×

BEM ราคาหุ้นร่วงหลังได้เงื่อนไขต่ออายุสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ต่ำกว่าตลาดคาด

โดย SCB WEALTH
25.12.2019
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ข้อยุติข้อพิพาทจากการเจรจากับ BEM โดยเสนอให้มีการต่อสัมปทานทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทกว่า 17 คดี มูลค่าข้อพิพาท 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งได้เจรจายุติที่ 5.88 หมื่นล้านบาท ขณะที่ BEM จะไม่มีการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck เพราะไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท จึงจะนำเอามาเจรจาร่วมไม่ได้

 

สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ กระทรวงคมนาคม โดย กทพ. ไปเจรจาข้อพิพาททางด่วนกับ BEM ให้ได้ข้อยุติอย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นจะนำเสนอผลการเจรจาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป

 

กระทบอย่างไร:

วันที่ 23 ธันวาคม ราคาหุ้น BEM ปรับลดลง 1.77%DoD ก่อนจะปิดที่ 11.10 บาท พร้อมมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น ขณะที่วันที่ 24 ธันวาคม ราคาหุ้น BEM ปรับตัวลงไปทำจุดต่ำสุดระหว่างวันที่ 10.70 บาท ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาปิดที่ 11.00 บาท ลดลง 0.90%DoD

 

มุมมองระยะสั้น:

การที่ราคาหุ้น BEM ปรับลดมาในช่วง 2 วันทำการก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาดคาดว่า BEM จะได้ต่ออายุสัมปทานเป็นระยะเวลา 30 ปี พร้อมก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ซึ่งจะช่วยหนุนผลประกอบการในระยะยาวได้มากกว่าการต่อสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน โดยไม่ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 

 

อย่างไรก็ดี SCBS ประเมินว่า แม้ BEM จะได้ต่ออายุสัมปทานทางด่วนเพียง 15 ปี 8 เดือน ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ BEM อย่างมีนัยสำคัญและไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เนื่องจาก BEM ยังมีรายได้อื่นจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานยังคงสม่ำเสมอและมีเสถียรภาพ อีกทั้งในเชิงราคาเป้าหมายระหว่างการต่อสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน กับ 30 ปี พร้อมก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 นั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาวยังคงต้องติดตามการประมูลสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยว่าจำเป็นต้องเลื่อนการประมูลออกไปเป็นกลางปี 2563 (กำหนดการเดิมคือต้นปี 2563) เนื่องจากต้องทบทวนรูปแบบและแบ่งสัญญาการประมูลโครงการก่อน สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลคาดว่ามี 2 ราย ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ดำเนินธุรกิจ 2 ธุรกิจ ได้แก่

1. ธุรกิจทางพิเศษ โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการก่อสร้างและบริหารรวม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.1 ทางพิเศษศรีรัช

1.2 ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

1.3 ทางพิเศษอุดรรัถยา

 

2. ธุรกิจระบบราง โดยบริษัทเป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2 โครงการ ได้แก่

2.1 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)

2.2 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X