เกิดอะไรขึ้น:
วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เผยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจระงับให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้านำเข้าจากไทย เนื่องจากไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากดขี่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้เพียงพอ โดยการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรครั้งนี้กระทบต่อสินค้ากว่า 573 รายการ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิพิเศษ
โดยรายการสินค้าไทยที่ถูกระงับสิทธิทางภาษี ได้แก่ อาหารทะเล, ผักผลไม้, เมล็ดพันธุ์, น้ำเชื่อมและน้ำตาล, ซอสถั่วเหลือง, น้ำผักและน้ำผลไม้, รวมถึงอุปกรณ์เครื่องครัว, ประตูหน้าต่าง, ไม้อั,ด ไม้แปรรูป, ตะกร้าดอกไม้ประดิษฐ์, จานชาม, เครื่องประดับ, เหล็กแผ่น และสเตนเลส คิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการระงับสิทธิดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563
ทั้งนี้บริษัทผู้ส่งออกสินค้าบางรายออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การระงับสิทธิ GSP ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทมากนัก เช่น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เนื่องจากสินค้าบางรายการของบริษัทไม่ได้รับสิทธิ GSP อยู่แล้ว รวมถึงบริษัทได้มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ เช่น ส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป และเอเชีย นอกจากนี้บางบริษัทยังมีฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว จึงทำให้ได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น บมจ. อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG)
ล่าสุดวันนี้ (28 ตุลาคม) กระทรวงพาณิชย์เผยว่าการระงับสิทธิ GSP ดังกล่าว ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจริงประมาณ 1.5 พันล้านบาท ถึง 1.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องชำระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 4.5% โดยสินค้าที่เสียภาษีมากที่สุดคือ กลุ่มภาชนะเซรามิก ที่อัตรา 26% ขณะที่สินค้าที่เสียภาษีน้อยที่สุดคือ เคมีภัณฑ์ ที่อัตรา 0.1%
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังเผยว่าจะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องขอคืนสิทธิ GSP โดยเร็ว และยืนยันว่าจะไม่ตอบโต้ทางการค้า โดยคาดว่าจะเริ่มเจรจาในระหว่างประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้แนะนำผู้ประกอบการหาตลาดอื่นเพื่อทดแทนตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่มีศักยภาพในการเติบทางเศรษฐกิจสูง เช่น ตะวันออกกลาง, ยุโรปตะวันออก, อเมริกา และรัสเซีย รวมถึงแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ชิลี และเปรู เป็นต้น
กระทบอย่างไร:
วันนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) เปิดตลาดช่วงเช้าลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1579.13 จุด จากวันก่อนหน้าที่ 1593.28 จุด ลดลง 14.15 จุด หรือลดลง 0.89% DoD ก่อนจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาหนุนดัชนีปรับขึ้นสู่แดนบวก และปิดการซื้อขายภาคเช้าที่ระดับ 1593.79 จุด เพิ่มขึ้น 0.51 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.03% DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าการระงับสิทธิ GSP ดังกล่าวเป็นเพียง Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยหุ้นกลุ่มดังกล่าวมี Market cap. ไม่มากนัก จึงคาดมีผลกระทบต่อการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยอย่างจำกัด
มุมมองระยะยาว:
ติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยต่อการระงับสิทธิ GSP ดังกล่าว ซึ่ง SCBS เชื่อว่าไทยยังมีเวลาพอที่จะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เนื่องจากจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากไทยถูกตัดสิทธิจริง คาดกระทบต่อการส่งออกอย่างจำกัด เนื่องจากมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแช่แข็งอยู่ที่ราว 2.3% ของการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ และคิดเป็นเพียง 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ไทย ยังเตรียมมาตรการรองรับและหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบไว้แล้ว ขณะที่หุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออกอาหารนั้นมองว่าไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการมีความสามารถในการปรับตัวและมองหาตลาดใหม่เช่นกัน แต่ทิศทางเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบกว่า 6 ปี รวมทั้งแนวโน้มอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาและติดตามอย่างใกล้ชิดมากกว่า
ข้อมูลพื้นฐาน:
GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preferences คือ ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป ที่ประเทศพัฒนาแล้วมอบให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้า เพื่อให้เสียภาษีนำเข้าน้อยลง เพื่อแข่งขันกับสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วได้ โดยประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษ จะเป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ (Unilateral) ซึ่งไทยเราได้รับสิทธิ GSP จากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหภาพยุโรป, รัสเซีย, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ตุรกี และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น ที่ผ่านมาเคยมีการยกเลิกการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่างๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ แต่เมื่อประเทศที่ถูกยกเลิก GSP มีการปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สิทธิ GSP กลับคืนมา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์