×

บอร์ด รฟม. เตรียมพิจารณาลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงช่วงนอกเวลาเร่งด่วน

โดย SCB WEALTH
18.11.2019
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

วานนี้ (17 พฤศจิกายน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพผู้โดยสาร และเพื่อเป็นการจูงใจให้คนใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางมากขึ้น และจะนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) ในวันพรุ่งนี้ (19 พฤศจิกายน) โดยจะนำร่องใน 2 มาตรการก่อน คือ 

 

1) เปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง โดยคิดอัตราค่าโดยสารต่อเที่ยวถูกลง และ 

 

2) ให้ลดอัตราค่าโดยสารสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ระหว่างเวลา 09.00-15.30 น. และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบนั้น กรมการขนส่งทางราง กำลังพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญา บนพื้นฐานให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

 

กระทบอย่างไร:

เช้าวันนี้ (18 พฤศจิกายน) ราคาหุ้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาปิดวันก่อนหน้า อยู่ที่ 10.80 บาท โดยราคาหุ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ แกว่งอยู่ในกรอบ 10.70-11.00 บาท

 

มุมมองระยะสั้น: 

SCBS ประเมินว่า การลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงลงนั้น จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของ BEM เนื่องจากลักษณะสัญญาเป็นการร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost โดย รฟม. เป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสารและรายได้เชิงพาณิชย์ ขณะที่ BEM ได้รายได้จากการเป็นผู้รับจ้างบริหารเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง

 

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น ลักษณะสัญญาเป็น PPP Net Cost โดย BEM มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสารและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ รฟม.ตามอัตราที่ระบุไว้สัญญาสัมปทาน ซึ่ง SCBS ประเมินว่าการลดอัตราค่าโดยสารสายสีน้ำเงินนั้นมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ BEM ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการที่ค่าโดยสารใกล้เคียงกับค่ารถโดยสารประจำทางจะช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลง นอกจากนี้ยังอาจจะได้อานิสงส์จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากสายสีม่วงส่งต่อมายังสายสีน้ำเงินมากขึ้นอีกด้วย

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาวต้องติดตามการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมไทย) ซึ่งคาดมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย ได้แก่ BTS และ BEM หาก BEM เป็นผู้ชนะงานประมูลจะหนุนต่อผลการดำเนินงาน และเป็น Upside ต่อราคาหุ้น รวมถึงติดตามการขยายสัมปทานทางด่วนซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในตอนนี้

 

ข้อมูลพื้นฐาน:

บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ดำเนินธุรกิจ 2 ธุรกิจ ได้แก่

1. ธุรกิจทางพิเศษ โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการก่อสร้างและบริหารรวม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.1 ทางพิเศษศรีรัช

1.2 ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

1.3 ทางพิเศษอุดรรัถยา

2. ธุรกิจระบบราง โดยบริษัทเป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2 โครงการ ได้แก่

2.1 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)

2.2 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising