×

McKinsey ชี้แบงก์ไทยกำลังถูกคู่แข่งจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์แซงหน้า แนะ 10 แนวทางทวงคืนแชมป์ผู้นำภูมิภาค

23.11.2022
  • LOADING...
ธนาคารไทย

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดัง ออกรายงานในหัวข้อ ‘กำหนดอนาคตอุตสาหกรรมธนาคารไทย: สร้างเป้าหมายใหม่เพื่อจุดประกายการเติบโต’ (Shaping the future of Thai banking: Reinventing purpose to ignite growth) ซึ่งมีเนื้อหาเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของภาคธนาคารไทยที่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และการเตรียมความพร้อม รวมถึงเตรียมศักยภาพขององค์กรต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อกระตุ้นการเติบโตและสร้างผลกำไรที่ดีขึ้น 

 

รายงานดังกล่าวได้เขียนขึ้นในช่วงที่ภาคธนาคารของไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยราคาหุ้นของธนาคารไทยมีการซื้อขายต่ำกว่าหุ้นอื่นๆ ในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยธนาคาร 5 อันดับแรกมีอัตราส่วน Price to Book (P/B) อยู่ที่ 0.7 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ที่ 1.8 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ในส่วนของระดับภูมิภาค สัดส่วนมูลค่าตลาดของธนาคารในประเทศไทยจากมูลค่าตลาดรวมของธนาคารในอาเซียนลดลงจาก 16% ในปี 2552 เหลือเพียง 9% ในปี 2564 ซึ่งทำให้ธนาคารจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ขึ้นมาอยู่ในรายชื่อธนาคารที่มีมูลค่าสูงสุด 15 อันดับแรกในภูมิภาค แทนที่ธนาคารไทยหลายแห่ง 

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับธนาคารไทยในปรับเปลี่ยนองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย กอปรกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและวาระแห่งชาติที่มีการปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรของประเทศ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้

 

“ธนาคารไทยมีโอกาสที่จะสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ธนาคารไทยอาจพิจารณาที่จะมุ่งเน้นไปที่ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การทบทวนเป้าหมายของกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคาร เพื่อให้การสนับสนุนธุรกิจในเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) การส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และเพิ่มการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล” Wajid Ahmed, Partner ของ McKinsey ประเทศไทยกล่าว 

 

Ahmed กล่าวอีกว่า การไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงจะทำให้ธนาคารไทยเผชิญความเสี่ยงสูงในอนาคต ในขณะเดียวกันหากธนาคารไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ก็มีแนวโน้มที่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาจะเป็นไปในเชิงบวกเช่นเดียวกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมธนาคารไทยยังคงความสำคัญต่อไปในทศวรรษข้างหน้า 

 

โดย McKinsey ได้เผย 10 แนวทางสำคัญ ภายใต้วาระการเปลี่ยนแปลง 4 ส่วน เพื่อช่วยให้ธนาคารไทยสามารถกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ใหม่ได้อย่างตรงจุด: 

 

ส่วนที่ 1: สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

  • ทบทวนเป้าหมายของกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคาร เพื่อส่งเสริมธุรกิจในเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) 
  • ส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) 
  • เพิ่มการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล

 

ส่วนที่ 2: สร้างโมเดลธุรกิจที่มีความคล่องตัวและเฉพาะทาง

  • สร้างโมเดลธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งเฉพาะทางสำหรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน
  • เชี่ยวชาญด้านบริการสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยในยุคดิจิทัล
  • แสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสร้างธนาคารยุคใหม่ ที่เน้นการสร้างระบบนิเวศและแพลตฟอร์ม โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 

 

ส่วนที่ 3: พัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงานด้วยนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป

  • ให้ข้อเสนอและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า ในรูปแบบที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล (Personalization at Scale)
  • ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และสร้าง Value Proposition สําหรับพนักงานอย่างเหมาะสม

 

ส่วนที่ 4: สร้างความพร้อมและศักยภาพขององค์กรสำหรับอนาคต

  • เร่งนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้
  • เสริมความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เพื่อต่อสู้กับ ‘ด้านมืด’ ของโลกดิจิทัล

 

Renny Thomas, Senior Partner และ Asia Banking Practice Leader ของ McKinsey ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารไทยถือว่ากำลังอยู่ในจุดที่ต้องตัดสินใจ หากภาคธนาคารไทยสามารถเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารไทยสามารถกลับขึ้นมาเป็นผู้นำระดับภูมิภาคได้อีกครั้ง 

 

โดยมองว่าการรับแนวทางใหม่มาปรับใช้ นำเสนอบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ รวมถึงสร้างความสามารถและศักยภาพในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จะทำให้ธนาคารไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้านโครงสร้างประชากร ความต้องการของผู้บริโภค และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การไม่ลงมือทำอาจมีความเสี่ยง แต่ผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จนั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising