เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ผู้นำในธุรกิจการตลาดน้ำมันของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 43% (สิ้น 1Q66) โดยมีสถานีบริการน้ำมัน 2,168 แห่งทั่วประเทศ เครือข่ายการจัดจำหน่ายนี้เป็นจุดแข็งสำคัญในการขยายกลุ่มธุรกิจ Lifestyle (Non-Oil) โดยเฉพาะธุรกิจ F&B ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อน EBITDA Margin โดยรวมในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 3% ของรายได้รวม โดยมีสาเหตุมาจากฐานสูงของธุรกิจน้ำมัน (>90%) แม้ว่าสัดส่วน EBITDA อยู่ที่ >20% ในปี 2565 และ 1Q66
ปริมาณจำหน่ายน้ำมันของ OR คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6%YoY ในปี 2566 หลักๆ เกิดจากน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซิน สืบเนื่องมาจากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 25 ล้านคน ในปี 2566 หรือประมาณ 66% ของระดับก่อนเกิดโควิด (ปี 2562)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณจำหน่ายน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นจะถูกลดทอนโดยความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ลดลงจากโรงไฟฟ้า เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติลดลงค่อนข้างมากจากจุดสูงสุดในปี 2565 นอกจากนี้ยังคาดว่าปริมาณจำหน่ายน้ำมันเบนซินและน้ำมันอากาศยานที่สูงขึ้นช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นต่อลิตรปรับตัวดีขึ้นด้วย โดยมีสาเหตุมาจาก Lag Time ในการปรับราคาและการแทรกแซงที่ลดน้อยลงจากรัฐบาล
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น OR ปรับลดลง 3.74%MoM อยู่ที่ 20.60 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.31%MoM อยู่ที่ระดับ 1,535.42 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
ผลการดำเนินงานของ OR คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 หลังจากสะดุดลงในปี 2565 สืบเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่สูงผิดปกติ ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยลดแรงกดดันจากการกำหนดเพดานราคา (โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล) ของรัฐบาลและค่าการตลาดของ OR
ขณะที่คาดว่า EBITDA Margin โดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นจากค่าการตลาดที่สูงขึ้น และการบริหารต้นทุนของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ได้ดีขึ้น โดยประเมินว่ากำไรสุทธิของ OR จะเพิ่มขึ้น 31%YoY สู่ 1.36 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 โดยอิงกับกำไรขั้นต้นตามหลักความระมัดระวังที่ 1 บาทต่อลิตร เทียบกับ 0.98 บาท ในปี 2565 และค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 0.97 บาท
ส่วน 2Q66 คาดว่ากำไรปกติจะปรับตัวดีขึ้น QoQ จากค่าการตลาดที่ดีขึ้น แม้ว่าปริมาณจำหน่ายจะลดลงจากผลกระทบฤดูกาล
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนมองว่าตลาดมีมุมมองเชิงลบต่อ OR มากเกินไป เมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นที่ลดลง 11%YTD แย่กว่า SET ที่ลดลง 8% ทั้งๆ ที่กำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
โดยให้เรตติ้ง OUTPERFORM ด้วยราคาเป้าหมาย 27 บาต่อหุ้น อ้างอิง EV/EBITDA ที่ 14 เท่า อ้างอิงกับ EV/EBITDA (ปี 2566) ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของธุรกิจค้าปลีกในตลาดไทย หรือเทียบเท่ากับ P/E (ปี 2566) ที่ 23.6 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 2564-2565 ที่ 29 เท่าเล็กน้อย และ PBV 2.9 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2564-2565 ที่ 3.2 เท่า ทั้งนี้ ให้ EV/EBITDA เป้าหมายสำหรับ OR สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจการตลาดน้ำมัน เพื่อสะท้อนความเป็นผู้นำในตลาดของบริษัท
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันและผลิตภัณฑ์ Non-Oil ของ OR ในขณะที่ความผันผวนของราคาน้ำมันอาจทำให้ขาดทุนสต๊อกมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คือการแทรกแซงของรัฐบาลในการกำหนดเพดานราคาขายปลีกน้ำมัน (โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล) การแข่งขันที่สูงขึ้น และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นซึ่งไม่สามารถส่งผ่านได้