การรีวิว Apple Vision Pro ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ถือเป็นหนึ่งในการรีวิวที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนจำนวนมาก
ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีใครคิดว่าซีอีโอแห่ง Meta จะนั่งรีวิวการใช้งานในแบบง่ายๆ บ้านๆ ไม่ได้มีโปรดักชันเล่นใหญ่อะไรมากมาย แต่อีกส่วนหนึ่งแม้ในการรีวิวจะไม่ได้มีการพูดถึง Metaverse โลกเสมือนแห่งอนาคตแม้แต่น้อย (มีเพียงแค่การยกย่อง Meta Quest 3 ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ดีและคุ้มค่ามากกว่า) แต่ก็ชวนให้คิดถึงสิ่งที่เคยเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของซักเคอร์เบิร์ก ที่ทำให้ถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta
เวลาผ่านมาพอสมควร Metaverse กลายเป็นเรื่องที่ถูกลืมไปเหมือนกับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งส่วนสำคัญก็เป็นเพราะ Meta รวมถึงซักเคอร์เบิร์กเองไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีโลกเสมือนนี้เป็นอันดับแรกเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป
โดยที่แทบไม่มีใครไหวตัว Meta เลือกแล้วว่าจะเป็นสิ่งที่นำพาบริษัทก้าวไปสู่อนาคตไม่ใช่ Metaverse แต่เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และพวกเขาก็เดินหน้าอย่างจริงจังในสนามแข่งขันที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้
เกิดอะไรขึ้นกับซักเคอร์เบิร์กในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้หัวใจของเขาเปลี่ยนแปลงแบบนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชีวิตอันแสนสั้นและความล้มเหลวของ ‘Metaverse’ เครื่องเตือนใจสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สอนว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
- ซีอีโอ Meta ไม่ถูกใจ Vision Pro พร้อมขิงใส่ว่า Quest เหนือกว่าแบบเทียบไม่ติด
- จ้างมากเกินไป จนถึงจุดที่พนักงานไม่มีงานทำ! ผ่าต้นตอ ‘วิกฤต Fake Work ที่ Facebook’ เปิดที่มางานตบยุงและพายุเลิกจ้างของบิ๊กเทค
- 2 ทศวรรษของ Facebook กับ 4 เรื่องราวที่โซเชียลมีเดียตัวนี้เข้ามาเปลี่ยนโลก
- สรุปแล้ว AI ของ Facebook ฉลาดจริงไหม? ทั้งที่บอกว่า 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกด้วย AI แต่ปัญหา ‘บัญชีปลอม’ ยังมีเต็มฟีดแถม Boost Post ได้ด้วย
เดิมพันราคาแพงที่เจ๊งไม่เป็นท่า
ย้อนกลับไปในฤดูร้อนปี 2021 ในงานสัมมนาที่ Allen & Co ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองไอดาโฮ มีช่วงเวลาไพรเวตที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงสุดจะได้ใช้เวลาพักผ่อนแลกเปลี่ยนบทสนทนาไปด้วยกัน ในช่วงเวลานั้นเองที่ ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) เบอร์หนึ่งของ Google ได้มีโอกาสพูดคุยกับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เกี่ยวกับทีมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของ Facebook ที่อยู่ใต้อาณัติของซีอีโอ Meta
ในถ้อยสนทนา พิชัยได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของ AI อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ แต่ปัญหาคือซักเคอร์เบิร์กไม่เข้าใจในสิ่งที่ซีอีโอของ Google พูดสักเท่าไรนัก
สำหรับซักเคอร์เบิร์กพวกเขาเริ่มต้นศึกษาเทคโนโลยี AI มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยมีการเริ่มก่อตั้งทีมพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะในปี 2013 โดยจ้าง Yann LeCun นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่ง AI’ มาเลยทีเดียว
ปัญหาคือหลังจากนั้นซักเคอร์เบิร์กไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเกี่ยวกับผลงานของทีมนี้มากนัก แต่กลับไปให้ความสนใจในงานส่วนอื่นๆ แทน เช่น การส่งข้อความส่วนตัว (Direct Message) การสตรีมวิดีโอ ไปจนถึงเรื่องของสกุลเงินคริปโต
และเรื่องที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดคือ Metaverse การสร้างโลกดิจิทัลขึ้นมาเป็นโลกอีกใบเสมือนผู้สร้าง โดยหวังจะกลายเป็นสิ่งที่ ‘ปฏิวัติ’ ทางที่คนเราจะมีปฏิสัมพันธ์กันบนโลกออนไลน์
ซักเคอร์เบิร์กจริงจังกับเรื่องนี้อย่างมาก และความจริงจังนั้นก็เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็น Meta ในปี 2021
เพียงแต่มันได้กลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำที่แพงที่สุดในประวัติการณ์ Meta ลงทุนไปมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ (1.79 ล้านล้านบาท) ในการจะสร้างโลกที่ไม่มีใครต้องการ และผลกระทบที่ตามมาคือการที่ Meta อยู่ในสถานภาพที่อ่อนไหวสั่นคลอนอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี
“เขา (ซักเคอร์เบิร์ก) รู้ว่ามีบางสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าเขาเดิมพันไปกับสิ่งที่ผิดพลาด” หนึ่งในอดีตนักวิจัยในโครงการ Metaverse ที่ขอปกปิดตัวตนไว้ในการเปิดเผยข้อมูลกับ Bloomberg กล่าวแทนใจใครหลายคน
FAIR ทีมเทพที่ถูกมองข้าม
หลังการพูดคุยกับพิชัยในวันนั้น ซักเคอร์เบิร์กเก็บงำสิ่งที่ได้กลับมาคิดทบทวนก่อนจะเรียกประชุมขอสรุปความคืบหน้าของทีมวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง AI ของ Meta ทันที
ทีมวิจัยนี้มีชื่อว่า ‘FAIR’ ซึ่งมาจาก Fundamental Artificial Intelligence Research
รายงานความคืบหน้าของทีมถูกส่งตรงถึงซักเคอร์เบิร์ก ที่ใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ และทำความเข้าใจว่าทำไมคู่แข่งอย่างพิชัย จึงชื่นชมผลงานของ FAIR และคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง AI ถึงบอกว่าพวกเขาเป็นผู้นำของวงการ แต่ตัวเขากลับมองข้ามไป
“เขาใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวเองอีกพักใหญ่เลยทีเดียว” เจอโรม เพเซนติ (Jerome Pesenti) อดีตรองประธานแผนกปัญญาประดิษฐ์ของ Meta เล่าถึงเรื่องราวในช่วงเวลานั้น
การที่เรื่องของ AI กลับมาอยู่ในความสนใจของซักเคอร์เบิร์กถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะในบรรดาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่แห่ง Silicon Valley Meta เป็นเพียงแห่งเดียวที่ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ก่อตั้งอย่างซักเคอร์เบิร์กที่จะเป็นคนตัดสินใจในเรื่องสำคัญทั้งหมด
เรื่องอะไรที่สำคัญกับบริษัท เขาต้องเป็นคนเคาะให้
สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นคือการที่ซักเคอร์เบิร์ก และ Meta ยังพยายามผลักดันเรื่องของ Metaverse ต่อไป ในเดือนสิงหาคม 2022 มีการเปิดเผยภาพสกรีนช็อตตัวละครเสมือน (Avatar) ของเขาใน Horizon Worlds ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหลักแรกของ Meta ในโลกของ Metaverse
แต่ผลตอบรับที่ได้นั้นไม่เป็นที่น่าประทับใจมากนัก แม้กระทั่งเรื่องรายละเอียดอย่างตัว Avatar ของซักเคอร์เบิร์กที่ดูบู้บี้จนกลายเป็นถูกบูลลี่จากโลกสังคมออนไลน์
ถึงจะชินกับการเป็นมีม (Meme) ให้คนอื่นล้อ แต่ในภาพรวมผลงานของทีมที่รับผิดชอบก็ไม่เป็นที่ประทับใจของเขานัก โดยมีการพบว่าภาพ Avatar ของซักเคอร์เบิร์กมีการเปลี่ยนแปลงให้มีความคมชัดขึ้นในอีก 4 วันให้หลัง โดยเขาต้องลงมากำกับเอง และมีการแก้ไขกันถึง 40 ครั้งกว่าจะพอใจ
3 เดือนหลังจากนั้น Meta มีการประกาศเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดถึง 11,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 13% ของจำนวนพนักงานในเวลานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Meta ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการติดตามข้อมูลส่วนตัวของ Apple ที่ทำให้รายรับของบริษัทลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นบริษัทมหาชน และข่าวดังกล่าวทำให้หุ้นของ Meta ตกลงถึงกว่า 65%
ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ OpenAI เปิดตัว ChatGPT และกลายเป็นปรากฏการณ์ของวงการ เกิดสงครามโลกของ AI ที่ยักษ์ใหญ่ทุกแห่งพร้อมร่วมวงชิงชัยกันอย่างไม่ลดละ เพราะรู้ว่าหากใครชนะมีโอกาสจะกลายเป็นผู้ครองโลกคนใหม่ได้เลย
Meta ที่ล้มเหลวกับ Metaverse เหมือนจะกลายเป็นยักษ์ที่สะดุดล้มและกำลังจะตกขบวน
ซะเมื่อไร!
The Meta Strikes Back
ตั้งแต่ที่ซักเคอร์เบิร์กเริ่มต้นศึกษา AI อย่างจริงจัง แผนกวิจัย AI ของ Meta ได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้าลุยอย่างเต็มตัวอย่างลับๆ
FAIR มีการขยายทีมดึงตัวเทพจากทั่วโลกเข้ามาเพื่อระดมสรรพกำลังในการสู้กับ OpenAI และ DeepMind ของ Google ในสงครามครั้งใหม่ให้ได้
สิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับการทำงานของทีม FAIR นั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ที่ชวนตะลึงเหมือนคู่แข่งรายอื่นๆ โดยหลักแล้ว AI จะถูกใช้ในบริการของ Facebook และ Instagram เพื่อคาดเดาเรื่องของพฤติกรรมผู้ใช้ว่าจะมีโฆษณาตัวใดที่โชว์ขึ้นมาเมื่อมีการไถหน้าจอ (แบบที่เราสงสัยว่าตกลงแล้วแอบฟังอยู่ใช่ไหมนั่นแหละ) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี
การเก็บตัวอย่างเงียบๆ ของ Meta ทำให้แม้แต่ทำเนียบขาวที่เชิญยักษ์ใหญ่เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ไม่มีการเชิญมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด
ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน การถูกมองข้ามทำให้ซักเคอร์เบิร์กจัดตั้งทีมใหม่ คราวนี้เป้าหมายอยู่ที่การสร้างผลิตภัณฑ์ AI ออกมาให้โลกได้รู้บ้าง โดยมีการโยกคนจากทีม FAIR มาอยู่ทีมใหม่ 60 คน ในขณะที่ทีม FAIR เองก็มีการเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเช่นกัน
การทำแบบนี้เพื่อเร่งให้เกิดการสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมา โดยมีซักเคอร์เบิร์กที่ทำเหมือน เทอเรนซ์ เฟล็ตเชอร์ แห่ง ‘Whiplash’ ที่ต้องการให้ทีมวิจัยของเขาสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาให้ได้
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้แนวทางไม่ตรงกับนักวิจัยจำนวนไม่น้อย ตัวระดับท็อปของวงการลาออกจาก Meta ไปพอสมควร แต่ซักเคอร์เบิร์กตัดสินใจแล้วที่จะเดินหน้าแบบนี้ นี่คือการโต้ตอบที่สำคัญและจำเป็นต่อการพลิกเกม
แต่จะพลิกเกมแบบไหน?
ภาพ: Anna Moneymaker / Getty Images
The Queen’s Gambit ของ Meta
ในทางกีฬาหมากรุกจะมีวิธีในการ ‘เปิดกระดาน’ อยู่หลายแบบด้วยกัน แต่หนึ่งในวิธีที่โด่งดังที่สุดคือวิธีการเปิดที่เรียกว่า Queen’s Gambit ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเล่นที่เก่าแก่ที่สุด ย้อนกลับไปได้ถึงปี 1490 เลยทีเดียว
วิธีที่ใช้คือการเปิดกระดานด้วยการเดินเบี้ย 2 ตัว เรียกว่าลุยก่อนแต่ทำแบบนี้จะเสียตัวเบี้ยไป 1 ตัว ซึ่งก็เป็นที่มาของคำว่า Gambit นั้นมาจากการเดิมพันแบบ ‘กล้าได้กล้าเสีย’ ของคนที่เปิดกระดานแบบนี้นั่นเอง
และนี่ก็เป็นสิ่งที่คล้ายกับการเดินหมากของซักเคอร์เบิร์กและ Meta
หลังจากที่ได้เปลี่ยนแนวทางและเป้าหมายของบริษัทที่มีต่อเทคโนโลยี AI ทางด้าน Meta พยายามส่งผลงานใหม่ออกมา เช่น การปฏิวัติเรื่องของแชตบอต (Chatbot) ที่มีการเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ในงาน Meta’s Connect Conference เมื่อปี 2023 โดยเป็นแชตบอตที่มีความชาญฉลาดมากขึ้น สามารถปรับบุคลิกให้เป็นตัวของตัวเองหรือเหมือนคนดังอย่างเช่น ทอม เบรดี ตำนานนักอเมริกันฟุตบอล NFL หรือ เคนดัลล์ เจนเนอร์ นางแบบชื่อดัง
