ (16 กันยายน) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น. สมาชิกวุฒิสภา ถามนายกรัฐมนตรีเรื่องการเยียวยาหลังสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาตอบกระทู้
น.ต. วุฒิพงศ์ ถามถึงแนวทางการฟื้นฟูสถานการณ์น้ำท่วม หลังบ้านเรือนและพืชสวนไร่นาเสียหาย ประชาชนร้องไห้ไม่รู้จะรื้อฟื้นตัวเองอย่างไรต่อไป จึงเกิดคำถามว่า ในจังหวัดที่กำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัย ชาวบ้านกังวลว่าจะฟื้นฟูเยียวยาอย่างไร เมื่อไร กี่โมงจะได้ โคลนจะทำความสะอาดอย่างไร หน่วยงานรัฐได้ส่งเครื่องมือหนักที่มีในภูมิภาคอื่นเข้าช่วยเหลือหรือไม่ กองทัพเรือก็ส่งเช่นกัน ทั้งเครื่องมือ บุคลากร เชื้อเพลิง เบี้ยเลี้ยง และค่าที่พัก ขอให้เต็มที่
“แต่ทราบมาว่าบางหน่วยงานไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่วาจา จะเป็นปัญหาของผู้ปฏิบัติงานได้ ดังนั้นรัฐมนตรีต้องชี้แจงว่า หากมีมาตรการอยู่แล้ว แต่จะรอน้ำแห้งแล้วค่อยไป หรือจะให้ทันที แต่รัฐบาลรับปากแล้วจะให้ทันที” น.ต. วุฒิพงศ์ กล่าว
ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค ยังจะเก็บค่าน้ำหรือไม่ จะลดค่าไฟหรือไม่ หรือไม่เก็บเป็นเวลา 1 เดือนในพื้นที่ที่เสียหาย ส่วนค่าโทรศัพท์จะลดลงหรือจะยืดวันให้ระบบเติมเงิน การฟื้นฟูบ้านเรือนพื้นที่เกษตรกรรมก็ขอให้เป็นธรรม เพราะตอนนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็หมดกำลังใจ นายกฯ ลงพื้นที่ก็ดีใจ แต่จะดีใจมากกว่านั้นถ้ามีการเยียวยาที่รวดเร็วและทันต่อเวลา
ด้านธีรรัตน์ชี้แจงว่า รัฐบาลต้องรีบทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พายุฝนมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาครัฐได้ดำเนินการทุกช่องทางที่จะเตือนภัยให้กับประชาชนรับทราบ น้ำมาเร็ว แรง และเป็นจำนวนมาก เราเตรียมการซักซ้อมความพร้อมในพื้นที่โดยรอบและพื้นที่ที่น้ำไปถึง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกฯ ไปด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก มีความเสียหายเป็นจำนวนมาก โคลนหนา 1 ฟุต นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ได้ลุยโคลนเข้าไปสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบมีกำลังใจที่ดีเมื่อเห็นการทำงานของภาครัฐที่เดินทางเข้าไป ต่างเข้ามาโผกอดและมอบกำลังใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าเราจะไม่ทิ้งพวกเขาแน่นอน
ในเรื่องของการเยียวยาการชะล้างโคลน นายกฯ ได้สั่งการอย่างเร่งด่วน ไม่ได้เป็นหน้าที่คนใดคนหนึ่ง กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ที่มีเครื่องมือและมีสรรพกำลังไปช่วยเหลือ เช่น กระทรวงกลาโหม สั่งกองทัพภาคสาม และหลายหน่วยงาน ให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทางบก อากาศ น้ำ นำเครื่องมือลงไปช่วยเหลือ พาประชาชนเคลื่อนย้ายออกมาได้โดยปลอดภัย
อีกทั้งการทำความสะอาดครั้งเดียวไม่เพียงพอ ไม่ใช่ลงไปเสร็จแล้วถอนกำลังออก ยังมีการตรึงกำลังในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ช่วยจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ถึงถอนกองกำลังได้ ถ้าบ้านใดช่วยเหลือตนเองได้ เราก็จะดำเนินการช่วยเหลือท่านอื่น แต่ถ้าบ้านใดติดขัดกำลังพล สามารถร้องขอกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือแม้แต่รัฐบาลที่มีช่องทางออนไลน์ให้ส่งข้อมูล
ด้านกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย มอบถุงยังชีพ เยี่ยมศูนย์อพยพ นำอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องผลิตน้ำประปา ลงไปยังพื้นที่ และพูดถึงการป้องกันโจร ที่ประชาชนไม่กล้าย้ายออกจากบ้านเพราะห่วงทรัพย์สิน ได้นำเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนไปดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ขอให้มั่นใจว่าการเยียวยา ฟื้นฟู ซ่อมแซม รัฐช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง และเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ต้องออกให้ทันเหตุการณ์
“อาสาสมัครที่ไปช่วยและประสบอุบัติเหตุ รัฐบาลรับรู้ เขาคือผู้เสียสละ ต้องให้ขวัญกำลังใจกับเขาให้ดีขึ้น” ธีรรัตน์กล่าว
สำหรับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เราตั้งโจทย์ให้ไปดูเรื่องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ถ้าเป็นไปได้ขอให้ลดจนไม่ต้องจ่ายสำหรับประชาชน เพื่อช่วยแบ่งเบาให้มากที่สุด และจะนำเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ เพราะเราต้องคำนึงเรื่องระเบียบข้อบังคับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ในวันนี้ให้ความช่วยเหลือในระยะแรก จะใช้จ่ายจากงบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทุกจังหวัดใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ 20 ล้านบาท โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ หากไม่เพียงพอ สามารถใช้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่กรมบัญชีกลางได้อนุมัติจังหวัดที่ประสบภัยในภาคเหนือเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท เป็นการทำงานที่รวดเร็ว ไม่มีการกระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง แต่กระจายอำนาจให้หน้างานสามารถตัดสินใจช่วยเหลือประชาชนได้เร็วที่สุด
ธีรรัตน์เผยอีกว่า นายกฯ ตั้งศูนย์บัญชาการที่จะประชุมในบ่ายวันนี้ โดยมีรองนายกฯ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ส่งต่อข้อมูลการสื่อสารต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน
“เจ้าหน้าที่อาสาในพื้นที่จำนวนมากจะเห็นถึงความชุลมุนวุ่นวาย แต่นี่คือจิตใจและความเสียสละของทุกหน่วยงานที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ ใครทำอะไรได้ทำก่อน ช่วยตรงไหนได้ทำก่อน เป็นค่านิยมที่ดีของประเทศไทยที่สืบต่อกันมา ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติจะเห็นการร่วมกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอยู่เสมอ” ธีรรัตน์ระบุ