×

‘BEM’ คาดผลประกอบการปีนี้ใกล้เคียงปี 2563 อานิสงส์โควิดคลี่คลาย ดันปริมาณจราจรและจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม

04.03.2022
  • LOADING...
‘BEM’ คาดผลประกอบการปีนี้ใกล้เคียงปี 2563 อานิสงส์โควิดคลี่คลาย ดันปริมาณจราจรและจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม

BEM คาดการณ์ผลประกอบการปีนี้ใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีรายได้ 1.43 หมื่นล้านบาท และมีกำไร 2 พันล้นบาท เนื่องจากปริมาณจราจรที่ใช้ทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เดินหน้าลงทุนในโครงการทางด่วน มอเตอร์ และรถไฟฟ้าต่อเนื่อง เพื่อสร้าง New S-Curve หนุนการเติบโตระยะยาว 

 

ธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส นักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 น่าจะดีกว่าปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิที่ 1,010 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้สูงที่จะใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 14,316 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,051 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่ฟื้นตัวขึ้น แม้จะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ก็ตาม แต่น่าจะไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์แล้ว รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะกลับมาคึกคักขึ้น

 

ทั้งนี้ เฉพาะในเดือนมกราคม 2565 ปริมาณจราจรบนทางด่วนขึ้นมาระดับ 9.4 แสนคัน สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในปีที่แล้วที่อยู่ที่ 8.5 แสนคัน จึงคาดว่าภาพรวมทั้งปี 2565 ปริมาณจราจรน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคัน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 1.05 ล้านคัน

 

สำหรับจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า (Ridership) ปีนี้ คาดว่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 2 แสนคน/วัน โดยในเดือนมกราคมปีนี้ มีจำนวนผู้โดยสารที่ 1.74 แสนคน/วัน จากปีก่อนจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 1.5 แสนคน/วัน ขณะที่ปี 2563 มี Ridership เฉลี่ย 2.6 แสนคน/วัน 

 

นอกจากนี้การเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่กำลังจะเปิดดำเนินการภายในปีนี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง รวมถึงการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ก็ช่วยหนุนจำนวนผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ในส่วนของการลงทุนปีนี้ BEM เตรียมเข้าลงทุนโครงการใหม่ที่เป็นโครงการของภาครัฐในลักษณะร่วมลงทุน เพื่อสร้าง New S-Curve หนุนการเติบโตในอนาคต โดยกำลังศึกษาแผนลงทุน ประกอบด้วย

  1. โครงการทางด่วน Double Deck หรือทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 14.7 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 31,500 ล้านบาท ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างศึกษาโครงการและเตรียมทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
  2. โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางที่มีส่วนเชื่อมต่อทางด่วนของบริษัท ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ปากท่อ (M8) เฟสแรก ระยะทาง 63 กิโลเมตร มูลค่า 51,760 ล้านบาท, โครงการมอเตอร์เวย์วงแหวนตะวันออก (บางขุนเทียน-บางบัวทอง) (M9) ระยะทาง 36 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 56,035 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 19 กิโลเมตร มูลค่า 29,500 ล้านบาท โดยคาดว่ากรมทางหลวงน่าจะออกประมูลในปี 2566 ซึ่งรูปแบบการลงทุน PPP อาจเป็นแบบ Net Cost ที่ให้เอกชนก่อสร้างและบริหารโครงการ หรือเป็นแบบ Gross Cost ที่ให้เอกชนบริหารอย่างเดียว

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ซึ่งคาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดประมูลในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งขณะนี้ได้ผู้รับเหมางานโยธาแล้ว คาดว่าหลังจากนี้ รฟม. จะเจรจากับ BEM ในการบริหารการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนืออยู่

 

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นงานใหญ่ ต้องมีความพร้อมทั้งด้านการก่อสร้าง การบริหาร และด้านการเงิน ฯลฯ ซึ่ง BEM เป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK) มั่นใจว่ามีความสามารถในการดำเนินการ” ธนาวัฒน์กล่าว 

 

สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2564 BEM มีกำไรสุทธิ 1,010.1 ล้านบาท ลดลง 50.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,051.1 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 และกลับมารุนแรงเป็นระลอกอีกครั้งในปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อกิจกรรมการเดินทาง เป็นผลให้ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลง แต่ปริมาณการเดินทางฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐ อัตราการฟื้นตัวของปริมาณผู้ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้า

 

บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 10,726 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 20.5% จากผลกระทบโควิด โดยรายได้ค่าผ่านทางลดลง 1,695 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารและรับจ้างเดินรถลดลง 1,066 ล้านบาท และรายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์ลดลง 3 ล้านบาท ในส่วนของรายได้อื่นมีจำนวน 755 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 9.4% จากการลดลงของดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ รฟม. ที่มีการทยอยชำระคืนเงินต้นตามสัญญา

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 อัตรา 0.08 บาท/หุ้น กำหนดวันที่ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) วันที่ 8 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่าย วันที่ 27 เมษายน 2565

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising