×

เคล็ดลับจัดการความเครียดด้วย ‘เฟรมเวิร์กจัดการความเครียด เพิ่มพลังบวก เมื่อ SMEs ต้องเผชิญวิกฤต’ คู่มือเยียวยาจิตใจฉบับเร่งด่วนจาก The SME Handbook by UOB [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2021
  • LOADING...
จัดการความเครียด

การทำตัวเองให้รู้เท่าทันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้อยู่รอดในธุรกิจ บทสรุปจาก THE SME HANDBOOK by UOB พอดแคสต์ใหม่ล่าสุดของ THE STANDARD Podcast ทั้ง 5 เอพิโสดที่ผ่านมา จึงพาผู้ประกอบการ SMEs ไปค้นหาวิธีเอาตัวรอดให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ ผ่านวิธีคิดด้านธุรกิจมากมาย อาทิ การสร้างกลยุทธ์ เช็กลิสต์ปรับธุรกิจให้ทันลูกค้า หลักบริหารการเงินช่วงวิกฤต เทคนิคปรับกลยุทธ์ให้ทันโลกดิจิทัล รวมถึงการบริหาร SMEs แบบ Lean เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ

 

ทว่า การเท่าทันโลกภายนอกยังต้องการแรงเสริมที่ทรงพลังที่สุดนั่นคือ ‘พลังใจ’ จากการรู้เท่าทันภายในตัวเราเอง โดยเฉพาะการรู้เท่าทันความเครียด เพื่อหาวิธีจัดการให้ทัน และบริหารสุขภาพใจให้พร้อมเดินหน้าต่อไปในยุคที่ยากจะคาดเดา จึงเป็นที่มาของบทเรียนส่งท้ายของ THE SME HANDBOOK by UOB ฉบับเยียวยาจิตใจเร่งด่วน ตอน ‘เฟรมเวิร์กจัดการความเครียด เพิ่มพลังบวก เมื่อ SMEs ต้องเผชิญวิกฤต’ โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และโฮสต์พอดแคสต์ R U OK 

 

ถ้าวิกฤตยังกลายเป็นโอกาสได้ ความเครียดก็ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป “ความเครียดที่ควบคุมได้มักให้ผลลัพธ์ที่ดีกับ Productivity” ดุจดาวบอกเช่นนี้ และยังมีอีกหลายวิธีจับ (ความเครียด) ให้ได้ และจัดการ (ความเครียด) ให้ทัน ก่อนที่จะควบคุมมันไม่ได้ ทุกวิธีคิดสรุปมาให้ในบทความนี้แล้ว

 

หรือ ‘สุขภาพจิตช่วงวิกฤต’ จะเป็นตัวชี้วัดอนาคตของธุรกิจ

เหตุผลที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองมากเป็นพิเศษในช่วงวิกฤต เพราะเป็นช่วงเวลาที่คุณอาจเผลอเรียกร้องศักยภาพมากกว่าช่วงเวลาปกติ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิด การตัดสินใจ การมองเห็นภาพกว้าง หรือแม้กระทั่งอารมณ์ที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ ทำให้พลาดประเด็นสำคัญที่ควรมองเห็น ส่งผลให้การประคับประคองธุรกิจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง

 

จัดการความเครียด

 

หยุดวิกฤตงานไม่ให้บานปลายสู่วิกฤตชีวิต

คงยากที่จะวัดว่าใครเครียดมาก เครียดน้อย หรือเครียดระดับไหนจึงใกล้ขีดอันตรายจนส่งผลร้ายต่อชีวิตด้านอื่นๆ ดุจดาวบอกให้ทุกคนสังเกตตัวเองว่ามีเรื่องอื่นๆ มากระทบด้วยหรือไม่

 

“บางคนโฟกัสงานจนเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น เริ่มมีปากเสียงกับคู่ชีวิตง่ายขึ้น อารมณ์เสียหรือหงุดหงิดกับลูก กับเพื่อนสนิท หรืออาจจะเป็นพ่อแม่ตัวเอง สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่อยู่ดีๆ เราจะอารมณ์ขึ้นง่าย หงุดหงิดง่าย จริงๆ มันเป็นสัญญาณ แปลว่าบางอย่างกำลังมากเกินไป” เริ่มมีอาการแบบนี้เมื่อไรแปลว่าเข้าโซนอันตรายแล้ว

 

จัดการความเครียด

 

สำรวจ 3 จุดสำคัญ “เรากำลังเครียดเกินไปหรือเปล่า”

วางเรื่องธุรกิจลงสักพัก แล้วหันมาโฟกัสที่ตัวเองสักนิด ลองสำรวจ 3 จุดสำคัญ สัญญาณความเครียดเข้าข่ายอันตราย

 

1. กายภาพ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกว่าคุณแบกความเครียดโดยไม่รู้ตัว มันจึงไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ 

 

2. พฤติกรรม มีพฤติกรรมใดที่ต่างไปจากเดิมหรือไม่ เช่น กัดเล็บ เขย่าขา หายใจตื้นๆ บ่อยๆ หลับยาก หรือเริ่มดื่มหนัก เริ่มสูบบุหรี่จัด แปลว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณว่าคุณเครียดเกินไป

 

3. อารมณ์ อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ อีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าคุณเริ่มมีความเครียดบางอย่างที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน

 

แต่ถึงอย่างไร ดุจดาวก็เน้นย้ำเสมอว่า “ความเครียดไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ความเครียดในระดับที่ยังพอจัดการหรือประคองได้มันค่อนข้าง Healthy กับ Productivity” 

 

‘เครียดระดับที่พอจัดการได้’ คือแบบไหน?

ยากหน่อยที่ความเครียดเป็นนามธรรม ไม่มีมาตรวัดชัดเจนเหมือนตัวเลขในบัญชี วิธีคือ ‘สังเกตตัวเอง’ ใครที่เห็นวิกฤตเป็นความท้าทายและเห็นความท้าทายเป็นเรื่องสนุก แปลว่าสภาวะจิตใจมั่นคงมาก

 

“ลองสังเกตตัวเองในที่ประชุม คุณเปิดพื้นที่ฟังคนอื่น ถามไถ่คนอื่นได้บ้าง แบบนี้ถือว่าอยู่ในโหมดที่รับได้ เบาสบายมากพอที่จะคิดถึงคนอื่น” ตรงกันข้ามคนที่เครียดมากๆ จะพุ่งไปข้างหน้า จะลุย จะเร่ง ไม่มีพัก แม้จะเป็นวิสัยปกติของคนทำธุรกิจที่ต้องทุ่มสุดตัวโดยเฉพาะในเวลาเช่นนี้ แต่เวลาอื่นนอกจากเวลางานต้องมีโหมดสนุก ผ่อนคลายอยู่ด้วย ใครสามารถสลับโหมดทำงานกับโหมดผ่อนคลายได้ ถือว่ายังเป็นความเครียดในระดับที่รับมือได้

 

จัดการกับความเครียดแบบเร่งด่วนและได้ผล 

1. ปลดปล่อย หาวิธีผ่อนคลาย เช่น แบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวให้บาลานซ์กัน หรือหาที่ระบาย จะออกกำลังกาย ร้องคาราโอเกะ หรือทำกิจกรรมที่ได้ปลดปล่อย เพื่อให้ความเครียดที่สะสมตามกล้ามเนื้อได้คลายลง หรือปลดปล่อยด้วยการสื่อสาร การนั่งคุย เผชิญหน้า และแบ่งปันจะช่วยแบ่งเบาได้อย่างดี

 
“โลกใบนี้ไม่ง่าย เราควบคุมมันไม่ได้ แต่ถ้ามีใครสักคนมานั่งข้างๆ เราจะอยู่ในโลกยากๆ ได้อย่างมั่นใจ” ดุจดาวยังบอกอีกว่า การหาคนรับฟังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในภาวะวิกฤต 

 

2. การจัดการความเครียด หรือที่เรียกว่า Stress Management สิ่งนี้จำเป็นต้องอาศัยเวลาประมาณ 10-15 นาที และพื้นที่ในการโฟกัสเพื่ออยู่นิ่งๆ กับตัวเอง แล้วจึงเริ่มกระบวนการ 


Step 1: ยอมรับก่อนว่าตัวเองเครียด ความเครียดไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ


Step 2: ลิสต์เรื่องที่เครียดลงกระดาษ อะไรบ้างที่ทำให้เครียด จากนั้นวงกลมเพื่อแยกมันออกเป็นเรื่องๆ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ว่าเรื่องที่เครียดหนักๆ มาจากเรื่องไหนบ้าง จากนั้นพิจารณาวงไหนแก้ยาก เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม กากบาททิ้งไปก่อน แล้วจัดการเรื่องที่คุ้มค่าต่อการลงไปจัดการ การลงแรงก็เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง จึงต้องฉลาดลงทุน


Step 3: ดีไซน์ทางเลือก ระดมสมองของตัวเอง อย่าเพิ่งไปยั้งว่าไอเดียนี้จะทำได้หรือไม่ได้ เขียนลงไปก่อน เพราะการมีทางเลือกเยอะจะทำให้ความเครียดน้อยลง ในแต่ละวงขีดออกมา 3 เส้น และแตกออกมาเป็น 3 วง ในแต่ละวงให้เขียนว่าเราทำอะไรกับหัวข้อนี้ได้บ้าง เช่น ลูกน้องเข้าประชุมไม่พูดเลย ทำอะไรได้บ้าง เช่น วงที่ 1 ให้รางวัล วงที่ 2 ออกนโยบาย


Step 4: จัดลำดับความสำคัญ วงกลมไหนที่สามารถจัดการได้เร็วที่สุดให้นำขึ้นมาจัดการเป็นลำดับแรก ถ้าจัดการสิ่งแรกได้เร็วก็จะมีกำลังใจและความหวังที่จะไปแก้จุดอื่นต่อได้ เพราะความหวังกับความเป็นไปได้จะช่วยลดความเครียดได้ 

 

เมื่อทำครบทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว ดุจดาวบอกว่าให้ลองกลับไปดูวงกลมที่กากบาททิ้งว่าใครที่จะมีอำนาจหรือมีอิทธิพลในการจัดการวงกลมเหล่านั้น แล้วหาคนคนนั้นให้เจอ การปรึกษาคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เราไม่ถนัดหรือเรื่องที่เราไม่มีอำนาจในการแก้ไข จะช่วยให้ปัญหาในวงกลมเหล่านั้นถูกแก้ไปได้ 

 

จัดการความเครียด

 

เคล็ดลับส่งพลังบวกให้ลูกน้อง

เมื่อแววตา น้ำเสียง ความเชื่อมั่น และพลังบวกของผู้นำ สามารถส่งผลต่องานและความรู้สึกของคนในองค์กรได้ ผู้นำจึงต้องเรียนรู้เคล็ดลับส่งการพลังงานบวกอย่างเร่งด่วน เริ่มจาก

 

  • จัดการความเครียดของตัวเองก่อน ผลเสียของผู้นำที่ไม่จัดการความเครียดตัวเอง อาจเผลอโยนความเครียดและความกังวลให้คนรอบข้าง โดยเฉพาะเวลาที่ผู้นำกำลังเรียกร้อง Productivity อย่างสูงจากพนักงาน จากเพื่อนร่วมทีม หากปล่อยให้ความเครียดของเราเป็นอุปสรรคต่อ Productivity ด้วยการเติมความเครียดให้เขา นานวันเข้าพนักงานจะเริ่มทนไม่ไหว ลาป่วย และลาออกในที่สุด 

 

  • หาให้เจอว่าลูกน้องต้องการอะไร ลองสังเกต ฟังเขาเยอะๆ สังเกตภาษากายของคนในทีม เขาคุยกันอย่างไร เขาทำงานเป็นแบบไหน หรือตอนที่เขาคุยกับเรา ลองฟังน้ำเสียงหรือสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมาว่าตอนนี้ลึกๆ ใจเขาเป็นอย่างไรบ้าง เราอาจจะพอสัมผัสได้ว่าเขาต้องการอะไร หรือแค่ถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ณ ตอนนี้ให้คิดไปเลยว่าลูกน้องทุกคนกำลังเครียด ดังนั้นเขาต้องการอะไรจากเรา ถ้าเขาต้องการความหวัง ความมั่นคง ความมั่นใจ พิจารณาต่อว่าจะเอาความต้องการใส่ไว้ในการสื่อสารได้อย่างไร เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือภาษากายและน้ำเสียงของผู้นำ ต้องหนักแน่นเพื่อเป็นขุมพลังความมั่นใจให้กับเขา 

 

จัดการความเครียด

 

วิธีซัพพอร์ตผู้นำและองค์กรด้วยการสื่อสาร 

ในยุคนี้ที่ต้องช่วยกันหาทางรอด ลูกทีมควรจะพูดหรือสื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ ดุจดาวแนะนำให้ใช้การสื่อสารแบบพิมพ์ดีดซึ่งเป็น 1 ใน 4 รูปแบบการสื่อสารที่มักเกิดขึ้นในองค์กร

 

การสื่อสารแบบพิมพ์ดีด ไม่แสดงท่าทางหรืออารมณ์นำ รู้สึกอย่างไรให้สะท้อนออกมาเป็นภาษาพูดเหมือนกำลังพิมพ์ พูดตรงๆ ชัดเจน แต่ไม่ใส่น้ำเสียง


การสื่อสารแบบภูเขาไฟ ถ้าฉันโกรธ โลกต้องรู้ ถ้าฉันเศร้า โลกต้องเขย่า ถ้าฉันกังวล ทุกคนจะต้องสัมผัสได้ เสียงมา หน้าออก หรือออกมาทางจังหวะการเดิน จังหวะนั่ง จังหวะถอนหายใจ นี่ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เจอทางออกร่วมกัน


การสื่อสารแบบตัวนิ่ม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เลือกที่จะเงียบ วิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใดๆ ในองค์กร


การสื่อสารแบบหอก ใช้คำพูดทิ่มแทงให้คนรู้สึกเจ็บและกลัว เช่น ในที่ประชุมมีคนกำลังแชร์ไอเดีย จะมีคนพูดว่า แหม อีกแล้วนะ, อ้าว เธอก็ทำได้นี่ ฯลฯ คำพูดลักษณะนี้ก่อให้เกิดความเครียดต่อเนื่อง และความสัมพันธ์ในทีมก็แย่ลงแน่นอน

 

ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ ดุจดาวแนะนำ ไม่ว่าจะผู้นำหรือเป็นเพื่อนร่วมงาน ควรปรับโหมดภาษาพิมพ์ดีด พูดตรงๆ ต้องการอะไรระบุออกมาเป็นคำที่ไม่ใส่น้ำเสียง

 

กำลังใจสำคัญแด่ธุรกิจที่ต้องฝ่าวิกฤต “มนุษย์ทุกคนมีจุดแข็ง หาให้เจอเพื่อรู้เท่าทัน นั่นจะทำให้รอดทุกวิกฤต” 

ความเปลี่ยนแปลงมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรารู้จักมาเนิ่นนานและแน่แท้คือตัวเรา สำคัญที่สุดคุณต้องตั้งหลักให้พร้อมแล้วกลับเข้ามาทำงาน จูนกับตัวเอง หลักการเราคืออะไร ธุรกิจเราคืออะไร เราอยากเป็นผู้นำแบบไหน แล้วความสามารถหรือศักยภาพในตัวเรา ณ ตอนนี้มันเอื้อกับทิศทางที่จะไปไหม อะไรคือจุดแข็งของเรา รวมถึงทีมของเรา เขาต้องการอะไร เขาคือใคร เขาเป็นแบบไหน จูนสองอย่างนี้ให้ได้

 

สุดท้ายก็คือใช้การสื่อสารที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ บอกทั้งตัวเรา บอกทั้งตัวเขา ว่าเราจะไปที่ไหนกัน แล้วเราต้องเพิ่มอะไร หรือเราต้องใช้อะไรที่มีอยู่แล้วบ้าง

จริงๆ มนุษย์ทุกคนมีจุดแข็งกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเรานึกถึงจุดแข็งตัวเองไม่ออก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีจุดแข็ง ปัญหาคือเราไม่เห็นเฉยๆ จงนั่งหาให้เจอก่อน แล้วใช้จุดแข็งที่มีอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

FYI
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X