×

‘เน้นปลอดภัย-โฟกัสอาเซียน’ จับสัญญาณ ‘มาริษ’ เยือน สปป.ลาว ประเทศแรกในฐานะ รมว.ต่างประเทศ

01.06.2024
  • LOADING...
‘เน้นปลอดภัย-โฟกัสอาเซียน’ จับสัญญาณ ‘มาริษ’ เยือน สปป.ลาว ประเทศแรกในฐานะ รมว.ต่างประเทศ

มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลือกเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นประเทศแรก พร้อมเข้าเยี่ยมคารวะ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี เพื่อแนะนำตัวอย่างเป็นทางการหลังรับตำแหน่ง ท่ามกลางการจับจ้องจากหลายฝ่ายถึงทิศทางความเคลื่อนไหวในนโยบายการต่างประเทศของไทย ภายใต้รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของรัฐบาลเศรษฐา

 

โพสต์ข้อความในบัญชี X ของเขาระบุว่า “อยากเห็นความสัมพันธ์ (ระหว่างไทยและ สปป.ลาว) ที่จะครบ 75 ปีในปีหน้า ยกระดับและมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ให้พี่น้องประชาชนไทย-สปป.ลาวไปมาหาสู่กันมากขึ้น ประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นญาติมิตรกัน”

 

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ ท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ค่อนข้างตึงเครียด เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการแข่งขัน ทำไมรัฐมนตรีใหม่ของไทยจึงเลือกขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศด้วยการเยือน สปป.ลาวเป็นประเทศแรก ไม่ใช่เพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หรือประเทศมหาอำนาจต่างๆ มีเหตุผลหรือปัจจัยอื่นใดในการตัดสินใจหรือไม่

 

ความสำคัญ 2 มิติ

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นต่อท่าทีของมาริษใน 2 มิติ

 

มิติแรก เขามองว่าการเลือกเยือน สปป.ลาวนั้นมีเหตุผลสำคัญ จากการที่ สปป.ลาวเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2024 ซึ่งการเดินทางไปเยือนเป็นประเทศแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่ออาเซียน

 

อีกมิติหนึ่ง รศ.ดร.สมชายชี้ว่า สปป.ลาวนั้นถือเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของไทยอย่างมาก โดยอยู่อันดับ 7 ในแง่การค้ากับไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งกว่า 99% ของการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว เป็นการค้าในพื้นที่ชายแดนที่มีมูลค่าสูงถึงราว 2.6-2.7 แสนล้าน และไทยเป็นฝ่ายเกินดุล หรือมีการส่งออกมากกว่านำเข้า

 

นอกจากนี้ ไทยและ สปป.ลาวยังมีความสัมพันธ์ในหลายด้าน เช่น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีความเชื่อมโยงระหว่าง 6 ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย, สปป.ลาว, เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) ซึ่งมีความสัมพันธ์กันไม่ใช่แค่การค้า แต่ยังครอบคลุมไปถึงด้านการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์

 

“ก่อนหน้านี้ก็มีการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างมณฑลยูนนานและกรุงเวียงจันทน์อยู่แล้ว ตอนนี้ก็จะมีเส้นทางรถไฟเวียงจันทน์กับทางด้านหนองคาย นอกจากนี้ยังมีการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยและ สปป.ลาว”

 

ขณะที่ทั้งสองประเทศยังเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มเมื่อปี 2003 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

 

อีกอย่างที่สำคัญ คือการที่ไทยนั้นแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อมิตรประเทศอย่าง สปป.ลาว ที่ตอนนี้กำลังเผชิญภาวะความลำบากจากเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อที่รุนแรง

 

“การให้ความสำคัญนี้ก็เท่ากับว่าไทยเราให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านที่มีความสนิทกัน และปีหน้าก็เป็นการฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาวด้วย”

 

ด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การเลือกไปเยือน สปป.ลาวที่เป็นเพื่อนบ้านติดกันถือเป็นทางเลือกที่ดี

 

โดยสองประเทศมีความใกล้ชิดเรื่องวัฒนธรรมภาษา ซึ่ง สปป.ลาวพึ่งพาไทยเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนไทยเองก็พึ่งพา สปป.ลาวเรื่องพลังงาน อีกทั้ง สปป.ลาวยังเป็นประธานอาเซียนปีนี้ โดยเขามองว่าทริปต่อไปของมาริษอาจเป็นประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย

 

ยกระดับสัมพันธ์ไทย-สปป.ลาวอย่างเป็นรูปธรรม?

 

ส่วนการยกระดับความสัมพันธ์อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ตั้งเป้าไว้นั้น รศ.ดร.สมชายมองว่า สิ่งที่น่าจับตามองคือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งไม่ได้แค่เชื่อมโยงในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ยังโยงไปถึงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น เส้นทางเว้-ดานัง-สะหวันนะเขต-มุกดาหาร

 

นอกจากนี้ ทั้งไทยและ สปป.ลาวเองยังเน้นด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงและส่งเสริมกันและกันได้อย่างเห็นผล โดยเฉพาะการที่มีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อไม่เพียงแค่ไทย-สปป.ลาว แต่ยังต่อไปถึงจีน

 

ทั้งนี้ ไทยและ สปป.ลาวถือเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยเป็นศูนย์กลางและอยู่ร่วมกันในหลายกรอบความร่วมมือ เช่น ACEP, ASEAN+1, ASEAN+6 อีกทั้งไทยและ สปป.ลาวต่างให้ความสำคัญในโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) หรือข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนพยายามผลักดันเช่นเดียวกัน

 

“นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ไทย-สปป.ลาว ในกรอบที่ไม่ได้มองเป็นแค่เรื่องของแต่ละประเทศ แต่มองในกรอบที่เป็นแบบกลุ่มประเทศ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่อกลุ่มประเทศต่างๆ”

 

ท่าทีที่ปลอดภัย

 

สำหรับในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทยเดินทางไปเยือน สปป.ลาวเป็นประเทศแรกนั้น อาจเป็นความคิดที่มีการไตร่ตรองและพิจารณามาอย่างดี

 

รศ.ดร.สมชายกล่าวสั้นๆ ว่า การที่เลือกเยือน สปป.ลาวนั้นเป็นความ ‘ปลอดภัย’ โดยมองว่าหากมาริษเลือกไปเยือนมหาอำนาจที่เป็นคู่ปรับกันอย่างจีนหรืออเมริกาก่อน ก็อาจก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีนักต่ออีกฝ่าย ซึ่งไทยถือเป็นมิตรต่อทั้งสองประเทศ

 

ขณะที่การเลือกเยือนประเทศในอาเซียน คำตอบที่ดีที่สุดยังเป็น สปป.ลาว ที่รับหน้าที่ประธานอาเซียนปีนี้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่แสดงความชัดเจนว่า ไทยนั้นให้ความสำคัญอย่างมากต่ออาเซียน และยังดำเนินนโยบายในแนวทางที่สอดคล้องต่ออาเซียน หลังจากเมื่อปีที่แล้วเกิดกรณี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น เชิญเมียนมาและชาติอาเซียนประชุมอย่างไม่เป็นทางการจนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ

 

“เพราะฉะนั้นทางที่ปลอดภัยที่สุดคือเน้นอาเซียน และการเน้นอาเซียนที่ดีที่สุดคือตัวประธาน เราพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์ให้เห็นว่าไทยไม่ได้อยู่นอกลู่นอกทาง เราให้ความสำคัญต่ออาเซียน”

 

ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ

อ้างอิง:

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising