×

TOP รายงานกำไร 4Q64 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย เพราะกำไรสต๊อกและกำไรจากการทำประกันความเสี่ยงที่สูงกว่าคาด

17.02.2022
  • LOADING...
ไทยออยล์

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 บมจ.ไทยออยล์ (TOP) รายงานกำไรสุทธิ 4Q64 อยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท (ลดลง 32%YoY แต่เพิ่มขึ้น 147%QoQ) โดยมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนกำไร คือ GRM และปริมาณการกลั่นที่สูงขึ้น ด้วยภาวะตลาดที่ดีขึ้นหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ กำไรจากการดำเนินงานสุทธิฟื้นตัวจากขาดทุนใน 4Q63 และเพิ่มขึ้น 66%QoQ และเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี 2564 สำหรับกำไรสุทธิทั้งปี 2564 ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมากจากขาดทุน 3.3 พันล้านบาท ในปี 2563 สู่กำไร 1.26 หมื่นล้านบาท หลักๆ ได้แรงหนุนจากกำไรสต๊อกสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานสุทธิ 5.6 พันล้านบาท

 

โดยในผลประกอบการ TOP รายงานปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และอุปสงค์ในประเทศที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้ต้องเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตใน 4Q64 เพิ่มขึ้น 8%YoY และเพิ่มขึ้น 17%QoQ สูงที่สุดนับตั้งแต่ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปได้รับผลกระทบจากโควิดใน 2Q63 อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ลดลงสู่ 81% ใน 4Q64 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อ่อนแอ ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานทรงตัว 

 

ส่วนค่าการกลั่นที่ดีขึ้นช่วยชดเชยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ลดลง โดย Market GIM ของ TOP เพิ่มขึ้นสู่ 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใน 4Q64 (เพิ่มขึ้น 94%YoY, เพิ่มขึ้น 27%QoQ) จากแรงหนุน GRM ที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า QoQ สู่ 5.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้แรงหนุนจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป หลักๆ คือ น้ำมันเบนซิน และน้ำมันอากาศยาน ที่เพิ่มขึ้น 111% และ 90%QoQ ตามลำดับ ในขณะที่ GIM จากธุรกิจอะโรเมติกส์และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานลดลง 56%QoQ สู่ 1.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

เมื่อรวมกับกำไรสต๊อกที่ลดลงสู่ระดับเพียง 2.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล Accounting GIM จึงอยู่ที่ 9.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 6%QoQ แต่ยังเพิ่มขึ้น 71%YoY และยังสูงกว่าต้นทุนเงินสดของกลุ่มที่ 2.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับปี 2564 Market GIM ของ TOP ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากสู่ 5.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเพียง 2.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2563    

 

กระทบอย่างไร:

ในวันนี้ (วันที่ 17 กุมภาพันธ์) ราคาหุ้น TOP ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.95%DoD สู่ระดับ 53.25 บาท ดีกว่า SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 0.60%DoD สู่ระดับ 1,711.58 จุด 

 

มุมมองต่อผลประกอบการและการเติบโตในปี 2565:

SCBS ประเมินผลประกอบการ 4Q64 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยเกิดจากกำไรสต๊อก (2.7 พันล้านบาท) และกำไรจากการทำประกันความเสี่ยงที่สูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี ในปี 2565 คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง YoY แม้ยังไม่ถึงระดับก่อนเกิดโควิด แต่กำไรสุทธิมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง เพราะไม่มีกำไรสต๊อกจำนวนมากเหมือนปี 2564 เกิดขึ้นอีก

 

โดยกำไรปกติที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 เป็นเพราะ GRM แข็งแกร่งขึ้น จากความต้องการผลิตภัณฑ์ Middle Distillate ที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากการเดินทางทางอากาศ และความต้องการใช้น้ำมันสำหรับการขนส่งทางบกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต แทนที่ธุรกิจอะโรเมติกส์และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งจะอ่อนแอลง YoY เพราะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์แคบลง 

 

ขณะที่กำไรสุทธิปี 2565 มีแนวโน้มที่จะลดลง YoY เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุนจากกำไรสต๊อกจำนวนมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อประมาณการดังกล่าวคือ ราคาน้ำมันสูง ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่ใช้และการสูญเสียในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ถ้าราคาน้ำมันยืนอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานลดลง

 

ทั้งนี้ SCBS ประเมินราคาหุ้นเป้าหมายของ TOP ไว้ที่ 70 บาท อ้างอิง PBV 1.1 เท่า (ปี 2565) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่เล็กน้อย เพื่อสะท้อนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาใช้สนับสนุนแผนการลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ ในขณะที่ราคาหุ้น TOP ในปัจจุบันคิดเป็นอัตราส่วน PBV ที่ 1 เท่า (-1.2SD)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising