×

ทำไมแมนฯ ซิตี้ ถึงมีอะคาเดมีที่ดีที่สุด แต่ล้มเหลวที่สุด?

24.12.2024
  • LOADING...

จังหวะการโซโล่จากแดนตัวเองของ มอร์แกน โรเจอร์ส เพื่อเปิดเกมบุกให้ทีม ก่อนที่จะเป็นผู้จบสกอร์เองในช็อตสุดท้าย กลายเป็นประตูการันตีชัยชนะของแอสตัน วิลลา เหนือทีมเก่าอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

นอกจากนั้นแล้ว โรเจอร์สที่ไม่ใช่เจ้าแห่งโจรสลัดคนนั้น ยังฉลองประตูด้วยท่า ‘หนาว’ ในแบบเดียวกับ ​โคล พาลเมอร์ ยิ่งเป็นเหมือนการทาเกลือลงบนแผลสดให้แก่แชมป์เก่าพรีเมียร์ลีกที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี

 

เพราะนี่เป็นอีกครั้งที่พวกเขาโดนผลผลิตจากอะคาเดมีของตัวเองย้อนกลับมาเล่นงานทีมที่เคยสร้างมากับมือ จนทำให้เป๊ปปวดขมอง

 

ทำไมกันนะทำไม?

 

ในขณะที่แมนฯ ซิตี้ อยู่ในวิกฤตที่รุนแรงที่สุด แพ้ถึง 9 จาก 12 นัดหลังสุดในทุกรายการ อันดับในพรีเมียร์ลีกหล่นไปไกลถึงอันดับที่ 7 ตามหลังจ่าฝูงลิเวอร์พูลถึง 12 คะแนนโดยที่ลงสนามมากกว่า 1 นัด และยังสุ่มเสี่ยงต่อการกระเด็นตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ซึ่งจะต้องตัดกับปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในเดือนหน้าด้วย

 

เป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้แต่เกาศีรษะแกรกๆ (และสังเกตเห็นรอยได้ชัด) เพราะขุมกำลังในทีมเวลานี้ฟอร์มตกแบบมโหฬารและมองไม่เห็นความหวังใดๆ

 

ไม่ต้องพูดถึงโรดรี – ที่ทำให้รู้ว่าเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์สำคัญต่อทีมมากแค่ไหนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีแค่คนเดียว เหมือนบ้านไม่มีเสาเข็มยวบทั้งหลัง – นักเตะที่เคยเป็นคีย์แมนไม่ว่าจะเป็น เควิน เดอ บรอยน์ (33 ปี), แบร์นาโด ซิลวา (30), ไคล์ วอล์กเกอร์ (34), จอห์น สโตนส์ (30) และ อิลคาย กุนโดกัน (34) ที่โดนดึงตัวกลับมา กลายเป็นนักเตะที่แก่ ช้า และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเกมได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

 

คนอื่นๆ อย่าง ฟิล โฟเดน เจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของอังกฤษ, เยเรมี โดกู, แจ็ค กรีลิช, มาเตโอ โควาซิช ไปจนถึงน้องใหม่อย่าง ซาวินโญ เองก็ทำอะไรไม่ได้

 

ขณะที่ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลยเมื่อไม่มี ‘Service’ จากนักเตะเหล่านี้

 

สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับฟอร์มเจิดจ้าเปล่งประกายของ โคล พาลเมอร์ ที่ปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการนำเชลซีให้กลายเป็นทีมที่เกาะกลุ่มหัวตารางในเวลานี้ 

 

และล่าสุดคือโรเจอร์ส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนักเตะที่หลายคนไม่รู้มาก่อนว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตจากอะคาเดมีของแมนฯ ซิตี้ เหมือนกัน

 

 

เส้นทางของโรเจอร์สเป็นเส้นทางที่มีความคล้ายคลึงกับพาลเมอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันมาในทีมอะคาเดมีของแมนฯ ซิตี้

 

ดาวเตะวัย 22 ปี ตัดสินใจที่จะย้ายออกจากถิ่นเอติฮัดสเตเดียมในฤดูร้อนเดียวกันกับพาลเมอร์ ซึ่งได้แสงไปมากกว่า เพราะเป็นการย้ายออกในช่วงที่กำลังเริ่มแจ้งเกิด และย้ายไปอยู่กับทีมใหญ่อย่างเชลซีด้วยค่าตัวระดับ 40 ล้านปอนด์

 

โรเจอร์ส – ซึ่งเป็นกองกลางพรสวรรค์สูงคนหนึ่ง – เลือกที่จะย้ายไปอยู่กับทีมที่เล็กกว่าอย่างมิดเดิลสโบรห์ในลีกเดอะแชมเปียนชิปที่คุ้นเคย เพราะมีประสบการณ์ในการมาเล่นแบบยืมตัวกับเวสต์ บรอมวิช อัลเบียน, ลินคอล์น, บอร์นมัธ (ในช่วงที่ยังอยู่เดอะแชมเปียนชิป) และแบล็กพูล ด้วยค่าตัวเพียงแค่ 1.5 ล้านปอนด์เท่านั้น

 

แต่แค่ 6 เดือนเท่านั้น แอสตัน วิลลา ตัดสินใจจ่ายเงิน 8 ล้านปอนด์พร้อมเงื่อนไขที่จะจ่ายเพิ่มให้อีกตามความสำเร็จสูงสุดถึง 15 ล้านปอนด์ เพื่อกระชากตัวกองกลางดาวรุ่งรายนี้มาเสริมทัพทันทีในช่วงตลาดการซื้อขายรอบฤดูหนาวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรเจอร์สได้พิสูจน์ฝีเท้าในฐานะกองกลางตัวทำเกมคนสำคัญที่ยกระดับการเล่นของวิลลาในยุคของ อูไน เอเมรี ได้อย่างมากมายมหาศาล และกลายเป็นหนึ่งในเพลย์เมกเกอร์ที่มีความโดดเด่นที่สุดของพรีเมียร์ลีกในเวลานี้ จนทำให้คนลืมตัวทำเกมคนเก่าอย่าง เอมิเลียโน บุนเดีย ไปเลยทีเดียว

 

 

ความสำเร็จของโรเจอร์ส รวมถึงพาลเมอร์ เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ

 

อย่างแรก แมนฯ ซิตี้ เป็นสโมสรที่มีอะคาเดมีที่ยอดเยี่ยมอย่างมาก พวกเขามีทีมแมวมองชั้นหนึ่งที่รวบรวมเอาเด็กเทพจากทั่วอังกฤษหรือทั่วโลก ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเพชรที่รอการเจียระไน

 

เพียงแต่ปัญหาคือ เด็กๆ ฝีเท้าดีมีพรสวรค์เหล่านี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสเหมือนโฟเดนหรือรุ่นล่าสุดอย่าง ริโก ลูอิส และ ออสการ์ บ็อบ ซึ่งเป็นกลุ่มสายเลือดของสโมสรที่ถูกผลักดันขึ้นมาอยู่กับทีมชุดใหญ่

 

นักเตะจากอะคาเดมีของแมนฯ ซิตี้ จำนวนมาก เมื่อถึงเวลาต้องเติบโตก็จะถูกส่งตัวไปเพื่อเก็บประสบการณ์ ‘รอเวลา’ ของตัวเองก่อน แต่หากพบว่าไม่มีเส้นทางหรืออนาคตรออยู่ในทีมชุดใหญ่ ก็จะร้องขอโอกาสในการย้ายออกจากทีม ซึ่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นสโมสรที่ไม่ได้ขัดขวางการเติบโตของเด็กๆ เหล่านี้

 

โดยที่มีนักเตะที่ทั้งสามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว เช่น จาดอน ซานโช ที่เป็นนักเตะอะคาเดมีของแมนฯ ซิตี้ คนแรกที่แจ้งเกิดเหมือนดอกไม้ไฟกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หรือบางคนอาจจะเป็นดอกไม้บานช้า แต่เมื่อถึงเวลาก็เบ่งบานเหมือนกัน เช่น ในรายของโรเจอร์สที่ใช้เวลานานหน่อย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นดาวเด่นกับแอสตัน วิลลา

 

ส่วนผลผลิตจากอะคาเดมีแห่งนี้ที่ถือว่าแจ้งเกิดในฟุตบอลระดับสูงสุดได้แล้ว?

 

  • จาดอน ซานโช (เชลซี)
  • บราฮิม ดิอาซ (เรอัล มาดริด)
  • เปโดร ปอร์โร (ท็อตแนม ฮอตสเปอร์)
  • ไมเคิล โอลิเซ (บาเยิร์น มิวนิก)
  • เลียม ดีแลป (อิปสวิช ทาวน์)
  • เอริก การ์เซีย (บาร์เซโลนา)
  • เฟลิกซ์ เมชา (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์)
  • โรเมโอ ลาเวีย (เชลซี)
  • โตซิน อดาราบิโอโย (เชลซี)
  • เจมส์ แทรฟฟอร์ด (เซาแธมป์ตัน)
  • เทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส (เซาแธมป์ตัน)

 

แบบนี้แปลว่าแมนฯ ซิตี้ ไม่มีนโยบายในการให้โอกาสเด็กหรือไม่?

