ตลอด 62 ปีของการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ผู้อยู่เบื้องหลังความมั่นคงทางพลังงานด้วยการให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนงานบริการ ให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่เทคโนโลยีมีความจำเป็นจนนำไปสู่ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นได้ และความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ภารกิจในขวบปีที่ 62 ของ MEA ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก
แต่หากย้อนดูการทำงานตลอด 62 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า MEA เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยเฉพาะปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในการยกระดับการให้บริการด้านพลังงาน มุ่งเน้นพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าให้มีไฟฟ้าใช้ได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และปลอดภัย
นอกจากความเชี่ยวชาญและการพัฒนาด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องแล้ว MEA ยังถือเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยี (IT) มาปรับใช้ในการทำงานอีกด้วย โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น MEA Smart Life Application ที่สามารถตรวจสอบและชำระค่าไฟ แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง หรือการพัฒนาระบบบริการขอใช้ไฟฟ้าออนไลน์ MEASY การรับบริการขอติดตั้งไฟฟ้าใหม่ ขอติดตั้งไฟฟ้าเพิ่มชั่วคราว ขอเพิ่ม-ลดขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ตลอดจนการของดการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวก็สามารถรับบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้พัฒนาระบบให้เป็นช่องทางในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
นอกจากนี้ MEA ยังได้ปรับเปลี่ยนงานบริการต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบ New Normal ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพงานบริการต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกระดาษ โดยเฉพาะบริการ MEA e-Bill ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารับเอกสารในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ Email เพื่อลดการใช้กระดาษ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ไฟฟ้ายุคใหม่อีกด้วย
Smart Metro สู่การเป็นมหานครอัจฉริยะ ปรับและเปลี่ยนมุมมอง เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม
MEA ประกาศภารกิจสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นมหานครอัจฉริยะ Smart Metro
หนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะนำไปสู่ Smart Metro คือภารกิจนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยการเปลี่ยนจากสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งข้อดีของการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินคือ จะช่วยให้ระบบจำหน่ายไฟฟ้ามั่นคงขึ้น รองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติ เพิ่มความเสถียรให้กับสายไฟได้ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้
แล้วเมื่อระบบจำหน่ายไฟฟ้ามีความมั่นคงแล้ว… จะส่งผลดีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างไร? บอกได้เลยว่าจะช่วยรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมืองได้ โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ท้ายที่สุดคงเป็นเรื่องของทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ
โดยภารกิจการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 กำหนดเส้นทาง 215.6 กิโลเมตร ปัจจุบัน MEA ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 48.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ 167 กิโลเมตร
หากเทียบระยะทางการดำเนินงานที่เหลืออีกกว่า 167 กิโลเมตร คงเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับ MEA เพราะภารกิจนี้อาจจะล่าช้าออกไปอีก เนื่องด้วยอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินงาน และการทำงานที่จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่กระบวนการวางแผน ออกแบบ ก่อสร้างบ่อพัก และท่อร้อยสายไฟฟ้าต่อไป ซึ่งในแต่ละเส้นทางก็จะมีความยากง่ายแตกต่างกัน บวกกับตัวแปรสำคัญเลยก็คือ เวลาที่สามารถปฏิบัติงานได้ในเวลา 22.00 น. – 05.00 น. เท่านั้น เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร
แล้วเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้วถูกนำไปไว้ที่ไหน?
จากภารกิจนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน หลายคนคงสงสัยว่าแล้วเสาไฟฟ้าจากการรื้อถอนในโครงการนี้หายไปไหน? MEA จะทยอยส่งมอบเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนแล้วมากกว่า 800 ต้นในโครงการถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนสุขุมวิท และโครงการอื่น ๆ ให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปทำแนวป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เพื่อสร้างประโยชน์ในการช่วยฟื้นฟูและป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ และความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชายฝั่งทะเล ช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน
ท่ามกลางอุปสรรคและปัญหา MEA ยังคงมุ่งมั่นดำเนินภารกิจนำสายไฟฟ้าลงดิน
แม้ว่าจะต้องดำเนินภารกิจท่ามกลางอุปสรรคและปัญหา แต่ MEA ก็ยังไม่หยุดเดินหน้าโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ได้แก่ ถนนวิทยุ ช่วงแยกเพลินจิต ถึงถนนพระราม 4 และโครงการรอบพระตำหนักจิตรลดา รวมถึงในปัจจุบันที่มีการใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีสายไฟฟ้าแรงสูงเพิ่ม จึงมีการสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ประกอบด้วย ถนนชิดลมถึงถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลมถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid ช่วยวิเคราะห์และติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้า
เพื่อให้การสร้างมหานครอัจฉริยะ Smart Metro เป็นไปอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ MEA จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร’ โดยมีภารกิจในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้ล้ำสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด MEA ได้มีการติดตั้ง Smart Meter จำนวน 300 เครื่อง ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ Circle Condominium (เซอร์เคิล คอนโดมิเนียม) ถนนเพชรบุรี นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ และในพื้นที่ศูนย์กลางอันมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โครงการนี้ได้นำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ MEA Smart Metro Grid เข้ามาช่วยบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ ด้วยการติดตั้ง Smart Meter โดย MEA ได้ตั้งเป้าในการใช้ระบบ Smart Meter ไว้ที่ 33,265 ชุด แล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะเริ่มนำร่องในพื้นที่ความรับผิดชอบของ MEA ก่อนจะขยายการติดตั้งให้ครอบคลุมพื้นที่ในอนาคต ซึ่ง MEA ได้มีการเก็บข้อมูลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการติดตั้ง Smart Meter ไปยังพื้นที่สำคัญ อีกทั้งยังได้ทดลองใช้เทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบแบบสองทาง (Two-way Communication) ที่สามารถควบคุมและแสดงผลข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เพื่อที่ผู้ให้บริการอย่าง MEA จะได้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่ได้จ่ายไปยังผู้ใช้งาน และนอกจากการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและย้อนหลังแล้ว ยังช่วยวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้ทันที
ทั้งนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง สามารถบริหารจัดการใช้พลังงานไฟฟ้าของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งระบบจะมีการแจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้องแบบอัตโนมัติ เห็นได้ชัดเลยว่า ไม่ว่าไฟจะดับหรือขัดข้องเมื่อไร ก็มั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วจาก Smart Meter ที่ตรวจสอบแสดงข้อมูลที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง
นอกจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ MEA Smart Metro Grid จะเชื่อมโยงกับ Smart Meter ในการบริหารจัดการด้านระบบไฟฟ้าแล้ว ยังได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) โดยมุ่งพัฒนาเสาหลักทางด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าได้อย่างทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตเมือง
MEA ยังมีแผนดำเนินการปรับปรุงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดการระบบไฟฟ้า ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลให้มีความทันสมัยขึ้น ช่วยบริหารจัดการและควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้สามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที นำไปสู่การวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานครให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้า คงต้องฝากกำลังใจให้ MEA เดินหน้าพัฒนาระบบพลังงานอัจฉริยะอย่างต่อเนื่องให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของเมืองมหานคร ทั้งภารกิจการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินรวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ MEA มุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ทันสมัยให้แก่ประชาชนในอนาคต รองรับการเป็นมหานครอัจฉริยะ ‘Smart Metro’ ตอบโจทย์การใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร สู่การเป็น Smart City ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: