×

สงครามสีแดง ความรักและความลับของสองคู่ปรับตลอดกาล แมนยูฯ-ลิเวอร์พูล

09.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • สงครามระหว่างสองเมืองที่มีความเจ็บแค้นมาตั้งแต่สมัยวิกตอเรีย และตั้งตนเป็นคู่แข่งกันมาตลอดทั้งเรื่องของการค้า อุตสาหกรรม เรื่อยมาจนถึงตัวโน้ตและดนตรี มันก็มีบางเรื่องและบางแง่มุมของความสัมพันธ์ที่อ่อนโยนหลบซ่อนอยู่
  • แมตต์ บัสบี คนแรกและคนเดียวที่เป็นขวัญใจที่ลิเวอร์พูล และเป็นตำนานตลอดกาลที่แมนเชสเตอร์
  • ประวัติศาสตร์ที่หลายคนไม่ทราบคือ แมนยูฯ เคยเล่นเกมเหย้าโดยใช้แอนฟิลด์ สนามของลิเวอร์พูลด้วย

​“ลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์นั้นมีความแตกต่างกันมาก แต่ก็มีความคล้ายคลึงในเวลาเดียวกัน ทั้งสองเมืองต่างมีรากเหง้า ผู้คนที่ซื่อตรง ผู้คนที่รักการทำงานหนัก เป็นคนง่ายๆ และเหนืออื่นใดก็คือฟุตบอล มันจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าแค่ความเกลียดชัง”

ประโยคข้างต้นมาจากตอนหนึ่งในเรื่อง More Complicated Than Hate ที่ถ่ายทอดโดย แกรี เนวิลล์ แมนคูเนียน (สายเลือดชาวเมืองแมนเชสเตอร์) ที่เหล่าสเกาเซอร์ (สายเลือดชาวเมืองลิเวอร์พูล) เกลียดชังมากที่สุดคนหนึ่งครับ

สิ่งที่เนวิลล์บอกเล่ามาถือว่าไม่ผิดไปจากนั้นครับ ​เพราะถึงแม้ว่าเรื่องระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูลคือเรื่องราวของสองสโมสรฟุตบอลที่เป็นคู่ปรับกันตลอดกาล เป็นคู่แข่งกันตลอดมา และจะเป็นคู่แค้นกันตลอดไป ที่จะไม่มีวันลงเอยกันด้วยดีแล้ว

แต่ในสงครามระหว่างสองสโมสร หรือในความเป็นจริงคือสงครามระหว่างสองเมืองที่มีความเจ็บแค้นมาตั้งแต่สมัยวิกตอเรีย และตั้งตนเป็นคู่แข่งกันมาตลอดทั้งเรื่องของการค้า อุตสาหกรรม เรื่อยมาจนถึงตัวโน้ตและดนตรี มันก็มีบางเรื่องและบางแง่มุมของความสัมพันธ์ที่อ่อนโยนหลบซ่อนอยู่

ไม่ต่างอะไรจากความรักเล็กๆ ในรอยแค้น ​ซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจ ​ขณะที่บางเรื่องราวก็เดินทางผ่านกาลเวลามานานจนทำให้ผู้คนหลงลืมไป และแทบไม่เหลือใครที่รู้ว่าเคยมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นด้วย

วันนี้จึงขออนุญาตเก็บมาบอกเล่า เผื่อจะเข้าใจในอีกด้านของสงครามสีแดงได้มากขึ้นครับ 🙂

 

 

ขวัญใจที่ลิเวอร์พูล ตำนานตลอดกาลที่แมนเชสเตอร์
ความบาดหมางระหว่างแมนเชสเตอร์​และลิเวอร์พูลไม่ใช่ความลับดำมืด เพราะทั้งสองเมืองนั้นแข่งขันกันทุกด้านมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ครับ หากแต่เป็นการแข่งขันกันในเรื่องของเกมอำนาจและการค้า ที่ต่างผลัดกันขึ้นมาเป็นเมืองมหาอำนานของอังกฤษ

จนกระทั่งคลองสายเล็กๆ ที่มีความยาว 36 ไมล์ที่มีชื่อว่า Manchester Ship Canal จะทำให้ทั้งสองเมืองไม่อาจเกี่ยวดองและมองตากันได้อีกต่อไป เพราะมันหมายถึงการที่แมนเชสเตอร์ตัดเส้นเลือดใหญ่ปล่อยให้ลิเวอร์พูลที่หายใจด้วยกิจการท่าเรือต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน

แรงแค้นนั้นร้อนดั่งไฟนรก และมันถูกถ่ายทอดต่อมายังสนามหญ้าและลูกหนังกลมๆ

นิวตัน ฮีธ (ชื่อเดิมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) และลิเวอร์พูล ฟุตบอล คลับ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของชาวเมือง เป็นกระจกสะท้อนความหวัง แรงปรารถนา ความกลัว และเหนืออื่นใดคือความเกลียดชังที่มีระหว่างกัน ทุกความรู้สึกคือเกิดขึ้นในการพบกันของทั้งสองสโมสร และทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษมีสโมสรคู่ปรับแบบที่พวกเขาไม่เคยมีมาก่อน

นับตั้งแต่การพบกันครั้งแรกในเกม Test Match เมื่อปี 1894 เพื่อหาสโมสรที่จะอยู่ในดิวิชันสูงสุดในฤดูกาลต่อไป ระหว่าง นิวตัน ฮีธ ทีมบ๊วยของดิวิชันแรก และลิเวอร์พูล แชมป์ของดิวิชันรอง ​จวบจนมาถึงปัจจุบันเพลิงแค้นนั้นยังลุกโชนและไม่เคยดับลง

แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า ระหว่าง ‘ปีศาจแดง’ และ ‘หงส์แดง’ นั้น พวกเขามีจุดเชื่อมโยงระหว่างกันที่น่าอัศจรรย์

 

จุดเชื่อมโยงนั้นคือ แมตต์ บัสบี ชายผู้ที่เราต่างรับรู้กันว่าเป็นหนึ่งในตำนานตลอดกาลแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ด

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้ว่าบัสบีครั้งหนึ่งเคยเป็นยอดขวัญใจของลิเวอร์พูลมาก่อน ชายผู้เกิดมาเพื่อเป็นตำนานคนนี้เดินทางจากบ้านเกิดที่สกอตแลนด์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอลให้ได้แม้ว่าจะต้องปฏิเสธโอกาสจะเดินทางไปอเมริกาเพื่อโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่กับแม่ ซึ่งสโมสรแรกที่เขาเลือก (และเลือกเขา) คือแมนเชสเตอร์ ซิตี้

ที่นั่น บัสบีเริ่มต้นจากการเซ็นสัญญา 1 ปี รับเงินสัปดาห์ละ 5 ปอนด์ เมื่อปี 1928 ก่อนจะแจ้งเกิดเป็นดาวเด่นของทีมได้สำเร็จ ทำให้มีหลายสโมสรที่สนใจจะคว้าตัวไปร่วมทีม โดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เมื่อยูไนเต็ดสู้ค่าตัวที่ซิตี้เรียกมา 150 ปอนด์ไม่ไหว ไอ้หนุ่มแมตต์จึงต้องอยู่กับทีมต่อไป

จนกระทั่งลิเวอร์พูลยื่นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ด้วยเงิน 8,000 ปอนด์ บัสบีจึงย้ายมาอยู่ในแอนฟิลด์ และกลายเป็นกำลังสำคัญของทีมในแนวรับ ​เขาเก่งถึงขนาดที่ Liverpool Echo หนังสือพิมพ์ประจำเมืองยกย่องว่านี่คือ ‘เซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสง่างามที่สุดบนเกาะอังกฤษ’

แต่นอกจากฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมแล้ว ผู้คนต่างรักแมตต์ บัสบี ในความเป็นสุภาพบุรุษและผู้นำที่ดี

 

ในฐานะกัปตันทีม บัสบีจะให้การดูแลนักเตะน้องใหม่ทุกคนในทีมอย่างใกล้ชิด และหนึ่งในนั้นคือ บ็อบ เพสลีย์ ไอ้หนูที่ย้ายมาจากบิชอป โอ๊คแลนด์ โดยไม่มีใครรู้ในวันนั้นว่า ไอ้หนูคนนี้คือคนที่จะกลายเป็นหนึ่งในตำนานผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ เทียบเคียงกับตัวเขาในอีกหลายสิบปีต่อมา

ถึงแม้ชะตาชีวิตจะทำให้บัสบีต้องจากลิเวอร์พูลไปด้วยความจำใจ (เพราะขัดแย้งกับผู้บริหาร และทำให้ไม่มีแม้แต่เกมอำลาแฟนๆ ที่แอนฟิลด์ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่บัสบีเจ็บปวดมาก) ก่อนได้ไปทดสอบความสามารถของตัวเองกับแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด ทีมที่เขาแสดงให้เห็นถึงปรัชญาการเล่นฟุตบอลที่ยอดเยี่ยม และสร้างทีมจนยิ่งใหญ่
​แต่ถึงแม้หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบจะคั่นกลาง มันไม่ได้ทำให้ไมตรีที่เกิดขึ้นระหว่างบัสบีและเพสลีย์ต้องตายไปด้วย

 

ในทางตรงกันข้ามไมตรีของทั้งสองเป็นอมตะ และอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เป็นเรื่องราวมิตรภาพของสองสุภาพบุรุษลูกหนังที่มีชีวิตเพื่อเกมฟุตบอลเท่านั้น โดยเฉพาะกับแมตต์ บัสบี คนแรกและคนเดียวที่เป็นขวัญใจที่ลิเวอร์พูล และเป็นตำนานตลอดกาลที่แมนเชสเตอร์

 

 

มือที่ยื่นมาในวันน้ำตานองแผ่นดิน
​ว่ากันว่าความริษยาคือที่มาของพลังความแค้นไร้ขีดจำกัดระหว่างแมนเชสเตอร์​และลิเวอร์พูล ‘​พวกเอ็งจะดีกว่าข้าไม่ได้ ข้าไม่ยอม’ เขาคิดกันแบบนี้ และมันกลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเมืองทั้งสอง

ในเกมฟุตบอลก็เช่นกันครับ ความริษยาคือแรงผลักดันที่มีพลังมากมายมหาศาล ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล พวกเขาต่างผลัดกันขึ้นและลง ผ่านช่วงเวลาที่ดีและร้าย โดยเฉพาะในวันที่ตกต่ำ สิ่งที่เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้มีกำลังใจลุกขึ้นสู้คือความรู้สึกที่ทนเห็นทีมคู่แข่งได้ดีกว่า หรือเป็นที่สนใจมากกว่าไม่ได้ เรื่องนี้เองที่เป็นที่มาของความแตกหักกันทางความรู้สึกนับตั้งแต่เข้ายุค 1970 เป็นต้นมา จวบจน ณ เข็มนาฬิกาเดินไป

แต่บนเหตุผลของความเกลียดชัง แมนเชสเตอร์และลิเวอร์พูล ยังมี ‘น้ำใจ’ ให้แก่กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในวันที่มืดมนอนธการ

มือแรกที่หยิบยื่นมือให้จะไม่ใช่มือใครอื่นนอกจากทีมที่พวกเขาเรียกกันว่าเป็นคู่ปรับตลอดกาลนั่นเองครับ

ย้อนกลับไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 ในวันมหาวิปโยคกับเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามบินในเมืองมิวนิค ที่คร่าลมหายใจผู้โดยสารและลูกเรือในเครื่องไปกว่า 23 คน

 

​8 ในนั้นคือ บัสบี เบบส์ ที่จากไปก่อนวัยอันควร ซึ่งรวมถึง ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส กองหน้าซูเปอร์สตาร์ที่เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลด้วย

 

​ทันที่ที่รู้เรื่อง ลิเวอร์พูลรีบติดต่อไปยังแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดทันที พร้อมข้อเสนอให้ยืมผู้เล่นในทีมชุดใหญ่มากถึง 5 คน (2 ในนั้นเป็นตัวจริงของทีม) โดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมออกค่าใช้จ่ายให้ด้วย

พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่มอบ ‘กำลังใจ’ แต่ต้องการให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ ‘กำลังพล’ ในภารกิจการฟื้นฟูสโมสรที่ต้องกินระยะเวลายาวนานด้วย

 

จากความช่วยเหลือในวันนั้น สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นในอีก 10 ปีต่อมา แมตต์ บัสบี นำ ‘ปีศาจแดง’ คว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพได้สำเร็จ และเป็นหนึ่งใน ‘เทพนิยายลูกหนัง’ ที่โรแมนติกที่สุดครับ

 

​ต่อมาในปี 1989 เมื่อถึงคราที่ลิเวอร์พูลต้องเจอวันมหาวิปโยคบ้างจากเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร ที่มีแฟนฟุตบอลเดอะ ค็อป เสียชีวิตถึง 96 คน

 

คนแรกที่ต่อสายหา เคนนี ดัลกลิช นายใหญ่แห่งแอนฟิลด์ในวันนั้นคือ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

 

เฟอร์กี้ไม่ได้ต่อสายมาเพียงเพื่อแสดงความเสียใจ หากแต่เขายืนยันว่าหากมีสิ่งใดที่ ลิเวอร์พูลต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่าง แม้กระทั่งการจัดกลุ่มแฟนฟุตบอลเพื่อมาวางดอกไม้และผ้าพันคอที่สนามแอนฟิลด์เพื่อร่วมไว้อาลัยและแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์

เมื่อถึงคราวที่ลิเวอร์พูลจัดพิธีอาลัยต่อผู้เสียชีวิตทั้ง 96 คน สโมสรที่มาเยือนในวันนั้นคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยในหนังสือโปรแกรม เฟอร์กี้ขอร้องให้แฟนๆ ทุกคนให้เกียรติต่อผู้จากไป ซึ่งผลปรากฏว่าวันนั้นทั้งนักเตะปีศาจแดง แฟนๆ เรดเดวิลส์ สตาฟฟ์โค้ช ทุกคนที่มาจากแมนเชสเตอร์ร่วมลุกขึ้นยืนไว้อาลัยอย่างผู้มีอารยะ เป็นการแสดงออกว่า ต่อให้จะแข่งขันกันมากแค่ไหน จะไม่ชอบหน้ากันอย่างไรในเกมกีฬา แต่หากถึงเวลาที่จำเป็น ทั้งสองสโมสรพร้อมจะยืนเคียงข้างกันเสมอด้วยสองมือที่กุมกันแน่น

 

 

แมนเชสเตอร์ ยูไเนต็ด กับการเป็นเจ้าบ้านที่แอนฟิลด์
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1971 ทีมในชุดแดงเดินลงสนามพร้อมเสียงปรบมือต้อนรับจากแฟนฟุตบอลในชุดแดงและขาวบนอัฒจันทร์ สปิออน ค็อป หรือค็อป เอนด์ อันลือลั่นของสนามแอนฟิลด์

เพียงแต่ทีมที่ลงสนามเป็นเจ้าบ้านในวันนั้นไม่ใช่ลิเวอร์พูล

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่างหากที่ลงสนามเป็นเจ้าบ้าน และย้ำว่าเป็นเจ้าบ้านที่แอนฟิลด์

เรื่องนี้เป็นบันทึกลับที่สูญหายของหน้าประวัติศาสตร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล โดยเฉพาะฝ่ายแรกที่ไม่มีใครที่อยากจะจำ

“ผมจำไม่ได้” เป็นคำตอบของอลัน โกว์ลิง ผู้ทำประตูให้ยูไนเต็ดในวันนั้น เป็น 1 ในประตูที่ช่วยให้ทีมเอาชนะอาร์เซนอลได้ 3-1 (บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ทำประตูได้จากลูกฟรีคิกด้วยในเกมนี้)

“ยูไนเต็ดลงเล่นเกมในบ้านที่แอนฟิลด์? อย่าพูดอะไรบ้าๆ น่า” น้ำเสียงของอลัน โกว์ลิง ยังคงไม่เชื่อเหมือนเดิม เช่นกันกับ เดวิด แซดเลอร์ หอบัญชาการในแนวรับของปีศาจแดงที่บอกสั้นๆ ว่า “ผมไม่ยักจำได้” ก่อนจะถามกลับว่า “ผมลงด้วยเหรอ?”

แซดเลอร์โยนให้ อเล็กซ์ สเต็ปนีย์ ยอดนายทวารของทีมว่าน่าจะจำได้ ซึ่งปรากฏว่า สเต็ปนีย์จำได้แต่เพียงรางๆ ความทรงจำในกล่องที่เขาค้นเจอมีเพียงแค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดถูกสั่งห้ามลงเล่นในโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นจำนวน 2 นัด แต่เขาจำไม่ได้เลยว่า 2 นัดนั้นมันที่ไหนบ้าง

เอาเข้าจริงสาเหตุที่ทำให้ปีศาจแดงต้องมาเล่นในรังหงส์แดงในครั้งนั้นมาจากการที่ปัญหาแฟนบอลฮูลิแกน ผู้ใช้กล้ามเนื้อตัดสินปัญหามากกว่าสมอง (ก็เล่นปามีดลงมาตกที่อัฒจันทร์ฝั่งทีมเยือนในเกมลีกนัดสุดท้ายของแมตต์ บัสบี คิดดู!) ทำให้ถูกเอฟเอลงโทษด้วยการสั่งห้ามเล่นเกมในบ้านที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นจำนวน 2 นัดในช่วงเปิดฤดูกาล 1971-1972 ซึ่งพวกเขาได้ แฟรงก์ โอฟาร์เรลล์ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่

 

หนึ่งในนั้นคือการเล่นที่สนามวิกตอเรีย กราวด์ ของทีมสโต๊ค ซิตี้ และอีกหนึ่งคือการเล่นในแอนฟิลด์ ที่กลายเป็นแมตช์ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากจำ

แต่คนหนึ่งที่จำได้แม่นคือ จอร์จ เซฟตัน เจ้าของสมญา The Voice of Anfield โฆษกประจำสโมสรที่ในเวลานั้นเพิ่งจะเริ่มต้นทำงานได้เพียงสัปดาห์เดียว

“ผมจำได้ว่าสนามนั้นว่างไปถึงครึ่งหนึ่ง” เซฟตันรำลึกความหลังที่คนอยากลืมแต่เขาไม่เคยลืม “บรรยากาศมันสยองๆ หน่อย ผมก็เพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน แล้วเกมนี้ก็เป็นเกมที่พิเศษ มันเป็นเกมในคืนวันศุกร์ด้วย ดังนั้นบรรยากาศมันก็จะเงียบสงบหน่อย”

อีกเรื่องที่หลายคนอาจจะอยากรู้คือ การลงสนามในฐานะเจ้าบ้านของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่แอนฟิลด์นั้นมีเสียงเพลง You’ll Never Walk Alone ดังขึ้นก่อนลงสนามหรือไม่

เรื่องนี้เซฟตันให้ฟ้าดินเป็นพยานว่าเขาไม่ได้เปิดเพลงในตำนานนี้อย่างแน่นอน เพราะบทเพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำทีมของลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 1963 แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเปิดเพลงนี้ในเกมแบบนี้

อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นความบาดหมางระหว่างทั้งสองสโมสรและแฟนบอลของสองทีมไม่ได้รุนแรงมากนัก เพราะสำหรับลิเวอร์พูล คู่แข่งตัวจริงในวันนั้นคือเอฟเวอร์ตัน และมันยังเป็นยุคสมัยที่แมนคูเนียนสามารถยืนเชียร์ฟุตบอลเคียงข้างกับสเกาเซอร์ได้อย่างสบายใจบนค็อป เอนด์ ​แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนั้นคงไม่มีวันเกิดขึ้นในวันนี้ครับ

และดูเหมือนมันเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ไม่มีใครในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอยากจดจำเช่นกัน

​ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่ใช่ทั้งหมดในเรื่องราวของสองคู่ปรับแห่งถนนสาย M62 (ทางด่วนที่เชื่อมระหว่างสองเมืองเข้าด้วยกัน) ยังมีเรื่องราวอีกมากที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องความขัดแย้ง ความโกรธชัง ความแค้นที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองสโมสรและแฟนบอลสองทีม

Red War ‘สงครามสีแดง’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในนาม ‘แดงเดือด’ (ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกตั้งโดย ศิริ อัครลาภ ตำนานนักเขียนลูกหนังรุ่นเดอะ ที่ตั้งเป็นชื่อกิจกรรมชมฟุตบอลบนจอยักษ์หนแรกๆ ในเมืองไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน) เป็นเกมที่มีทุกอย่าง
​มันซับซ้อนมากกว่าแค่ความเกลียดชัง เป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่มีวันเหมือนใคร

Photo: pollemma.com

อ้างอิง:

FYI
  • เมื่อครั้งที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้าชิงแชมป์ยูโรเปียนคัพ Liverpool Echo เขียนอวยพรให้แก่คู่ปรับต่างเมืองว่า ‘วงการฟุตบอลอังกฤษควรภูมิใจกับทีมยูไนเต็ดที่ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคว้าถ้วยที่ แมตต์ บัสบี ปรารถนามากที่สุดมากกว่าถ้วยรางวัลใบไหน มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานกว่าพวกเขาจะมาถึงจุดสูงสุดของยุโรป และไม่มีใครที่จะรู้สึกแย่ที่จะเห็นพวกเขาเป็นทีมจากอังกฤษ ทีมแรกที่ทำได้สำเร็จ’ แน่นอนว่าบัสบีและยูไนเต็ดทำได้สำเร็จครับ ด้วยการล้มเบนฟิกา
  • 9 ปีถัดมา ถึงจะดับฝันลิเวอร์พูลที่จะคว้า 3 แชมป์ไปแล้วด้วยการแย่งคว้าแชมป์เอฟเอคัพไปก่อน แต่แฟนๆ ปีศาจแดงก็ร่วมกันตะโกนเชียร์ ‘ลิเวอร์พูล ลิเวอร์พูล ลิเวอร์พูล’ ในระหว่างที่ บ็อบ เพสลีย์ นำทีมเดินขอบคุณแฟนๆ ทั่วสนาม พร้อมอวยพรส่งท้ายให้แก่ผู้แพ้ในวันนั้นว่า ‘โชคดีนะลิเวอร์พูล’ ก่อนที่ลิเวอร์พูลจะคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสมัยแรกได้สำเร็จ ด้วยการล้มโบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัคในนัดชิงชนะเลิศ
  • และคนที่เป็นผู้แนะนำ บิลล์ แชงค์ลีย์ บิดาผู้วากรากฐานความยิ่งใหญ่ของลิเวอร์พูลให้ได้เข้ามาทำงานที่แอนฟิลด์ก็คือ แมตต์ บัสบี
  • สตีเวน เจอร์ราร์ด เล่าว่า สมัยเด็กๆ เตะฟุตบอลเล่นกับเพื่อนที่มีเสื้อของ ไบรอัน ร็อบสัน (สุดยอดตำนานกัปตันมาร์เวลของยูไนเต็ด) วันนั้นเจอร์ราร์ดถามเพื่อนว่า เขาขอยืมใส่เล่นเป็นร็อบโบ้สักแป๊บได้ไหม พอพ่อได้ยินก็สติขาดทันที
  • ครั้งหนึ่ง แกรี เนวิลล์ เคยบอกว่า “ผมไม่สามารถจะยืนอยู่กับพวกลิเวอร์พูลได้ ผมทนไม่ได้ เพราะตอนที่ผมโตมามันเป็นช่วงที่เราอิจฉาริษยากันแรงมาก ซึ่งความจริงก็คือผมอิจฉาความสำเร็จทุกอย่างของพวกเขา”
  • และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เนวิลล์ผู้พี่แสดงออกด้วยการวิ่งระยะทาง 60 หลาไปฉลองประตูชัยของริโอ เฟอร์ดินานด์ในช่วงท้ายเกมต่อหน้าเดอะ ค็อป ที่ตามมาเชียร์ลิเวอร์พูลที่โอลด์แทรฟฟอร์ด จนโดนปรับเงินถึง 5,000 ปอนด์​ ซึ่งเนวิลล์ยืนยันว่า ถ้าให้เลือกใหม่เขาก็ทำเหมือนเดิม และพร้อมจ่ายค่าปรับมากกว่านี้อีกพันเท่าก็ได้!
  • แต่ในปัจจุบัน เนวิลล์ต้องทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ร่วมกับเจมี คาร์ราเกอร์ สเกาเซอร์ที่เกลียดเขามากที่สุด (และเขาก็เกลียดเช่นกัน)
  • สตีฟ ค็อปเปลล์ ปีกดาวดังของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในยุค 70-80 เป็นสายเลือดสเกาเซอร์แต่กำเนิด
  • นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรกันมา มีนักฟุตบอลแค่ 9 คนเท่านั้นที่ย้ายระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล โดยคนสุดท้ายคือ ฟิล คริสนอลล์ ที่ย้ายไปแอนฟิลด์ด้วยค่าตัว 25,000 ปอนด์
  • มีนักเตะไม่กี่คนที่เคยเล่นให้ทั้งยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล แต่หนึ่งในคนที่หลายคนไม่ทันคิดคือ ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ ขวัญใจเดอะ ค็อป
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising