เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) มั่นใจเป้าการขายที่ดินปีนี้ไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ (+20%YoY) ยอดขายที่ดิน 9M65 อยู่ที่ 399 ไร่ เป็นยอดจากเวียดนาม 45 ไร่ และประเทศไทย 354 ไร่ ดังนั้นคาดว่ายอดขายที่ดิน 4Q65 จะโดดเด่นไม่น้อยกว่า 600 ไร่ โดยฐานลูกค้าที่สำคัญ เช่น ซัพพลายเออร์ของกลุ่มรถ EV ในกลุ่มแบตเตอรี่, Data Center กลุ่มยานยนต์ และกลุ่ม Logistic โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยอง
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AMATA ปรับเพิ่มขึ้น 3.08%MoM สู่ระดับ 20.10 บาท ดีกว่า SET Index ปรับลดลง 0.81%MoM อยู่ที่ระดับ 1,624.10 จุด
แนวโน้มผลประกอบการ:
AMATA มี Backlog ในมือแข็งแกร่งที่ประมาณ 5,700 ล้านบาท เป็นยอดจากเวียดนามประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งจะบันทึกรายได้ในปี 2566-2567 และส่วนที่เหลือ 3,900 ล้านบาทจากประเทศไทย คาดว่าประมาณ 60% จะบันทึกรายได้ในปี 2566
ดังนั้น InnovestX Research คงประมาณการรายได้ของปีนี้ที่ 5,621 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10%YoY) และกำไรสุทธิที่ 2,082 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 48%YoY)
สำหรับปี 2566 มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ FDI ในประเทศไทย และอุปสงค์ของที่ดินของ AMATA ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว ประกอบกับคาดว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ลูกค้าชาวจีนจะเริ่มกลับมาเต็มรูปแบบ โดย AMATA ตั้งเป้ายอดขายที่ดินปี 2566 ที่ไม่ต่ำกว่า 1,100 ไร่
และคาดว่ารายได้ของปี 2566 ที่ 6,543 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16%YoY) หนุนด้วย Backlog ที่แข็งแกร่งจากทั้งประเทศไทยและเวียดนาม ขณะที่กำไรสุทธิคาดว่าจะอยู่ที่ 1,649 ล้านบาท (ลดลง 20.8%YoY) บนสมมติฐานที่ไม่มีการขายโรงงานสำเร็จรูปในประเทศเวียดนามหลังจากที่ในช่วง 9M65 มีบันทึกกำไรไปกว่า 1,362 ล้านบาท
กลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research คงคำแนะนำ ‘ซื้อ’ AMATA โดยราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ฐาน PER ที่ 17 เท่า ซึ่งเท่ากับ +0.5SD ในรอบ 7 ปีของ AMATA ได้ราคาเป้าหมาย 25.00 บาทต่อหุ้น
ด้วยแนวโน้มการกลับมาเติบโตโดดเด่นของ Core Profit จากฐานที่ต่ำและธุรกิจการขายที่ดินมีแนวโน้มเติบโตสูงจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภคยังมีระดับการเติบโตเฉลี่ยกว่า 10% ต่อปีบนฐานที่มั่นคง
สำหรับความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การบริหาร Cash Flow และ Inventory ของที่ดิน ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และติดตามโอกาสและความเสี่ยงของการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567