×

สรุปประเด็นคำถามและข้อถกเถียงกรณี #สมรสเท่าเทียม หลังศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยฉบับเต็ม

03.12.2021
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม กรณีวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้คนที่มีเพศเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย หลายคนที่สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศแสดงความคิดเห็นต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ส่วนหนึ่งมองว่า คำวินิจฉัยของศาลนั้นมีปัญหาและมีทัศนคติที่อาจเหยียดเพศ นำมาสู่แฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ ในโลกโซเชียลมีเดีย ขณะที่อีกหลายคนตั้งคำถามต่อการตีความและตัวบทกฎหมายที่อาจล้าหลังในไทย

 

  • กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้มีคำสั่งรับจดทะเบียนสมรสเนื่องจากผู้ร้องทั้งสองเป็นคู่ชีวิตที่มีเพศสภาพเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และใช้ชีวิตด้วยกันมากว่าสิบปี

 

  • ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยสาระสำคัญของคำวินิจฉัยนั้นมีประเด็นที่ระบุว่า การสมรสหมายถึงการมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ ทั้งการแต่งงานในประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากจารีตและประเพณีที่สืบทอดกันว่าการสมรสกระทำนั้นเฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ตลอดจนการสร้างครอบครัวระหว่างชายกับหญิงนั้นทำให้ทั้งสองมีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ และส่งต่อความผูกพันระหว่างเครือญาติ ซึ่งการสมรสระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนตามที่ว่าได้ เป็นต้น และได้แนะนำให้มีการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่อีกฉบับ เพื่อรับรองสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลาย

 

  • หลายคนที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศจึงรู้สึกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณี #สมรสเท่าเทียม นั้นน่าผิดหวังอย่างมาก ทำให้เกิดแฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ โดยมีการแสดงความเห็นแย้งและตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่า หากศาลระบุว่าสมรสหมายถึงการมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ ดังนั้นแล้วผู้ชายหรือผู้หญิงที่แต่งงานกันแล้วเป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้ จะยังสมรสกันได้หรือไม่ หรือชายหญิงที่ใช้ชีวิตด้วยกันแต่ไม่อยากมีบุตรสืบทายาท จะสมรสได้หรือไม่ ตลอดจนหากสมรสกันแล้วแต่ยังมีความปรารถนาไม่อยากมีลูก จะถือว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุหรือเปล่า

 

  • รวมทั้งกรณีนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามต่อระหว่างบรรทัดของคำวินิจฉัยว่า ศาลอาจกำลังมองประชากรเป็นแค่เครื่องมือในการผลิตมนุษย์ หรือผู้หญิงจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อต้องตั้งครรภ์และมีบุตรเพื่อสืบพันธุ์ สร้างครอบครัวได้เท่านั้น

 

  • นอกจากนี้ ข้อความตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยก็ชี้ว่า มนุษย์ก็ต้องสืบพันธุ์เช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นๆ ที่มีเพศผู้และเพศเมีย ดังตอนหนึ่งที่ระบุว่า “มนุษย์ก็เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่ไม่อาจฝืนธรรมชาติเช่นนี้ได้ แต่หากวิทยาการก้าวหน้าจนมีการค้นพบรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าสัตว์โลกบางประเภทมีพฤติกรรม หรือลักษณะทางชีวะแปลกแยกออกไป ก็จัดให้เป็นกลุ่มต่างหากเพื่อแยกศึกษาต่อไป” หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตและมีคำถามว่า กำลังเกิดกรณีเทียบเคียงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นเสมือนสปีชีส์ใหม่ที่รอการค้นพบ ซึ่งเป็นมุมมองที่ล้าหลังและขาดความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง

 

  • ขณะที่อีกหลายคนตั้งคำถามต่อท่าทีของรัฐไทย ซึ่งที่ผ่านมาใช้ความหลากหลายทางเพศเป็นหัวข้อในการดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่กลับไม่อาจมอบความเท่าเทียมในการใช้ชีวิตให้แก่บุคคลในกลุ่มนี้ได้ หรืออีกหลายคนก็ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกซีรีส์วายหรือชายรักชายเป็นจำนวนมาก แต่ละปีมีซีรีส์ดังกล่าวออกฉายทั้งในไทยและต่างประเทศจำนวนหลายสิบเรื่อง แต่กลับยังไม่สามารถผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ นับเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่ง

 

  • ในเวลาต่อมา มีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าลงชื่อในเว็บไซต์ https://www.support1448.org เพื่อยื่นเรื่องแก้ไขกฎหมายมาตรา 1448 โดยเวลานี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วทั้งสิ้นกว่าสองแสนรายชื่อ

 

อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ที่ https://www.constitutionalcourt.or.th/download/ruling20-2564.pdf

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X