วานนี้ (21 พฤศจิกายน) ธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ภายใต้แผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องจำนวน 269 เส้นทาง ทางกรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่องนโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ซึ่งนอกจากมีการปฏิรูปในด้านการกำกับดูแลที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางใน 1 เส้นทาง ให้มีผู้ประกอบการได้เพียงรายเดียว และต้องดำเนินการตามประกาศนายทะเบียนกลางทุกด้านแล้ว จะมีการปฏิรูปในด้านโครงสร้างการประกอบการการให้ใบอนุญาต การปรับปรุงสภาพรถ กลไกสนับสนุนผู้ให้บริการและปฏิรูปเส้นทางที่ให้บริการ รวมทั้งเปลี่ยนหมายเลขชื่อสายด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดรูปแบบเลขสายรถใหม่ให้ตรงตามความต้องการประชาชน และมีระบบการจัดระเบียบหมายเลขสายรถให้มีความเหมาะสมทุกมิติ ทั้งในด้านความหมายของตัวเลขที่มีรูปแบบและนิยามในการกำหนด อีกทั้งตัวอักษรด้านหน้าหรือด้านหลังที่บ่งบอกถึงลักษณะพิเศษเฉพาะของการให้บริการ เช่น รถขึ้นทางด่วน รถที่วิ่งพิเศษ รถให้บริการในเวลากลางคืน หรือรถที่เดินทางไปสนามบิน ฯลฯ
กรมการขนส่งทางบกจึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงหมายเลขรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยการออกเสียงลงคะแนนโหวตผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Mayday ตั้งแต่วันที่ 21-28 พฤศจิกายน 2562 เพื่อให้มีความสอดคล้องและตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ
โดยภายหลังจากได้ข้อสรุปรูปแบบการกำหนดหมายเลขสายรถแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง พิจารณาและนำชื่อเลขสายรถ ชื่อเส้นทางใช้ ในระบบการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเขต กทม. และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง 269 เส้นทางต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธานีกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและส่งเสริมความปลอดภัยในทุกมิติการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องจำนวน 269 เส้นทาง กรมการขนส่งทางบกคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องทุกด้าน
เช่น มาตรฐานตัวรถที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัย ด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งระบบ GPS เพื่อการติดตามรถและพฤติกรรมการขับขี่ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการนำระบบตั๋วร่วม E-Ticket มาใช้ในการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร รองรับบัตรสวัสดิการของรัฐ
ส่วนโครงสร้างตัวรถมีการออกแบบตัวรถในลักษณะรองรับสังคมผู้สูงวัย Universal Design รองรับการเป็น Intelligent System สามารถตรวจสอบการเดินรถผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และต่อยอดการพัฒนาป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ลดทับซ้อนเส้นทาง และช่วยลดระยะเวลาเดินทาง ครอบคลุมทั่วถึงกับการพัฒนาเมืองเชื่อมต่อกับทุกโหมดการเดินทาง ทั้งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองและประชากรในอนาคต
สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดรูปแบบสายรถเมล์ ใน กทม. เพื่อให้การกำหนดรูปแบบสายรถมีความเหมาะสมในทุกมิติ สามารถติดตามได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘Mayday’ หรือคลิกที่นี่
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล