เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (6 มกราคม) คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยผลการเจรจาระหว่าง กทพ. และ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ข้อสรุปร่วมกันในการยุติข้อพิพาท 17 คดี รวมมูลค่าเสียหาย 5.8 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีการลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) พร้อมขยายการต่อสัมปทานทางด่วนส่วน A B และ C 15 ปี 8 เดือน สำหรับส่วน D จะขยายสัมปทานออกไปอีก 8 ปี 6 เดือน และสำหรับส่วน C+ จะขยายสัมปทานออกไปอีก 9 ปี 1 เดือน ซึ่งสัมปทานทุกสัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578
นอกจากนี้ BEM ยังต้องให้บริการฟรีในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ของไทยประมาณ 20 วันต่อปี และค่าทางด่วนจะปรับขึ้น 10 บาทต่อเที่ยว ทุก 10 ปี
สำหรับแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ กทพ. จะต้องทำงานคู่ขนานกันใน 2 ส่วน คือ
1. เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา โดยเบื้องต้นคาดว่า จะเสนอให้พิจารณาภายในสัปดาห์นี้
2. เสนอสัญญาส่วนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท ให้อัยการสูงสุดพิจารณา หากทั้งสองส่วนเห็นชอบ จึงจะเสนอเรื่องกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณา ซึ่งคาดว่า จะเสนอ ครม. พิจารณาได้ในวันที่ 28 มกราคมนี้
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (7 มกราคม) ราคาหุ้น BEM เปิดการซื้อขายที่ 11.00 บาท จากราคาปิดวันก่อนหน้า 10.90 บาท และขึ้นไปทำจุดสูงสุดในช่วงเช้าที่ 11.10 บาท เพิ่มขึ้น 1.83%DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อราคาหุ้นมากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดได้รับรู้ประเด็นนี้แล้ว ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2563 SCBS ประเมินว่า จะเป็นปีทองของ BEM จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี หลังเปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทั้งยังได้อานิสงส์เพิ่มเติมจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณาและพื้นที่ค้าปลีกผ่านทางอัตราค่าโฆษณาและอัตราค่าเช่าที่สูงขึ้น หนุนให้กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
มุมมองระยะยาว:
จับตาประเด็นการประมูลสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จำเป็นต้องเลื่อนการประมูลออกไปเป็นกลางปี 2563 (กำหนดการเดิมคือต้นปี 2563) เนื่องจากต้องทบทวนรูปแบบและแบ่งสัญญาการประมูลโครงการก่อน
สำหรับผู้เข้าร่วมประมูล SCBS คาดว่า มี 2 ราย ได้แก่ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รวมถึงติดตามการประมูลสัมปทานเดินรถสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งจะหนุนผลการดำเนินงานของ BEM ได้ในระยะยาว
ข้อมูลพื้นฐาน:
บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ดำเนินธุรกิจ 2 ธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจทางพิเศษ โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการก่อสร้างและบริหารรวม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
1.1 ทางพิเศษศรีรัช
1.2 ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
1.3 ทางพิเศษอุดรรัถยา
2. ธุรกิจระบบราง โดยบริษัทเป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2 โครงการ ได้แก่
2.1 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)
2.2 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)