×

‘พ่อมดน้อย’ ออสการ์ บ็อบบ์ ไอ้หนูมหัศจรรย์คนใหม่ของแมนฯ ซิตี้

17.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • “พวกเราเรียกเขาว่าพ่อมดน้อย เพราะเขาเป็นพ่อมดจริงๆ” อาเซรุดบอกเล่าถึงเด็กหนุ่มที่ได้เข้ามาอยู่กับอะคาเดมีของลินตอนอายุ 11 ขวบ แต่ต้องเล่นให้ทีมรุ่นอายุต่ำกว่า 14 ปี เรียกว่าชกข้ามรุ่นมาตั้งแต่เด็ก
  • สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นที่อาเซรุดบอกคือ เด็กคนนี้ไม่เคยหยุดเล่นในเกมของตัวเองเลย ความเชื่อมั่นที่แรงกล้าทำให้เขาเอาชนะได้ ไม่เพียงแต่ชนะคู่แข่ง แต่ยังชนะใจตัวเองด้วยที่ไม่กลัวอุปสรรคไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน
  • ช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เองที่เป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ทำให้เด็กคนนี้ดูโตกว่าวัย (และตัว) มาก เพราะจากที่เคยเป็นดาวเด่นที่ถูกจับตามองมาตลอด จู่ๆ ชีวิตก็พลิกผันให้ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมากๆ

ย้อนกลับไปในเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกมใหญ่ที่เร้าใจและถูกพูดถึงมากที่สุดย่อมเป็นการพบกันระหว่างนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

เกมดังกล่าวเป็นเกมที่ เควิน เดอ บรอยน์ กลับมาประกาศศักดาให้พรีเมียร์ลีกสั่นสะท้านอีกครั้ง ด้วยการใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีในการทำประตูไล่ตีเสมอให้ทีมได้สำเร็จ หลังจากพยายามเจาะทะลวงเกมรับของเจ้าบ้านอยู่นานแต่ไม่สำเร็จ

 

ก่อนที่มิดฟิลด์อัจฉริยะในวัย 33 ปี จะมีส่วนกับการตัดสินเกมเมื่อวางบอลเข้าเขตโทษอย่างแม่นยำ ซึ่งกลายเป็นแอสซิสต์สำคัญช่วยให้แชมป์เก่าพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่แม้จะทุ่มเททุกอย่างแล้วแต่สุดท้ายก็ต้านทานไม่สำเร็จ

 

ผลงานดังกล่าวทำให้คนพูดถึงเดอ บรอยน์ เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่อีกคนหนึ่งที่น่าประทับใจเช่นกันคือ ไอ้หนูมหัศจรรย์ ออสการ์ บ็อบบ์ ที่ถูกส่งลงสนามมาในฐานะตัวสำรอง ทั้งๆ ที่บนม้านั่งยังมีนักเตะค่าตัว 100 ล้านปอนด์อย่าง แจ็ค กรีลิช อยู่ด้วย และทำประตูสุดสวยได้ชนิดที่เห็นก็รู้ว่าเก่งเกินวัย

 

เด็กคนนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใครมาจากไหนกัน?

 

 

พูดถึงจังหวะประตูดังกล่าว แน่นอนว่าต้องชมเดอ บรอยน์ ที่ใช้สกิล ‘เท้าชั่งทอง’ วางบอลด้วยน้ำหนักและทิศทางที่พอดีเป๊ะ

 

แต่ดาวรุ่งอย่างบ็อบบ์ก็ไม่ได้สุดยอดน้อยไปกว่ากัน เพราะนอกจากจะแอบลอบมาทางข้างหลังของ คีแรน ทริปเปียร์ ที่เสียท่าในจังหวะนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงทักษะการเล่นที่เหนือคำว่าธรรมดาไปมาก ทั้งจังหวะของการดูดบอลลงที่นอกจากจะนิ่มนวลแล้ว ยังนิ่งและรักษาความสมดุลของร่างกายได้อย่างเหลือเชื่อ

 

จากนั้นคือการใช้ความสามารถเฉพาะตัวเลี้ยงหลอก มาร์ติน ดูบราฟกา ซึ่งพยายามออกมาเซฟด้วยท่า Scissors ซึ่งเป็นท่าที่เป็นเอกลักษณ์ของ ซีเนดีน ซีดาน ก่อนจิ้มบอลเข้าประตูไป

 

ไอ้หนูคนนี้ไม่ธรรมดา!

 

แต่สำหรับคนที่เห็นบ็อบบ์มาตั้งแต่อ้อนแต่ออกอย่าง มิคาล อาเซรุด ผู้ดูแลทีมเยาวชนของสโมสรลินในประเทศนอร์เวย์แล้ว ลูกเล่นพวกนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นกันชินตา เพราะเท้าซ้ายของบ็อบบ์ราวกับเป็นคทาวิเศษ​

 

“พวกเราเรียกเขาว่าพ่อมดน้อย เพราะเขาเป็นพ่อมดจริงๆ” อาเซรุดบอกเล่าถึงเด็กหนุ่มที่ได้เข้ามาอยู่กับอะคาเดมีของลินตอนอายุ 11 ขวบ แต่ต้องเล่นให้ทีมรุ่นอายุต่ำกว่า 14 ปี เรียกว่าชกข้ามรุ่นมาตั้งแต่เด็ก

 

“ทีมชุดนั้นเป็นทีมที่เปี่ยมด้วยผู้เล่นพรสวรรค์มาก แต่เขาก็ยังเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นของทีมชุดนั้นอีก”

 

ความจริงชื่อเสียงของไอ้หนูบ็อบบ์คนนี้โด่งดังในแวดวงลูกหนังเยาวชนนอร์เวย์มาสักพักและดังพอตัวทีเดียว และถือเป็นโชคสำหรับอาเซรุด และลิน ซึ่งเป็นสโมสรที่อยู่ในบ้านเกิดของเด็กคนนี้เพราะอยู่ในเมืองออสโลพอดี ที่ได้ตัวเขามาร่วมทีม

 

ที่ว่าดังนั้นดังขนาดไหน?

 

ต้องบอกว่าดังในระดับที่เวลาลินไปแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับประเทศที่ไหนก็ตาม จะมีทั้งแมวมองจากทีมอื่น ไปจนถึงพ่อแม่ผู้ปกครองของนักฟุตบอลหลายคน เดินทางมาเพื่อนั่งดูเกมของลิน เพียงเพราะอยากจะเห็นกับตาว่าบ็อบบ์ที่ว่าเก่งเนี่ยเก่งจริงไหม

 

“ผมในฐานะโค้ช เวลายืนคุมทีมข้างสนามก็จะได้ยินบ่อยๆ ว่านั่นไง ออสการ์ บ็อบบ์ แล้วคนพวกนี้ก็จะนั่งดูเกมไปด้วยเลย”

 

 

แต่แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นเด็กเทพก็จะต้องเจอคู่แข่งที่เตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อหยุดเขาให้ได้ ในช่วงนั้นบ็อบบ์ก็เจอของหนักอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการส่งตัวมาประกบ การพยายามเล่นหนักเพื่อข่มไม่ให้กล้าเล่น

 

ลำพังต้องเจอนักเตะที่อายุมากกว่า 2 รุ่นก็ยากอยู่แล้วสำหรับบอลเด็ก บ็อบบ์ยังรูปร่างเล็กมาก ซึ่งบางทีด้วยวัยที่อ่อนกว่า เจอเด็กหนวดพยายามข่มแบบนี้บางคนอาจจะหงอ

 

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับบ็อบบ์ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นที่อาเซรุดบอกคือ เด็กคนนี้ไม่เคยหยุดเล่นในเกมของตัวเองเลย

 

ความเชื่อมั่นที่แรงกล้าทำให้เขาเอาชนะได้ ไม่เพียงแต่ชนะคู่แข่ง แต่ยังชนะใจตัวเองด้วยที่ไม่กลัวอุปสรรคไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน

 

บททดสอบไอ้หนูคนนี้ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะฝีเท้าที่โดดเด่นทำให้หลายสโมสรสนใจที่จะดึงตัวเข้าร่วมทีม ซึ่งมีสโมสรยักษ์ใหญ่อย่างเรอัล มาดริด ด้วย

 

แต่บ็อบบ์ต้องไปโปรตุเกสตามคุณแม่ที่เป็นนักแสดง (ใช่ มีแม่เป็นดารา!) ซึ่งเซ็นสัญญาการแสดงในประเทศโปรตุเกสหลายโปรเจกต์ด้วยกัน

 

การโยกย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นในปี 2015 โดยที่หลังจากนั้น 3 เดือน ปอร์โต สโมสรฟุตบอลชื่อดัง ได้ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนบ็อบบ์เป็นนักเตะในสโมสร โดยใช้เหตุผลว่าแม้จะเป็นผู้เยาว์ แต่ก็ย้ายมาตามแม่ที่ย้ายมาทำงานในประเทศโปรตุเกส มิใช่การย้ายตามลูกชายที่จะมาเล่นฟุตบอลแต่อย่างใด

 

ปรากฏว่า FIFA ปฏิเสธที่จะอนุญาตในครั้งแรก

 

ความพยายามครั้งใหม่เป็นการขอให้บ็อบบ์ได้เข้าเรียนในโรงเรียนฟุตบอลเอร์มานี กอนซัลเวส ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองปอร์โตเหมือนกัน แต่ FIFA ก็ยังไม่อนุญาตอีกเหมือนเดิม (เป็นเรื่องของกฎที่ป้องกันไม่ให้เด็กต้องตกเป็นเครื่องมือในการหากินของเอเจนต์และสโมสรฟุตบอล)

 

ความพยายามครั้งสุดท้ายคือการยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) แต่ว่าคำอุทธรณ์ถูกปัดตกไป

 

นั่นหมายความว่าเจ้าหนูบ็อบบ์จะหมดสิทธิ์ลงแข่งขันในรายการอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 ปี

 

หนทางเดียวที่จะได้ลงแข่งคือรายการที่ไม่เป็นทางการให้กับลินซึ่งเขายังมีชื่อลงทะเบียนกับทีมอยู่เท่านั้น

 

2 ปีที่เหมือนหยุดนิ่งยังใจร้ายไม่พอ เมื่อบ็อบบ์กลับมานอร์เวย์ในปี 2017 และย้ายไปเล่นให้กับวาเลเรนกา สโมสรคู่แข่งในเมืองออสโลเหมือนกัน ก็มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนตลอด

 

Oscar Bobb

 

แต่โชคดีที่ฝีเท้าของเขาเข้าตาแมวมองของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และได้โอกาสย้ายมาอยู่ในอะคาเดมีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในเดือนกรกฎาคม 2019

 

เป็นอันยุติช่วงเวลายากลำบากร่วม 4 ปี

 

ช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เองที่อาเซรุด ซึ่งปัจจุบันหันมาเป็นผู้สื่อข่าวให้สำนักข่าว VG ในประเทศนอร์เวย์ บอกว่าเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ทำให้เด็กคนนี้ดูโตกว่าวัย (และตัว) มาก


เพราะจากที่เคยเป็นดาวเด่นที่ถูกจับตามองมาตลอด จู่ๆ ชีวิตก็พลิกผันให้ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมากๆ ซึ่งถ้าไม่แกร่งและตั้งใจมากพอก็มีโอกาสจะหลุดหายไปจากวงการได้เลย แต่บ็อบบ์ผ่านด่านมาได้สำเร็จ ดังนั้นเรื่องของใจเด็กคนนี้ไปไกลกว่าอายุมากแล้ว

 

เมื่อได้โอกาสเขาจึงนิ่งมากพอที่จะควบคุมจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ ให้โฟกัสอยู่กับการทำสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเล่นให้เป็นธรรมชาติของตัวเอง

 

 

บ็อบบ์ที่แทบไม่เป็นที่รู้จักของใครมาก่อน จึงเหมือน ‘ตัวลับ’ ที่จู่ๆ ก็โผล่มาติดทีมชาตินอร์เวย์และทำประตูได้เลยตั้งแต่เกมแรก ก่อนที่จะได้โอกาสในการลงสนามทั้งในแชมเปียนส์ลีก และล่าสุดกับการแจ้งเกิดในพรีเมียร์ลีก

 

ในเกมที่ไม่ง่ายกับการไปเยือนนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และต้องเจอกับฟูลแบ็กมากประสบการณ์อย่าง คีแรน ทริปเปียร์ แต่กลายเป็นเวทีให้เขาได้โชว์ความมหัศจรรย์ที่มีในตัวออกมา

 

แน่แหละว่านี่มันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น หลังจากนี้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมากว่าจะดีพอสำหรับการเบียดขึ้นมาลุ้นชิงตัวจริงในทีมได้ไหม ซึ่งด้วยสไตล์ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กว่าจะก้าวขึ้นมาได้ต้องผ่านการประคบประหงมอีกพอสมควร เหมือนที่ ฟิล โฟเดน เจอ

 

แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็ลงทะเบียนแจ้งเกิดกับนายอำเภอโลกแล้ว

 

ผมชื่อ ออสการ์ บ็อบบ์ โปรดจำชื่อผมไว้ทีนะครับ

 

อ้างอิง:

FYI
  • ครอบครัวของ ออสการ์ บ็อบบ์ พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก คุณแม่ปัจจุบันยังอยู่ที่โปรตุเกสและมีครอบครัวใหม่ มีลูกสาวที่เป็นน้องคนละพ่อ ส่วนคุณพ่อของบ็อบบ์ยังอยู่ที่นอร์เวย์ แต่ทั้งคู่ก็ยังมอบความรักให้แก่บ็อบบ์เหมือนเดิม
  • โชคดีสำหรับเขาที่มีพี่เลี้ยงอย่าง เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ที่แม้อายุมากกว่าไม่กี่ปี แต่ก็ช่วยดูแลกันเป็นอย่างดี อย่างน้อยเป็นคนบ้านเดียวกัน แค่มองตากันก็เข้าใจอยู่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising