วันที่ 12 มกราคม 2025 เวลา 20.38 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดาวอังคาร อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดสำหรับการสังเกตด้วยตาเปล่า
เนื่องจากดาวอังคารและโลกต่างโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะวงรีเล็กน้อย ทำให้มีช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ทั้งสองจะอยู่ใกล้กันและห่างกันที่สุดในแต่ละคาบการโคจร โดยปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกจะเกิดขึ้นทุกๆ 25 เดือน หรือช่วงเวลาประมาณ 2 ปีเศษ
สำหรับวันที่ 12 มกราคม ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกไป 96,084,099 กิโลเมตร ก่อนค่อยๆ โคจรเข้าสู่ตำแหน่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือเรียกว่าจุด Opposition ซึ่งหมายถึงการเรียงตัวในแนวเส้นตรงของดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร ในวันที่ 16 มกราคมของปีเดียวกัน
ในช่วงเวลาดังกล่าว ดาวอังคารจะมีค่าความสว่างที่แมกนิจูดระดับ -1.38 (ยิ่งตัวเลขน้อยแปลว่ายิ่งสว่าง) เป็นดาวเคราะห์สว่างอันดับสาม ตามหลังดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี โดยจะเห็นเป็นดาวสีแดงเล็กๆ บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในช่วงค่ำ ก่อนตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงเช้ามืด
หลังจากนี้ดาวอังคารจะค่อยๆ โคจรไปสู่ตำแหน่งไกลโลกที่สุดในวันที่ 9 มกราคม 2026 ที่ระยะห่างประมาณ 359 ล้านกิโลเมตร และกลับมาสู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดอีกครั้งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2027 ที่ระยะห่างประมาณ 101 ล้านกิโลเมตร
โดยปกติแล้วจะมีภารกิจสำรวจดาวอังคารออกเดินทางในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเข้ามาใกล้โลกที่สุด เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการนำส่งได้ อย่างไรก็ตาม ภารกิจศึกษาสภาพอวกาศในวงโคจรรอบดาวอังคารของ NASA อย่าง EscaPADE ได้ถูกเลื่อนการนำส่งจากช่วงปลายปี 2024 ออกไปเป็นช่วงกลางปี 2025 แทน
ภาพ: NASA / JPL
อ้างอิง: