เกิดอะไรขึ้น:
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ZEN) เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ายอดขายสาขาเดิม (SSS) เติบโต 20-30%YoY จากธุรกิจอาหารที่ฟื้นตัว ซึ่งจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นใน 2Q64 หลังจากที่บริษัทได้มีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2564 บริษัทยังคงเน้นปรับปรุงธุรกิจร้านอาหารรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ และขยายสาขาผ่านรูปแบบแฟรนไชส์ รวมถึงยังมุ่งเน้นการจัดส่งแบบเดลิเวอรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเสริมยอดขายของบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังได้มีการปรับโครงสร้างต้นทุนในช่วง 3Q-4Q63 ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้น และทำให้จุดคุ้มทุนต่ำลง รวมถึงทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้น ZEN ปรับตัวขึ้น 5.74%MoM สู่ระดับ 12.90 บาท เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 6.20%MoM สู่ระดับ 1,589.53 จุด (ข้อมูล วันที่ 30 มีนาคม 2564)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดแนวโน้มกำไร 1Q64 ของ ZEN จะเติบโต YoY จากฐานต่ำในเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้รัฐบาลผ่อนคลายข้อจำกัดมากขึ้น และยังได้รับการสนับสนุนจากกระแสตอบรับที่ดีต่อแคมเปญบุฟเฟต์ของ ZEN Restaurant แต่แนวโน้มกำไรจะลดลง QoQ เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในเดือนมกราคม 2564 เพราะการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
มุมมองระยะยาว:
ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ZEN จึงคาดว่าจะเปิดสาขาแฟรนไชส์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจำนวน 75 สาขาภายในปี 2564 โดยส่วนใหญ่จะเปิดในเดือน 2H64 เพราะการขยายสาขาสะดุดลงในช่วงสั้นๆ จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย โดย 60 สาขาที่จะเปิดใหม่จะเป็นแบรนด์ ‘เขียง’
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2564 ของ ZEN SCBS คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2Q64 ถึง 4Q64 โดยได้รับการสนับสนุนจากยอดขายสาขาเดิมที่ฟื้นตัวดีขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรเนื่องจากความพยายามในการปรับโครงสร้างต้นทุนให้ลดลง และกลยุทธ์ในการเร่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจแฟรนไซส์ โดย SCBS คาดกำไรสุทธิปี 2564 ของ ZEN ที่ระดับ 117 ล้านบาทฟื้นตัวจากขาดทุนสุทธิ 64 ล้านบาทในปี 2563 และจากมีกำไรสุทธิ 114 ล้านบาทในปี 2562
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะยาว คือการแข่งขันในอุตสาหกรรมร้านอาหารที่รุนแรงขึ้น รวมถึงอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคที่สูงขึ้น