เกิดอะไรขึ้น:
วันศุกร์ที่ผ่านมา (8 พฤศจิกายน) กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมบ้านจัดสรร ร่วมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ ‘บ้านในฝัน รับปีใหม่’ เพื่อหวังกระตุ้นยอดซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปีนี้ พร้อมดึงผู้ประกอบการรายย่อยเข้าร่วมในแคมเปญนี้ด้วย โดยแคมเปญนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ (11 พฤศจิกายน) ถึง 31 ธันวาคม 2562 ภายใต้สโลแกน ‘ซื้อปุ๊บ รับทันที 3 สิทธิพิเศษ’ ได้แก่
1. เงินกู้จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 40 ปี โดยมีดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ภายใน 3 ปีแรก สำหรับปีที่ 4-5 ดอกเบี้ยคงที่ 4.625% และปีที่ 6 จนตลอดอายุสัญญากู้ ดอกเบี้ย MRR-0.75% สำหรับลูกค้ารายย่อย และ MRR -1% สำหรับลูกค้าสวัสดิการ
2. ฟรีค่าโอนและค่าจดจำนอง โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะเป็นผู้ชำระเงินในส่วนนี้เองทั้งหมดแทนผู้ซื้อที่อัตรา 0.01% สำหรับบ้านมูลค่าไม่เกิน 3 ล้าน
3. โปรโมชันลดแลกแจกแถมอื่นๆ จากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้กระทรวงการคลังคาดหวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยให้ประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีอยู่อาศัยเป็นของตนเองด้วยภาระการผ่อนชำระที่น้อย รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถระบายสต๊อกได้ นอกจากนี้ ธอส. ได้เปิดว่า ตั้งแต่ 24 ตุลาคม ถึง 10 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ยื่นคำขอกู้แล้ว 4,980 ราย วงเงินกู้กว่า 1.03 หมื่นล้านบาท
กระทบอย่างไร:
ด้วยภาวะตลาดหุ้นโดยรวมที่ไม่เอื้ออำนวยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว (8 พฤศจิกายน) ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ได้ตอบสนองในเชิงบวกต่อประเด็นนี้มากนัก และเช้าวันนี้ (11 พฤศจิกายน) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงแรง กดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยปรับลงตามไปด้วย อาทิ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ปรับลดลง 1.2% DoD, บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ปรับลดลง 1.5% DoD ส่วน บมจ.ศุภาลัย (SPALI) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) และ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ราคาหุ้นทรงตัวจากราคาปิดวันก่อนหน้า
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดโครงการนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทได้ เนื่องจากมี ธอส. เข้ามาสนับสนุนในการให้วงเงินสินเชื่อ พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งทำให้ผู้กู้มีภาระการผ่อนที่ต่ำ
มุมมองระยะยาว:
แม้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐต่างๆ มาช่วย แต่อาจไม่ได้ส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการมากนัก เนื่องจากยังมีมาตรการที่เข้มงวด โดยเฉพาะการคุมเข้มสินเชื่อและเกณฑ์ LTV ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่งผลให้มีการปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนอาจมีมากขึ้น แต่ก็ต้องเฝ้าระวังตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมาตรการเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาฯ และส่งผลให้สถาบันการเงินยังคงปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อในระดับสูงอยู่
ข้อมูลพื้นฐาน:
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อยู่ที่ 6.5% ต่อปี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า