วันนี้ (10 มิถุนายน) หลังการอภิปรายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดและติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9-10 มิถุนายน 2564 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
โดยฝ่ายค้านปิดท้ายการอภิปรายด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ต่อมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกขึ้นชี้แจงในบางประเด็น
สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ดำเนินการให้ที่ประชุมลงมติ โดยผลการลงมติ คือ
- เห็นด้วย 270 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 196 เสียง
- งดออกเสียง 1 เสียง
- ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
เป็นอันว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากอนุมัติเห็นชอบต่อ พ.ร.ก. ฉบับนี้
สำหรับ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาขณะที่กำลังมีการระบาดระลอกที่ 3 ของโรคโควิด-19 เป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท มีความยาวทั้งหมด 4 หน้า
ขณะที่แผนงานการใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. แก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท (6%)
2. ชดเชยเยียวยาให้ประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท (60%)
3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท (34%)
เช่นเดียวกับการกู้เงินครั้งแรก สัดส่วนของการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขยังคงอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำที่สุด แม้ว่าการระบาดในระลอกที่ 3 จะมีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งภาครัฐยังล้มลุกคลุกคลานอยู่กับการจัดหาวัคซีนมาให้แก่ประชาชนที่ปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิด โดยที่ยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอกับโรงพยาบาลทุกแห่ง จนต้องเลื่อนการฉีดออกไปในหลายพื้นที่ ก่อนจะกลับมาประกาศว่าพร้อมฉีด