วันนี้ (24 กันยายน) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ โดยใจความระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
ทั้งนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้บังคับในอีก 120 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือในวันที่ 22 มกราคม 2568 ซึ่งระหว่างที่กฎหมายใหม่ยังไม่มีผลใช้บังคับ การสมรสยังจำกัดอยู่ที่เพศชายและหญิงตามกฎหมายเดิม
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ. นี้
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่น ให้การหมั้นและการสมรสระหว่างบุคคลต่อบุคคล ไม่จำกัดแค่เพศชายและหญิง, ปรับอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี หากอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้รับบุตรบุญธรรม, คนไทยสามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติโดยใช้กฎหมายของไทยได้, คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และมีสิทธิได้รับมรดกหากคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต
อ่านเนื้อหากฎหมายทั้งฉบับได้ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/36482.pdf