ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับกัญชาหรือสมุนไพรแห่งความสุขที่หลายคนให้สมญานาม กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากทั้งในระดับบุคคลทั่วไป รวมไปถึงในระดับแวดวงการแพทย์ของไทยที่พยายามผลักดันให้กัญชา ‘ถูกกฎหมาย’ เพราะมองว่าพืชอย่างกัญชาสามารถนำมาเป็นยาเพื่อใช้รักษาโรคได้อย่างมากมาย
แต่การที่จะทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะถ้าหากมองไปในระดับโลกก็มีหลายประเทศที่เปิดเสรีกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และอีกหลายๆ ประเทศที่เปิดกว้างทางกฎหมายให้ใช้กัญชาได้ในเงื่อนไขต่างๆ
แน่นอนว่ากว่าที่ประเทศเหล่านั้นจะทำให้กัญชาถูกกฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อน ทั้งการฟังเสียงของประชาชน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านการแพทย์ ซึ่งต้องผ่านการคิดมาแล้วในหลายแง่มุม
ด้านประเทศไทยที่ตอนนี้กำลังถกเถียงเรื่องนี้อยู่ นั่นเป็นเพราะยังมีผู้คนบางส่วนมีทัศนคติต่อกัญชาในมิติเดียว โดยมองว่ากัญชาคือยาเสพติด ส่วนหนึ่งคงเพราะยังมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องของยาเสพติดอย่างกัญชา ที่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายประเภทที่ 5 เพราะกัญชามีฤทธิ์ร้ายแรงถึงขั้นทำลายเซลล์ประสาทและสมอง หรือส่งผลเสียต่อร่างกาย
แต่ถึงอย่างนั้นกัญชาอาจมีประโยชน์และสรรพคุณมากกว่าที่คิด และนี่คือมุมมองเรื่องกัญชาที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน
กัญชา พืชมากสรรพคุณที่ถูกมองเป็น ‘ผู้ร้าย’
ต้องเท้าความก่อนว่า เดิมทีพืชอย่างกัญชาอยู่ร่วมกับมนุษย์เราบนโลกนี้มานานกว่า 4,000-5,000 ปี กัญชาเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ที่ปัจจุบันถูกค้นพบแล้ว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Indica พบในทวีปเอเชีย Sativa พบในทวีปอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ และ Ruderalis พบได้ในประเทศรัสเซีย
กัญชาเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางบวกอย่างมหาศาล ในทางการแพทย์เคยมีการใช้กัญชาเพื่อบำบัดอาการเจ็บปวดมาแล้วหลายอย่าง เช่น บรรเทาอาการอ่อนล้า อาการปวดต่างๆ
ไม่นานมานี้ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้เผยข้อดีของกัญชาที่ผ่านการวิจัยและสกัดมาเป็นสาร เพื่อใช้เป็นส่วนผสมเป็นยารักษาโรคว่า ถ้าหากนำกัญชามาผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อผลิตสารเป็นส่วนผสมให้ตัวยาที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถใช้รักษา 4 กลุ่มโรคหลักๆ ได้แก่
- มะเร็ง, เคมีบำบัด 2. ลมชัก 3. กล้ามเนื้อเกร็ง 4. อาการปวดทั่วไป โดยตัวยาที่สกัดจากสารกัญชาจะสามารถออกมาเป็นรูปแบบทั้งน้ำมันหยดใต้ลิ้น, ยาเหน็บ, ครีม, แผ่นแปะผิวหนัง และแคปซูล
รวมความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกัญชา
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนไทยอาจจะยังคงเข้าใจผิดอยู่เกี่ยวกับกัญชาในอีกหลายด้าน หรือข้อดีที่ยังไม่รู้ เช่น
- กัญชาไม่ใช่สารเสพติด กัญชาเป็นพืชธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งจากสารเคมีใดๆ ที่จะกระตุ้นทำให้ผู้เสพรู้สึกอยากเสพกัญชา ซึ่งจุดนี้ก็อยู่กับตัวผู้เสพด้วย เพราะถ้าหากเสพในปริมาณที่มากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเป็นผลเสียทำให้เกิดอาการลงแดง ซึ่งจะแตกต่างจากบุหรี่ที่เลิกได้ยากกว่ากันมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าบุหรี่มีการเติมส่วนผสมพิเศษมากถึง 599 ชนิด
- ในขณะที่กัญชายังคงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ก็ยังมีเหล้าและบุหรี่เป็นสิ่งส่งผลอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ที่ยังเปิดให้ขายกันได้อย่างเสรี โดยสิ่งเหล่านี้ได้ทำลายสุขภาพของผู้คนไปมากไม่ต่างจากกัญชาเลย
- กัญชาสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 25,000 ชนิด เพราะเดิมทีเคยมีการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษและวัสดุสิ่งทอที่มีคุณภาพค่อนข้างสูง โดยกระดาษที่ผลิตจากกัญชาจะมีความแตกต่างจากกระดาษทั่วไปตรงที่มีความคงทนและแข็งแรงกว่า จากการศึกษาพบว่า กัญชาสามารถปลูกและนำมาทำกระดาษได้มากเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับไม้ยืนต้น เส้นใยมีคุณภาพดีกว่า ไม่ต้องใช้คลอรีนเหมือนกระดาษที่ทำจากไม้ ซึ่งจะทำให้เกิดสารไดออกซิน อีกทั้งยังสามารถผลิตเป็นเส้นใยไฟเบอร์เชือกที่มีความแข็งแรง แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และยังสามารถนำมาทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ได้อีกด้วย
จากข้อมูลที่เราได้หยิบยกมาให้เห็นถึงประโยชน์และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับกัญชา จะเห็นได้ว่า กัญชาไม่ได้จัดเป็นสารเสพติดตามที่หลายคนเข้าใจ และไม่ได้มีผลในการทำลายสมองโดยตรง เพราะเป็นพืชที่มีสารทางธรรมชาติ ส่วนในรูปแบบของอุตสาหกรรมเองก็จะเห็นได้ว่ากัญชาสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมได้ไม่น้อย
คนไทยพร้อมแค่ไหนที่จะเปิดมุมมองใหม่ต่อกัญชา
แต่ถึงอย่างไรก็ตามประเทศไทยของเราก็ยังไม่มีความคิดที่จะใช้กัญชาไปอยู่ในรูปแบบอื่นๆ เพราะเรื่องที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันเกี่ยวกับเรื่องกัญชาจริงๆ คือกฎหมายกัญชาที่ใช้ในเฉพาะด้านการแพทย์ รวมถึงใช้ในงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคที่องค์การแพทย์เป็นผู้ควบคุมเท่านั้น และตอนนี้อาจจะยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายที่ลงตัว เพราะเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา ความละเอียดอ่อน ในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ต่างๆ
สุดท้ายเราคงต้องคอยติดตามว่า กัญชาจะได้รับการอนุมัติให้ถูกกฎหมายหรือไม่ แล้วเราในฐานะประชาชนคนไทยพร้อมหรือยังที่จะปรับมุมมองต่อกัญชาที่เคยถูกมองเป็นตัวร้ายมาตลอดให้กลายเป็นพระเอกได้หรือไม่
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: thestandard.co/marijuana-exhibit-for-medical-research/
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า