×

Margaret Thatcher สตรีเหล็กผู้ช่วยให้อังกฤษหายจากการเป็น ‘คนป่วยแห่งยุโรป’

07.10.2021
  • LOADING...
Margaret Thatcher

จากบทความก่อน ผมได้เล่าถึงการถดถอยของเศรษฐกิจอังกฤษอย่างหนักตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง (ในบทความนี้ ผมใช้คำว่าอังกฤษแทนสหราชอาณาจักร ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า United Kingdom หรือ Britain เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการใช้คำว่าอังกฤษ (English) แทน บริติช (British) อย่างเช่น ราชวงศ์อังกฤษ หรือ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องสักทีเดียว เพราะอังกฤษเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเท่านั้น) 

 

จนก่อให้เกิดฤดูหนาวแห่งความไม่พอใจขึ้นในปี 1979 ส่งผลให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี James Callaghan ต้องหมดอำนาจลง และทำให้ Margaret Thatcher ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษและยุโรป ซึ่ง Margaret Thatcher ได้ครองตำแหน่งนานถึง 11 ปี คือตั้งแต่ปี 1979-1990  

 

ในอังกฤษเอง Margaret Thatcher เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีคนชื่นชมมาก และไม่ชอบจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างหนักในประเทศอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของรัฐบาล Margaret Thatcher ทำให้อังกฤษได้หลุดพ้นจากการเป็นคนป่วยแห่งยุโรปและมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของอังกฤษจนถึงทุกวันนี้ 

 

ในบทความนี้ผมจะมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ Margaret Thatcher เรื่องราวที่สำคัญต่างๆ และการดำเนินนโยบายในช่วงแรกของรัฐบาล Margaret Thatcher ให้ฟังครับ

 

ประวัติของ Margaret Thatcher

Margaret Thatcher จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสาขาวิชาเคมี และได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่นในการทำงาน ทำให้ Margaret Thatcher ได้รับได้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล รวมถึงเป็นโฆษกของพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้หลายคนเริ่มมองว่าเธอมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตัวเธอเองกลับกล่าวว่า ในช่วงชีวิตของเธอ ไม่มีทางที่จะมีนายกรัฐมนตรีหญิงได้ เพราะอคติที่มีต่อผู้หญิงในสังคมสมัยนั้น  

 

ในช่วงปี 1970-1974 Margaret Thatcher ได้รับตำแหน่งเลขาธิการรัฐด้านการศึกษา เธอได้สั่งให้มีการยกเลิกการแจกนมสดให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่อายุ 7-11 ขวบเพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างหนักในสังคม แต่เธอเลือกที่จะไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จนทำให้มีคนเรียกเธอว่า Margaret Thatcher, Milk Snatcher (Margaret Thatcher โจรขโมยนม)  

 

ต่อมาหลังจากรัฐบาลของ Ted Heath แพ้การเลือกตั้งในปี 1974 เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในปี 1975 และเพราะเธอออกมาต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ทำให้นักข่าวโซเวียตในกรุงมอสโกตั้งฉายาให้เธอว่า The Iron Lady (สตรีเหล็ก) ซึ่งไม่ได้เป็นฉายาที่ดี แต่ปรากฏว่า Margaret Thatcher ชอบใจกับมันมาก ถึงกับกล่าวถึงตนเองว่าเธอคือสตรีเหล็กแห่งโลกตะวันตก 

 

ในที่สุด Margaret Thatcher ได้นำพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งในปี 1979 ในวันที่เธอได้เข้ารับตำแหน่ง เธอได้พูดว่า หากยังมีความเห็นแตกแยก ขอให้ต่อไปเราจะมีความสามัคคีกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่ได้เป็นดังนั้นเลย สังคมยิ่งเพิ่มความแตกแยกจากนโยบายของรัฐบาล Margaret Thatcher เราลองมาดูนโยบายต่างๆ ของเธอกัน

 

นโยบายของรัฐบาล Margaret Thatcher 

ในตอนที่ Margaret Thatcher ได้เข้ารับตำแหน่ง อังกฤษประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมากมาย อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นเลขสองหลัก สหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลสูงที่สามารถต่อรองการขึ้นค่าแรงจนทำให้ประเทศเป็นอัมพาตได้หากมีการสไตรก์หยุดงาน และหนี้สินรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง 

 

ทั้งนี้ตั้งแต่สงครามโลกสิ้นสุดลง รัฐบาลอังกฤษบริหารประเทศโดยเชื่อมั่นในหลักการแบบ Keynesian คือเสถียรภาพของเศรษฐกิจเกิดจากการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล รัฐบาลสามารถทำให้ทุกคนมีงานทำได้ (Full Employment) การที่ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ปัญหา 

 

สำหรับรัฐบาล Margaret Thatcher นั้นไม่เชื่อในความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐ แต่เชื่อในนโยบายของ Free Market คือ ภาครัฐควรจะมีบทบาทลดลงในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้ที่จัดสรรทรัพยากรได้ที่สุด หน้าที่นั้นต้องเป็นของภาคเอกชน Margaret Thatcher จึงเลือกดำเนินนโยบายที่ลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลง 

 

ส่วนในเรื่องวิกฤตเงินเฟ้อ รัฐบาล Margaret Thatcher ได้นำระบอบ Monetarism ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล Milton Friedman เป็นหนึ่งในผู้นำความคิดว่า ถ้าจะควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ เราต้องคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วงแรกของรัฐบาล Margaret Thatcher ได้มีการตั้งเป้าปริมาณเงิน เช่น M3 และมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว 

 

โดยในปลายปี 1979 ดอกเบี้ยนโยบายได้ขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 17 เพื่อจะลดปริมาณเงินและลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมาก ส่งผลให้การส่งออกซบเซาอย่างหนัก ธุรกิจที่พึ่งการส่งออกได้ล้มละลายเป็นจำนวนมาก

 

มาตรการที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อลดเงินเฟ้อส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอังกฤษอย่างมหาศาล ทั้งการขึ้นดอกเบี้ย การลดงบประมาณภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก จำนวนคนว่างงานได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านคนเป็นมากกว่า 3 ล้านคน 

 

แน่นอนที่สุด การดำเนินนโยบายที่ส่งผลรุนแรงอย่างนี้ทำให้ความนิยมของรัฐบาลตกต่ำเรื่อยๆ จน Margaret Thatcher กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อถือน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ รัฐบาลโดนตำหนิเรื่องการบริหารประเทศจากทุกภาคส่วน แม้กระทั่งภายในพรรคอนุรักษ์นิยมเอง สมาชิกพรรคก็เริ่มจะไม่เห็นด้วย นอกจากนั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ 365 คนได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่ได้ตีพิมพ์ใน The Times เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อให้อังกฤษจะสามารถหลุดออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้ได้ 

 

ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการกดดันจากทุกสารทิศให้กลับลำ (The U-Turn) แต่ Margaret Thatcher ไม่นำมาใส่ใจ แถมยังขึ้นภาษี VAT ให้เป็นร้อยละ 15 สร้างความไม่พอใจของประชาชนขึ้นไปอีก และในปี 1980 Margaret Thatcher ได้กล่าวในปาฐกถาที่ยังเป็นที่กล่าวขานถึงในปัจจุบันว่า “You turn if you want to. The lady’s not for turning.” หรือแปลเป็นไทยว่า “พวกคุณเชิญกลับลำหากคุณต้องการ แต่สตรีคนนี้จะไม่กลับ”

 

นี่เป็นการสะท้อนความคิด ความเด็ดเดี่ยว และความเชื่อมั่นในนโยบายที่รัฐบาลดำเนินอยู่ ซึ่งถ้า Margaret Thatcher เชื่อว่ามันเป็นนโยบายที่ถูกต้องและมีประโยชน์กับประเทศ เธอจะไม่หวั่นไหวกับคำวิพากษ์วิจารณ์และการก่นด่าจากทุกฝ่าย เธอเชื่อว่าในการปราบเงินเฟ้อ อังกฤษต้องยอมทานยาขมเพื่อรักษา ไม่เช่นนั้นก็ยังจะคงเป็นผู้ป่วยแห่งยุโรปต่อไป

 

เก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเฮงด้วย

จากคะแนนความนิยมที่ลดลงอย่างมากในตัว Margaret Thatcher ทำให้หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลจะไปไม่รอด และการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคอนุรักษ์นิยมน่าจะพ่ายแพ้แบบย่อยยับเพราะความแข็งกร้าวและการไม่ยอมประนีประนอมของสตรีเหล็ก Margaret Thatcher รวมถึงการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลในปี 1981 ที่มีความรุนแรงมาก 

 

อย่างไรก็ดี โชคชะตาของเธอได้เปลี่ยนไป จากสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ แต่เกิดขึ้นในที่ห่างออกไปถึง 8,000 ไมล์ นั่นคือการที่รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ตัดสินใจบุกเข้ายึดหมู่เกาะ Falklands ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในเดือนเมษายน 1982 Margaret Thatcher ต้องตัดสินใจว่าจะปล่อยหมู่เกาะไป เพราะไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับอังกฤษ หรือจะทำสงครามซึ่งอาจจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ เนื่องจากกว่ากองทัพเรือจะเดินทางไปถึงต้องใช้เวลาอีกราว 6 สัปดาห์  

 

ในเวลาสำคัญที่ Margaret Thatcher ต้องเลือกว่าจะเป็น Chamberlain หรือ Churchill เธอเลือกที่จะเป็น Winston Churchill และนำอังกฤษเข้าสู่สงครามใน 2 วันต่อมา และการที่ Margaret Thatcher เลือกจะทำสงคราม ถึงแม้จะได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง แสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำอย่างสูงของเธอ ซึ่งถ้าอังกฤษแพ้ คงทำให้รัฐบาลคงต้องสิ้นสุดวาระอย่างแน่นอน

 

แต่ในที่สุดหลังจากที่กองทัพเรืออังกฤษได้ถล่มเรือรบ Belgrano ของอาร์เจนตินา ทำให้ชัยชนะตกเป็นของอังกฤษ และสงครามได้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนปีนั้น ซึ่งชัยชนะในสงคราม Falklands ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล Margaret Thatcher จากที่ทุกคนคิดว่ารัฐบาลจะไปไม่รอด ต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน กลายเป็นว่า Margaret Thatcher ทำให้คนอังกฤษกลับมารักชาติและภูมิใจในประเทศตนเองอีกครั้ง จนส่งผลให้เธอกลายเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

นอกจากนั้นนโยบายจัดการกับเงินเฟ้อเริ่มได้ผลในปี 1982 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับชัยชนะที่หมู่เกาะ Falklands ทำให้ Margaret Thatcher มั่นใจและจัดการเลือกตั้งใหญ่ในปี 1983 ซึ่งผลปรากฏว่า Margaret Thatcher ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

 

บทสรุป

เราได้เห็นบทเรียนในการดำเนินนโนบายของ Margaret Thatcher ว่า นโยบายที่ใช่ ที่เหมาะกับการแก้ปัญหาของประเทศ อาจจะเป็นนโยบายที่ทำให้พรรคการเมืองเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ Margaret Thatcher เชื่อมั่นในนโยบายและเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่วอกแวกกับเสียงด่าและเสียงวิจารณ์ 

 

ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจอาจจะใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเห็นผล อย่างในกรณีของ Margaret Thatcher ผลงานเริ่มปรากฏในปี 1982 ซึ่งกินเวลากว่า 3 ปี และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีผู้เสียผลประโยชน์ในประเทศเลย อย่างในกรณีของอังกฤษ มีผู้คนตกงานเพิ่มขึ้นกว่าเกือบ 2 ล้านคน แต่โดยรวมมันทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ 

 

นั่นละครับ แต่ถ้าไม่มีโชคช่วยในสงคราม Falklands รัฐบาล Margaret Thatcher คงล่มสลายไปอย่างรวดเร็ว และ Margaret Thatcher คงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 11 ปี และอยู่แก้ปัญหาต่างๆ อีกมากมายในประเทศ 

 

เราคงได้แต่หวังให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่ดีกับประเทศ ถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ในที่สุดได้ทำให้ประเทศไปรอดได้ ในระบอบประชาธิปไตย การดำเนินนโยบายที่คนด่าทั้งประเทศเสมือนเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่คงไม่ยอมทำ แต่ไม่ช้าก็เร็วเราคงต้องการผู้นำอย่าง Margaret Thatcher ที่มาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ ทำผลงานเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป  

 

ในบทความหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงนโยบายของ Margaret Thatcher 2 หลังจากที่ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 1983 กันครับ

 

อ้างอิง:

  • เพจ Bnomics
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X