 

เรื่องนี้คำตอบคือไม่เชิง เพราะไม่เช่นนั้นเป๊ปคงไม่ให้เลี้ยงดูประคบประหงมนักเตะอย่างโฟเดนเหมือนไข่ในหินมาหลายปี และคงไม่มีการผลักดันลูอิสและบ็อบขึ้นมาทีมชุดใหญ่

 

เพียงแต่ปัญหาที่ผ่านมาคือขุมกำลังของแมนฯ ซิตี้ นั้นล้วนเป็นนักเตะในระดับสุดยอดของโลกทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมี ‘เจ้าที่’ ปกครองอยู่แล้ว การจะเบียดเอาชนะนักเตะเหล่านี้ให้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับนักเตะดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเก่งหรือมีแววดีสักแค่ไหนก็ตาม

 

และไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะอดทนในแบบเดียวกับโฟเดน ซึ่งถ้านักเตะต้องการที่จะเติบโต สโมสรก็พร้อมที่จะปล่อยไป

 

“แน่นอน เรารู้ว่ามอร์แกนเก่งแค่ไหน แต่ในวัยนั้น ในเวลานั้น เรามีผู้เล่นชุดที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 8 ปีเต็ม นั่นคือทีมที่คว้าเทรเบิลแชมป์ (3 แชมป์ใหญ่ในฤดูกาลเดียว) ได้”

 

และในอีกมุมหนึ่งแล้ว สำหรับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ พวกเขาไม่ได้มองอะคาเดมีเป็นแค่สถานอบรมสั่งสอนนักเตะที่จะขึ้นมารับใช้ชุดใหญ่ได้เท่านั้น

 

เพราะผลผลิตจากอะคาเดมีนั้นสามารถขายได้ และเป็น Business Unit ที่สำคัญของสโมสร

 

 

ตามข้อมูลจาก Transfermarkt นับตั้งแต่ปี 2014 แมนฯ ซิตี้ สามารถทำรายได้เฉพาะจากการขายผู้เล่นประเภท Homegrown (ผู้เล่นที่อยู่ในอะคาเดมีของสโมสรอย่างน้อย 3 ปี) จากอะคาเดมีของสโมสรได้มากมายมหาศาลถึง 363 ล้านปอนด์

 

ตัวเลขรายได้ส่วนนี้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการขายผู้เล่นออกจากสโมสรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ทำเงินได้ 773 ล้านปอนด์

 

เพียงแต่มันก็ย่อมนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่านี่เป็น ‘นโยบาย’ ที่ดีและถูกต้องแล้วใช่ไหมสำหรับสโมสร

 

เพราะโดยเจตนารมณ์ของอะคาเดมีฟุตบอลคือ การสร้างนักฟุตบอลฝีเท้าดีขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนที่สุดของสโมสร

 

มองไปที่ลิเวอร์พูล พวกเขาก็ปล่อยผลผลิตจากอะคาเดมีออกจากทีมจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็เลือกเก็บ ‘ตัวท็อป’ เอาไว้กับตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, เคอร์ติส โจนส์, จาเรลล์ ควานซาห์ หรือสายเลือดใหม่ที่แววดีมากๆ อย่าง เทรย์ นีโอนี

 

จริงอยู่ที่แมนฯ ซิตี้ มีทุนรอนไร้ขีดจำกัด พวกเขาพร้อมจะซื้อใครมาร่วมทีมก็ได้ แต่มันอาจจะเป็นการดีกว่าไหมถ้าในยามที่ทีมลำบากแบบนี้ พวกเขาจะมีสายเลือดแท้ของสโมสรก้าวขึ้นมาช่วยทีมให้ชื่นใจ

 

ลองจินตนาการว่า เป๊ป กวาร์ดิโอลา มี โคล พาลเมอร์ กับ มอร์แกน โรเจอร์ส คอยปั้นเกมให้ มี โรเมโอ ลาเวีย เป็นตัวเชื่อมเกมแดนกลาง และมี โตซิน อดาราบิโอโย เป็นกำแพงเหล็กในแนวรับร่วมกับ เจมส์ แทรฟฟอร์ด ที่ทดแทน เอแดร์สัน ซึ่งฟอร์มและความมั่นใจหดหาย

 

ไม่ว่าผลงานมันจะดีหรือไม่

 

สำหรับแฟนบอลแล้ว การได้เห็นนักเตะดาวรุ่งเลือดแท้ของสโมสรลงเล่น มันย่อมรู้สึกดีกว่าเห็นนักเตะที่ซื้อมาแพงๆ แต่เล่นไม่ได้เรื่องเลยอยู่แล้ว จริงไหม?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising