×

หุ้นกลุ่มยานยนต์ – ยอดจองรถเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความท้าทาย

14.12.2024
  • LOADING...
automotive-stocks-car-sales

เกิดอะไรขึ้น:

 

งาน Motor Expo ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2567 มียอดจองรถประเภท 4 ล้อรวมทั้งหมด 54,634 คัน เพิ่มขึ้น 0.6% จากปีก่อน เมื่อแยกตามประเภทรถพบว่ายอดจองรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) อยู่ที่ 32,070 คัน คิดเป็น 59% ของยอดจองรถทั้งหมด เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน 

 

ในขณะที่ยอดจองรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% (BEV) อยู่ที่ 22,564 คัน คิดเป็น 41% ของยอดจองรถทั้งหมด เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน การเพิ่มขึ้นของยอดจองรถ BEV เป็นผลมาจากราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นและตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากแบรนด์จีน

 

สำหรับช่วง 10M67 ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ 1.24 ล้านคัน ลดลง 19%YoY หลักๆ เป็นผลมาจากตลาดรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัว โดยลดลง 26%YoY ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ (ลดลง 38%YoY) สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ 

 

ทั้งนี้ แม้ยอดจองรถที่งาน Motor Expo จะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลที่ InnovestX Research รวบรวมบ่งชี้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loans: SML) เพิ่มขึ้นในกลุ่มยานยนต์ คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อ (HP) เสื่อมถอยลง และเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เข้มงวดขึ้น ราคารถมือสองที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงบ่งชี้ถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ดังนั้นจึงไม่คิดว่าตลาดรถยนต์ในประเทศจะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

 

ด้านมาตรการแก้หนี้ชุดใหม่ที่ ธปท. เพิ่งประกาศออกมาน่าจะช่วยให้จำนวนรถถูกยึดปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้ราคารถมือสองฟื้นตัว ธนาคารอาจพิจารณาผ่อนปรนนโยบายปล่อยสินเชื่อหลังจากเห็นราคารถมือสองฟื้นตัวและการไหลเข้าของ NPL ที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะต้องใช้เวลา 

 

ทั้งนี้ ได้ติดตามดูทิศทางยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ในรอบ 12 เดือน พบว่าแนวโน้มขาลงล่าสุดอยู่ที่ 1.8 ปี เทียบกับแนวโน้มขาลงที่กินเวลา 2.4-3.6 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าแนวโน้มขาลงยังไม่สิ้นสุด ด้วยยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในช่วง 10M67 ที่อ่อนแอ จึงปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในปี 2567 ลดลงจาก 1.66 ล้านคันมาอยู่ที่ 1.51 ล้านคัน (ลดลง 18%YoY)

 

การปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV 3.0 สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยที่ชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) จึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV 3.0 ที่เดิมกำหนดให้ต้องผลิตรถ BEV เพื่อชดเชยการนำเข้า (ในปี 2565-2566) ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 ต่อ 1.5 เท่าภายในปี 2568

 

โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV 3.0 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV 3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่าภายในปี 2569 หรือ 3 เท่าภายในปี 2570) จากการประเมินภายใต้มาตรการ EV 3.0 และมาตรการ EV 3.5 รถ BEV ที่นำเข้าและจดทะเบียนในปี 2565-11M67 มีจำนวน ~120,000 คัน ซึ่งเชื่อว่าการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 2569 จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีขึ้น

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ (SETAUTO) ปรับลง 0.29% ขณะที่ SET Index ปรับลง 0.36% สู่ 1,439.89 จุด 

 

กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:

 

Underweight กลุ่มยานยนต์ InnovestX Research ยังคงมุมมองระมัดระวังต่อกลุ่มยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

 

ปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์คือภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศและคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้ซื้อรถยนต์สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยมองว่านี่จะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัว

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่งผลทำให้ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์หยุดชะงักและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

 

Cafe Invest แหล่งรวมข้อมูลการลงทุนและบทวิเคราะห์คุณภาพโดย InnovestX 🚀 คลิกเลย 👉 หุ้นกลุ่มยานยนต์ – ยอดจองรถเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความท้าทาย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X