เกิดอะไรขึ้น:
ภาพรวมผลการดำเนินงาน 3Q62 ของหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลพบว่ายังหดตัวต่อเนื่อง สาเหตุจากเม็ดเงินโฆษณาที่หดตัว และต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และแม้ภาครัฐจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบางรายคืนใบอนุญาตฯ ได้ และมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงการถูก Disruption จากสื่อออนไลน์และสื่อโซเชียลต่างๆ
ดังนั้นทางรอดของผู้ประกอบการจึงมิใช่การลดต้นทุนดังที่เห็นเท่านั้น แต่เริ่มจะเห็นการ Synergy ร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การร่วมมือกันระหว่าง บมจ. โมโน เทคโนโลยี (MONO) กับ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ที่ประกาศเป็นพันธมิตรร่วมกันเมื่อ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อผลิตคอนเทนต์เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะสร้างศิลปินใหม่ และผลิตซีรีส์ร่วมกันปีละ 6-8 เรื่อง โดยใช้นักแสดงจาก GRAMMY และ MONO รวมไปถึงการนำคอนเทนต์อย่าง ช่องโมโน 29, ช่องต่างประเทศ, พรีเมียมซีรีส์, ซีรีส์ไทย, ละครรีรัน, เพลง, คาราโอเกะ ไปอยู่ในแพลตฟอร์มของ 3BB TV รองรับกลุ่มลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 1.5 ล้านราย
นอกจากนี้ยังเห็นการรุกไปยังช่องทางอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดมากขึ้น เช่น บมจ. อาร์เอส (RS) ประกาศจับมือกับ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อต่อยอดธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (Multi-Platform Commerce: MPC) ของ RS ด้วยการเปิดช่องทางขายสินค้าใหม่ ภายใต้ชื่อ Wellness Shop ซึ่งจำหน่ายสินค้าของ RS และพันธมิตรผ่านช่อง Workpoint ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของ RS ให้เติบโตก้าวกระโดด ขณะที่ WORK เองจะได้รับส่วนแบ่ง 30% ของยอดขายสินค้าจากช่องทาง Wellness Shop
กระทบอย่างไร:
แม้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะมีการจับมือกันมากขึ้น แต่ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นสื่อทีวีดิจิทัลยังไม่ได้ตอบสนองเชิงบวก เนื่องจากนักลงทุนยังคงให้น้ำหนักผลประกอบการในระยะสั้นมากกว่า Synergy ที่คาดจะเกิดขึ้นในระยะกลาง-ยาว
โดยล่าสุดช่วงเช้าวันนี้ (14 พฤศจิกายน) ภาพรวมราคาหุ้นสื่อทีวีดิจิทัลมีดังนี้
- RS อยู่ที่ 14.70 บาท ลดลง 0.7% YTD
- MONO อยู่ที่ 1.30 บาท ลดลง 23.5% YTD
- WORK อยู่ที่ 16.70 บาท ลดลง 28.3% YTD
- ยกเว้น GRAMMY อยู่ที่ 10.20 บาท เพิ่มขึ้น 70% YTD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าการร่วมมือกันระหว่าง MONO กับ GRAMMY เป็นการนำจุดแข็งที่มีคนละด้านมาช่วยกันต่อยอดธุรกิจให้ยังอยู่รอดได้ กล่าวคือ GRAMMY มีจุดแข็งที่ผลิตคอนเทนต์ได้หลากหลาย มีศิลปินที่ได้รับความนิยมทุกยุคทุกสมัย ขณะที่ MONO ซึ่งมีจุดเด่นด้านมีคลังคอนเทนต์หนังดังจากต่างประเทศ คาดได้ประโยชน์จากมี GRAMMY มาช่วยเติมเต็มคลังคอนเทนต์ไทยที่ยังขาดไปเพื่อขยายฐานผู้ชมได้มากขึ้น
ขณะที่ความร่วมมือกันระหว่าง RS และ WORK นั้น มองว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองบริษัท เนื่องจากธุรกิจ MPC ของ RS ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก และมีอัตรากำไรสุทธิดีกว่าธุรกิจสื่อ ดังนั้นการขยายฐานลูกค้าและช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทำให้ RS มีฐานข้อมูล Big Data ของลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น ส่งผลให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า ช่วยให้ทำการตลาดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนนำไปต่อยอดคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ของธุรกิจ MPC ได้ ส่วน WORK จะมีรายได้เพิ่มจากการนำแพลตฟอร์มช่อง Workpoint TV ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นค่าออกอากาศ แต่จะได้รับส่วนแบ่ง 30% ของยอดขายสินค้าจากช่องทาง Wellness Shop หนุนรายได้ให้มีความมั่นคงมากขึ้น
มุมมองระยะยาว:
แม้ SCBS มีมุมมองเชิงบวกต่อกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสื่อทีวีฯ มีแนวโน้มเปลี่ยนจาก ‘คู่แข่งหรือศัตรู’ มาเป็น ‘พันธมิตร’ กันมากขึ้น โดยคาดหวังว่าการร่วมมือกันจะทำให้บริษัทเติบโตหรืออยู่รอดในธุรกิจได้ยาวนานกว่าอยู่ตัวคนเดียว รวมถึงยังเป็นการผนึกกำลังเพื่อต่อสู้กับปัญหา Digital Disruption
แต่ระยะยาวคาดภาพรวมอุตสาหกรรมทีวียังเติบโตได้จำกัด เพราะพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไป และความต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ยังทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลไปในสื่อนอกบ้านและสื่อออนไลน์ จึงต้องติดตามว่าแผนในระยะยาวผู้ประกอบการจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร
ข้อมูลพื้นฐาน:
บมจ. โมโน เทคโนโลยี (MONO) ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศและขายโฆษณาในสถานีโทรทัศน์ของบริษัท ซึ่งออกอากาศในระบบดิจิทัล
บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ดำเนินธุรกิจบันเทิงครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจเพลง ธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง และร่วมลงทุนในธุรกิจอื่น
บมจ. อาร์เอส (RS) ประกอบธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (Multi-Platform Commerce: MPC), ธุรกิจสื่อโทรทัศน์-สื่อวิทยุ และธุรกิจเพลงครบวงจร
บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ดำเนินธุรกิจรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ช่องทางออนไลน์ และการจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ ธุรกิจการรับจ้างจัดงานกิจกรรมแบบครบวงจร ธุรกิจละครเวทีและคอนเสิร์ต และธุรกิจขายสินค้าและบริการ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์