×

สู้บาทแข็งค่าไม่ไหว Mazda เตรียมย้ายการผลิต CX-3 กลับไปที่ญี่ปุ่น

23.12.2019
  • LOADING...

สถานการณ์ ‘เงินบาทแข็งค่า’ ต่างส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 7% เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี และ 8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย

 

Mazda ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของแดนซามูไรกลายเป็นบริษัทล่าสุดที่สู้เงินบาทแข็งค่าไม่ไหว เตรียมย้ายการผลิตบางส่วนกลับไปที่ญี่ปุ่น สำนักข่าว Nikkei Asian Review รายงานว่า Mazda จะย้ายฐานการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์แบบสปอร์ต รุ่น CX-3 ที่ผลิตเพื่อตลาดออสเตรเลียไปยังโรงงานในเมืองโฮฟุ จังหวัดยามากุจิ ทางตะวันตกของญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนธันวาคม CX-3 ถือเป็นหนึ่งในรุ่นส่งออกยอดนิยมของ Mazda จากไทย

 

โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยมีกำลังการผลิต 135,000 คันต่อปี CX-3 คิดเป็น 25,000 คัน ซึ่ง 14,000 คันถูกส่งออกไปยังออสเตรเลีย Mazda วางแผนที่จะเปลี่ยนการผลิต CX-3 ไปยังโรงงานในเมืองโฮฟุให้มากขึ้นในระยะต่อไป

 

การตัดสินใจของ Mazda เป็นส่วนของการปรับตัวของบริษัทต่างชาติที่รับมือกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ก่อนหน้านี้ General Motors ได้ปรับลดงานลงมากกว่า 300 ตำแหน่ง ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 กำลังการผลิตลดลง 15% และด้วยคำสั่งซื้อที่ลดลง Nippon Steel ผู้ผลิตเหล็กของญี่ปุ่น ได้กำลังผลิตจากโรงงานในไทยด้วย 

 

ไทยถือเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่ครองตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง Toyota Motor, Honda Motor, Nissan Motor, Mazda และ Isuzu Motors ล้วนมีโรงงานอยู่ที่นี้ ในปี 2561 มีการผลิตรถยนต์ในไทยจำนวน 2.16 ล้านคัน โดยครึ่งหนึ่งส่งออก และจากตัวเลขเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องจึงมีความกังวลว่าผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ อาจย้ายฐานการผลิตเหมือน Mazda ด้วย เพราะทุกรายต่างประสบปัญหารายได้ที่ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

 

ก่อนหน้านี้ Toyota ได้ออกมาประเมินทิศทางตลาดรถยนต์ไทยปี 2562 ซึ่งต้องจับตามองว่าตลาดรถยนต์จะสามารถรักษายอดจากจากปี 2561 ได้หรือไม่ ซึ่งครึ่งปีแรกยอดขายอยู่ที่ 523,770 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าตลาดรถยนต์รวมในครึ่งปีแรกเติบโตมากกว่าที่เคยคาดไว้ สืบเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับลดลงในรอบ 30 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีผ่านมา ซึ่งคาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในครึ่งปีหลัง 

 

“Toyota คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์รวมในประเทศจะเติบโตอยู่ในระดับ 1 ล้านคัน เช่นเดียวกับที่เราคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี และยังถือได้ว่าเป็นปีที่มียอดขายแตะระดับล้านคันเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน”

 

แต่แม้จะรักษาระดับ 1 ล้านคันได้ก็จริง จากการประเมินของ Toyota คาดว่าจะติดลบ 4% โดยจากตลาดรวมแบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง 387,229 คัน ลดลง 3.1%, รถเพื่อการพาณิชย์ 612,769 คัน ลดลง 4.6%, รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 496,088 ลดลง 3.0% และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 432,898 คัน ลดลง 3.2%

 

สำหรับครึ่งปีแรก Toyota ทำยอดขาย 171,502 คัน เพิ่มขึ้น 20.8% ครองส่วนแบ่งการตลาด 32.7% อันเป็นผลตอบรับที่ดีของรุ่น The All-New Camry รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของ Yaris และ ATIV ภาพรวมของปีนี้ได้ตั้งเป้ายอดขาย 330,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.7%

 

ในขณะที่ Mazda ยอดขายปี 2561 ทำได้ 70,475 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 37% ซึ่งเป็นการเติบโตอันดับหนึ่งของ Mazda ทั่วโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และขึ้นมาเป็นเบอร์ 6 สำหรับยอดขายทั่วโลก โดยการเติบโตนี้มาจาก Mazda 2 ที่มียอดขาย 45,972 คัน เพิ่มขึ้น 45% และยังมีรถอเนกประสงค์ CX-5 ทำยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ 8,184 คัน เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 69% สำหรับปี 2562 Mazda ตั้งเป้ามียอดขาย 75,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10%

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising