×

Me, Myself and Mr.Joker: กระจกสะท้อนตัวตนและสิ่งที่นักแสดงต้องค้นพบด้วยตัวเองในกองถ่าย

31.10.2019
  • LOADING...
Joker

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อาเธอร์ เฟล็ก แลกทั้งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการแสดงออกในตัวตนในชื่อใหม่ที่เขาเลือกให้ผู้คนจดจำว่า โจ๊กเกอร์ ส่วน วาคีน ฟีนิกซ์ แลกด้วยสุขภาพร่างกายและจิตใจ ให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการแสดงเป็นตัวละคร 
  • นักแสดงอย่างฟีนิกซ์ที่ใช้เทคนิคนี้ใน Joker เขาไปใช้ชีวิตเป็นตัวละครตั้งแต่ร่างกาย คือลดน้ำหนักตัวเองลงไป 25 กิโลกรัม และอยู่กับเสียงหัวเราะที่เป็นอาการของตัวละคร รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือน จนร่างกายเกิดสภาวะที่เรียกว่ากล้ามเนื้อจำ และนั่นทำให้ฟีนิกซ์กลายเป็น อาเธอร์ เฟล็ก แบบไม่ต้องพยายามอีกต่อไปในระหว่างถ่ายทำ
  • ถ้าผู้ชมชมภาพยนตร์ Joker จะเห็นว่าบางครั้งเสียงหัวเราะของเฟล็กฟังดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ แต่บางครั้งเสียงกลับฟังดูเค้นๆ แห้งๆ อนิจจา…สงสารคุณจัง Method Actor แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ทุกครั้งที่เกิดการหัวเราะขึ้นในเรื่อง ฟีนิกซ์ก็สามารถทำให้การหัวเราะของตัวละครดูเจ็บปวด ทรมาน และทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงสภาวะอันแปลกประหลาดของตัวละครอย่างไม่มีข้อสงสัย

Joker

 

1

ภายใน/ห้องครัว/กลางคืน

 

เด็กสาวสองคนส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าววิ่งรอบๆ โต๊ะกลาง ในครัวที่มีเก้าอี้ทรงสูงตั้งอยู่กลางห้อง โดยมีหญิงสาววัย 30 กว่าๆ ผู้เป็นแม่กำลังพูดคุยกับตัวเองหลังจากการได้ดู Joker ผลงานภาพยนตร์ของ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ที่หลายคนกล่าวขวัญมาเมื่อตอนกลางวัน 

 

Me: รอบอาทิตย์นี้ คนเขียนรีวิวเกี่ยวกับหนัง Joker เต็ม Feeds ไปหมดเลย ยังมีมุมอะไรน่าสนใจมาเล่าต่อให้ไม่ซ้ำได้บ้างไหมนะ อืม…ลองเอาผลพวงจากสิ่งที่หนังสร้างดีกว่า น่าจะสนุกดี

 

Myself: ถ้าอย่างนั้นเริ่มต้นด้วยมุมนี้ดีกว่า คิดยังไงกับหลายต่อหลายเสียงที่พูดว่า ประโยคของ อาเธอร์ เฟล็ก ที่มีภาวะผู้ป่วยซึมเศร้า เขียนในสมุดจดมุกของเขาว่า 

 

“The worst part about having a mental illness is people expect you to behave as if you DONT,” 

 

ซึ่งตัว O ในคำว่า DON’T นั้นถูกวาดให้มีหน้า Smiley 

 

พูดจริงๆ นะ ไม่ต้องถึงกับป่วยทางจิต ที่เกิดขึ้นจากสารเคมีในสมองที่ควบคุมไม่ได้แบบเฟล็กหรอก 

 

ทุกวันนี้การเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ยังรู้สึกเลยว่าคนอื่นมักจะคาดหวังให้เรา ‘ทำตัวปกติ’ ในสายตาเขา หรือพูดให้ถูกคือปกติตามบรรทัดฐานของสังคม เรายิ้มแย้มใส่กัน เราพยายามไม่เอาปัญหาส่วนตัวเผยออกมาทางสีหน้า เจออะไรแย่ๆ มาก็เก็บไว้คนเดียว เจ้านายด่าก็ให้ยิ้ม แล้วแสดงออกว่าฉันโอเค ทั้งที่จริงๆ แล้ว ‘กูไม่’  

 

Joker

Joker

 

ซึ่งประโยคดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับซีนในรถประจำทาง ที่เฟล็กเล่นหยอกกับเด็กผิวสี

 

แม่ของเจ้าหนูตัวน้อยหันกลับมาพร้อมสีหน้าไม่เป็นมิตรแล้วบอกให้เขาหยุดรบกวนลูกของเธอ แต่เฟล็กกลับระเบิดเสียงหัวเราะออกมาท่ามกลางความงุนงงของคนในรถ แล้วจึงยื่นบัตรแข็งเคลือบที่อธิบายถึงอาการหัวเราะของเขาว่าเกิดขึ้นจากอาการควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ ในบัตรแผ่นนั้นเขียนเอาไว้ว่า 

 

‘ขออภัยต่อพฤติกรรมที่ไม่สัมพันธ์กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น’ 

 

พอดูซีนนี้จบ น้ำตามันไหลลงมาหนักมาก เพราะแค่คิดว่าถ้าร่างกายของเราไม่สามารถควบคุมได้ หรือทำอะไรออกไปในทิศทางที่เราไม่ได้อยากให้เป็น ข้างในของเรามันจะเจ็บปวดขนาดไหน   

 

Joker

 

2

Me: สำหรับนักแสดงเองก็เจ็บปวดไม่น้อยกับการแสดงแบบนี้

 

Myself: ใช่ สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ คือแค่มีอาการกล้ามเนื้อในร่างกายควบคุมไม่ได้ก็น่าสงสาร และเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของพวกเขามากพออยู่แล้ว 

 

ในขณะที่นักแสดงอย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ ซึ่งไม่ได้มีสภาวะทางร่างกายแบบนี้ แต่ต้องมาแสดงเป็นตัวละคที่มีภาวะดังกล่าว นั่นทำให้เขาต้องสร้างภาวะเช่นนี้ให้เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองที่ปกติดี ผลที่ตามมาคือในช่วงแรกๆ ของการถ่ายทำ ร่างกายของฟีนิกซ์ต่อต้านอย่างหนักจนเขาเป็นกังวลกับการหัวเราะเอามากๆ 

 

ถ้าคุณดูในสัมภาษณ์ ฟีนิกซ์พูดถึงการสร้างเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ ว่าเป็นสิ่งที่เขากังวลที่สุด การถ่ายทำล่วงเข้าสู่วันที่สองแล้ว แต่เขายังไม่เจอวิธีหัวเราะให้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติเลย มันดูเค้น ดูไม่เป็นธรรมชาติ บางทีคิดว่าเริ่มมาแล้ว แต่พอเข้าเทกที่สามเสียงก็หายไปเฉยๆ เพราะร่างกายของเขากำลังงงว่า ‘มันเกิดอะไรขึ้น’ 

 

ตามปกติมนุษย์ทั่วไปอย่างเราๆ ร่างกายกับอารมณ์จะสัมพันธ์กัน แต่การต้องมารับบทบาทเป็นตัวละครที่ทำอะไรสวนทางกับธรรมชาติ ร่างกายย่อมต้องต่อต้านเป็นธรรมดา 

 

ถ้าผู้ชมชมภาพยนตร์ Joker จะเห็นว่าบางครั้งเสียงหัวเราะของเฟล็กฟังดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ แต่บางครั้งเสียงกลับฟังดูเค้นๆ แห้งๆ อนิจจา…สงสารคุณจัง Method Actor แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ทุกครั้งที่เกิดการหัวเราะขึ้นในเรื่อง ฟีนิกซ์ก็สามารถทำให้การหัวเราะของตัวละครดูเจ็บปวด ทรมาน และทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงสภาวะอันแปลกประหลาดของตัวละครอย่างไม่มีข้อสงสัย 

 

Joker

Joker

 

3

Me: คนคงสงสัยว่ามันทำได้จริงหรือ กับการทำให้กล้ามเนื้อร่างกาย อารมณ์ และเสียงของมนุษย์ไม่สัมพันธ์กัน

Myself: คุณต้องเป็นนักแสดงที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก คนทั่วๆ ไปทำไม่ได้หรอก ร่างกายมนุษย์โดยทั่วไปแล้วทุกอย่างในร่างกายเรามันสัมพันธ์กันหมด เช่น เวลาคุณรู้สึกดีใจ ปากคุณจะขยับออก เปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เวลาคุณรู้สึกเสียใจ เจ็บปวด ตาจะร้อน น้ำตาไหลออกมาจากเบ้าตา 

 

แต่กับบทบาทนี้ ฟีนิกซ์ต้องรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์ แต่ร่างกายของเขากลับต้องสร้างเสียงหัวเราะ…

 

Me: เออ ยากจริงๆ แค่หัวเราะติดๆ กันให้ได้นาน 15 วินาทียังยากเลย นี่ยังไม่ต้องใส่อารมณ์อื่นๆ ทับซ้อนเพิ่มเข้ามาอีกนะ… 

 

Joker

Joker

 

4

Me: ถ้ามีบทให้เลือกเล่นระหว่างโจ๊กเกอร์ กับ แบทแมน เราอยากเล่นโจ๊กเกอร์มากกว่านะ 

 

Myself: สมัยก่อนตอนเป็นเด็กมักจะคิดเสมอว่าใครๆ ก็คงอยากจะเป็นแบทแมน แต่พอมาเป็นครูสอนการแสดงกลับพบว่าเด็กๆ อยากแสดงบทบาทโจ๊กเกอร์มากกว่า นักแสดงจำนวนกว่า 60% เลือกบทบาทสำหรับการแสดงในห้องเรียนเป็นตัวละครแบบโจ๊กเกอร์ คือเป็นตัวละครที่มี Dark Side หรือความเป็น Villain (ตัวร้าย) ในแบบต่างๆ 

 

…ตรงนี้บอกอะไรกับเราบ้าง

 

โจ๊กเกอร์ คือคาแรกเตอร์ที่พูดถึงการท้าทายระบบ และการมีอิสระในการแสดงออก ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางชนชั้น ความกดขี่ในสังคม ซึ่งโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ขยายภาพให้มันใหญ่และชัด จนทำให้ผู้คนในวงกว้างรู้สึกถึงมันมากขึ้นในปัจจุบัน และนั่นรวมไปถึงเทรนด์ทางความคิดในเรื่องการแสวงหาอะไรใหม่ๆ เรื่องน่าตื่นเต้น เรื่องที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่อชีวิต 

 

ฉะนั้นการออกมานอกกรอบ การมีอิสรภาพทางการแสดงออก ไม่ว่าจะในโลกโซเชียลฯ หรือในชีวิตจริงนั้นกระตุ้นให้ผู้คนอยากลิ้มรสการแสดงออก และอยากลิ้มลองประสบการณ์เหล่านั้น ยิ่งกับนักแสดงด้วยแล้วก็ยิ่งชอบการได้แสดงออก ซึ่งตรงข้ามกับการรับบทเป็นตัวละครแบทแมน ที่เก็บความรู้สึกจะตาย

 

Joker

Joker

 

5

Me: เรากำลังสนับสนุนความคิดว่าเป็นโจ๊กเกอร์มันดีอยู่หรือเปล่า

Myself: เปล่า…เราไม่บอกว่าเป็นอะไรแล้วมันดีหรือไม่ดี เรากำลังพูดถึงรากฐานของความไม่ดี มันมีเหตุผลของมัน ขอกลับเข้ามาที่หนังภาคปัจจุบัน Joker เวอร์ชันวาคีน ฟีนิกซ์ กับไอเดียที่ว่า What it takes to be free (กว่าจะได้มาซึ่งอิสรภาพเราแลกอะไรมาบ้าง) เฟล็กแลกทั้งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการแสดงออกในตัวตนในชื่อใหม่ที่เขาเลือกให้ผู้คนจดจำว่า โจ๊กเกอร์

 

ส่วนฟีนิกซ์ แลกด้วยสุขภาพร่างกายและจิตใจ ให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการแสดงเป็นตัวละคร ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ บนโลกนี้หรอก สิ่งที่ทุกคนเห็นในเนื้อหาภาพยนตร์บนจอคือปลายทางทั้งนั้น ส่วนเรื่องระหว่างทาง ไม่มีคำว่าสุขกาย สบายใจหรอก ตัวละครเฟล็กเราก็เห็นสภาพกันอยู่ในหนังว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับตัวฟีนิกซ์เองในตอนถ่ายทำเลยสักนิด 

 

Joker

Joker

 

6

Myself: ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…

 

Me: มุมของการแสดงเลยนะ ทุก Action มี Reaction ทุกการกระทำมีผลของการกระทำเสมอ ไม่มีหรอกในโลกแห่งความจริงที่คุณจะตกถังเคมีแล้วมีอาการทางจิตวิ่งไล่วิ่งฆ่าคนอย่างไร้สาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วอาการทางจิตที่เกิดกับมนุษย์ล้วนเกิดจากสภาวะรอบข้างที่เป็นตัวสร้างให้เกิดความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู สังคมที่รายล้อมเรา ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ที่ทำงาน รวมไปถึงสถานการณ์ตึงเครียดแบบหนักหนาสาหัสแบบที่สร้างบาดแผลในชีวิตของเราหรือที่เราเรียกว่า Trauma 

 

Myself: เรียกว่าเป็น Method Actionในชีวิตจริงเลยแหละ ขอขยายความเพิ่มเติมในมุมมองของเทคนิค Method Acting ก่อนนะ ในการศึกษาทางวิชาการพูดถึง Method Acting ว่าเทียบเคียงได้กับหลักการทางจิตวิทยา โดยจิตแพทย์ที่มีชื่อว่า อีวาน พาฟลอฟ ที่ทำการทดลองกับสุนัข โดยเอาอาหารมาให้สุนัขกิน แล้วสั่นกระดิ่ง ทำแบบนี้ทุกวัน ทำแบบเดิมเป็นเวลา 21 วัน

 

แล้วหลังจากนั้นจึงเริ่มสั่นกระดิ่งโดยไม่ให้อาหาร ผลลัพธ์ที่ได้คือ สุนัขเกิดอาการน้ำลายไหล เพราะกล้ามเนื้อจำได้ว่า เวลาได้ยินเสียงนี้อาหารจะมา หรือประหนึ่งว่าได้ลิ้มรสชาติอาหารนั้นไปแล้ว 

 

ทีนี้กลับมาที่นักแสดงอย่างฟีนิกซ์ที่ใช้เทคนิคนี้ใน Joker เขาไปใช้ชีวิตเป็นตัวละคร ตั้งแต่ร่างกาย คือลดน้ำหนักตัวเองลงไป 25 กิโลกรัม และอยู่กับเสียงหัวเราะที่เป็นอาการของตัวละคร รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือน จนร่างกายเกิดสภาวะที่เรียกว่ากล้ามเนื้อจำ และนั่นทำให้ในระหว่างถ่ายทำ ฟีนิกซ์ได้กลายเป็นเฟล็กแบบไม่ต้องพยายามอีกต่อไป 

 

ขณะเดียวกัน ฟีนิกซ์เองก็รู้ด้วยว่า หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ปิดกล้อง เขาจะบอกลาทั้งเฟล็กและโจ๊กเกอร์ให้ได้โดยเร็วที่สุดด้วยเช่นกัน 

 

ปุ่มกดอัดถูกสัมผัสเพื่อหยุดบทสนทนาระหว่างผู้เป็นแม่และเพื่อนในจินตนาการของเธอ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X