นอกจากนี้ ซักเคอร์เบิร์กยังได้วกกลับไปถึง Metaverse เล็กๆ ด้วยการพูดถึงโลกในอนาคตที่เราสามารถพบกันได้ทั้งคนตัวเป็นๆ ที่สวมใส่แว่นที่มีเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และคนที่ส่งตัวแทนมาประชุมในห้องแต่เป็น Avatar โดยที่ในห้องนั้นจะมี AI เป็นผู้ช่วยในแบบของโฮโลแกรม (ภาพสามมิติ) ที่คอยจัดการงานด้านต่างๆ แทนให้
นี่เป็นเบี้ยตัวหนึ่งที่เดินไว้
แต่เบี้ยอีกตัวที่เป็นทีเด็ดจริงๆ คือ ‘LlaMa’ ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งถูกพัฒนาด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ Large Language Model (LLM) โดยทีม FAIR ของบริษัทซึ่งเกิดมาแข่งขันกับ ChatGPT ของ OpenAI และ Bard ของ Google โดยเฉพาะ
ความแตกต่างที่เป็น ‘กุญแจสำคัญ’ คือการที่ LlaMa เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ในแบบ Open-source ซึ่งแตกต่างจาก OpenAI หรือ Google ที่ไม่ยอมให้ใครเข้าถึงได้ ด้วยความกังวลว่าการให้เข้าถึงเครื่องมือที่ทรงพลังขนาดนี้อาจเป็นอันตรายมากเกินไป
แต่เพราะการเดินหมากตานี้ทำให้ AI ของ Meta ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะเหมือนมีทีมพัฒนาจากภายนอกเข้ามาช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น โมเดล AI ของพวกเขาเติบโตเร็วยิ่งกว่าใคร และเก่งไวยิ่งกว่าใช้ทีมพัฒนาของตัวเอง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาออกตัวในสนามนี้ช้ากว่าคู่แข่ง และความเร็วคือเรื่องของปีศาจ ซึ่งซักเคอร์เบิร์กเด็ดขาดพอที่จะตัดสินใจในหมากตาแบบนี้
ข้อได้เปรียบอีกด้านของ Meta คือการที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องขายเครื่องมือ AI (AI Tools) เพื่อหาเงิน เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือการให้คนใช้เวลาอยู่ในแอปพลิเคชันให้นานที่สุด ดังนั้นกลยุทธ์ของ Meta คือการเปิดให้ใช้ฟรีต่อไปทั้งผู้ใช้ปกติ ซึ่งมีคนโหลดไปแล้วกว่า 100 ล้านคน หรือนักพัฒนาที่สามารถเข้าถึงระบบที่พัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ในทุกวัน
ในเดือนตุลาคม 2023 ซักเคอร์เบิร์กบอกนักลงทุนว่า “AI จะเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของพวกเราในปี 2024” โดยเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรให้มาสร้างโครงการโดยใช้ AI เป็นพื้นฐานทั้งหมด
เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา หุ้นของ Meta ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดได้อีกครั้งนับตั้งแต่จุดตกต่ำในปี 2021 ซึ่งเป็นสัญญาณในทางที่ดีว่าพวกเขากลับมาถูกที่ถูกทางอีกครั้ง
ที่เหลือก็อยู่กับตัวของซักเคอร์เบิร์กเองว่าจะสนใจและใส่ใจกับปัญญาประดิษฐ์นี้ไปอีกนานแค่ไหน เพียงแต่ไม่นานมานี้เขาโพสต์วิดีโอในบัญชีส่วนตัว โดยในวิดีโอนั้นเป็นการใช้งานผู้ช่วย AI ผ่านแว่นอัจฉริยะของบริษัทเอง
“เฮ้ Meta ไหนช่วยบอกผมหน่อยสิว่าต้องใส่กางเกงแบบไหนถึงจะเข้ากับเสื้อตัวนี้”
เจ้า AI ประมวลผลก่อนตอบว่า “จากภาพแล้วเป็นเสื้อลายทาง ลองดูเป็นกางเกงยีนส์สีเข้มหรือกางเกงผ้าที่ขรึมๆ หน่อยก็น่าจะเข้ากับเสื้อได้ดี”
แบบนี้คิดว่าซักเคอร์เบิร์กน่าจะสนุกกับ AI ไปอีกสักระยะ
ส่วนผู้เขียนกำลังคิดถึงการใช้ AI ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน พร้อมกับคิด Prompt เอาไว้เรียบร้อย
“ไหน ใครอยากเป็นเศรษฐี”
ภาพปก: Tom Williams / CQ-Roll Call, Inc via Getty Images
อ้างอิง: