เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเร่งตัวขึ้นจาก 3.1 ล้านคนในเดือนตุลาคม 2565 สู่ 4.4 ล้านคนในเดือนธันวาคม 2565 (55% ของระดับก่อนเกิดโควิด)
ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศจะมีโมเมนตัมที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย และความต้องการเดินทางที่ถูกอั้นไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวชาวจีนหลังจากทางการจีนประกาศว่าจีนจะเปิดพรมแดน และยกเลิกมาตรการกักตัวตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยมองพัฒนาการนี้เป็นบวก เนื่องจากจีนเริ่มเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะเกิดขึ้นใน 2Q66
อัปเดตโครงการ การบริหารท่าอากาศยาน: AOT อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียด ซึ่งรวมถึงรูปแบบผลตอบแทนที่จะจ่ายให้กับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำหรับการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ AOT คาดว่าจะเริ่มบริหารท่าอากาศยานดังกล่าวในช่วงกลางปี 2566
การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ: AOT วางแผนเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ในเดือนกันยายน 2566 เนื่องจากบริษัทเชื่อว่ากำหนดการดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่สอดรับกับการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ นอกจากนี้ AOT ก็กำลังดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ที่สาม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับเพิ่มขึ้น 1.02%MoM สู่ระดับ 74.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.93%MoM สู่ระดับ 1,673.25 จุด
กลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research คาดผลประกอบการ 1QFY66 (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) จะพลิกกลับมามีกำไร เมื่ออิงกับจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 11 ล้านคน โดยคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า AOT จะพลิกกลับมามีกำไรปกติ ~300 ล้านบาท หลังจากขาดทุน 10 ไตรมาส
ทั้งนี้ กำไรปกติของ AOT จะเติบโต YoY และ QoQ อย่างต่อเนื่องใน 2QFY66 (มกราคม-มีนาคม 2566) โดยได้แรงหนุนจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และใน 3QFY66 (เมษายน-มิถุนายน 2566) หลังจากมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2566 และบริษัทกลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร
นอกจากนี้ คาดว่าผลประกอบการของ AOT จะฟื้นตัวกลับมามีกำไรปกติ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี FY2566 และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดสู่ 2.7 หมื่นล้านบาทในปี FY2567 โดยอิงกับสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54 ล้านคนในปี FY2566 และ 76 ล้านคนในปี FY2567 (จาก 13.9 ล้านคนในปี FY2565)
ด้านราคาหุ้น AOT ปัจจุบันสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 1% ปรับตัวขึ้นช้ากว่าหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มท่องเที่ยว (โดยเฉลี่ยเทรดสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 37%) InnovestX Research ให้คำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนสำหรับ AOT ไว้ที่ Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF ที่ 82 บาทต่อหุ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการเดินทางลดลง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567