ความสำเร็จอย่างล้นหลามของการ Re-Record หรือการนำผลงานเพลงจากอัลบั้มเก่ามาอัดเสียงใหม่ในเวอร์ชันของตัวเอง และวางขายอีกครั้งของ Taylor Swift กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งขณะนี้เหล่าค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต่างก็ร่างสัญญาใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ศิลปินในสังกัดทำการ Re-Record ผลงานของตัวเองในภายหลัง
Billboard รายงานว่า ค่ายเพลงใหญ่อย่าง Universal Music Group, Sony Music Entertainment และ Warner Music Group เพิ่งร่างสัญญาใหม่แบบยกเครื่องสำหรับศิลปินหน้าใหม่ในค่าย โดยมีเงื่อนไขห้ามศิลปินนำเพลงของตัวเองมาอัดเสียงใหม่จนกว่าศิลปินจะออกจากค่ายเพลงครบกำหนด 10 ปี หรือนานกว่านั้น
Josh Karp ซึ่งเป็นทนายความ เผยกับ Billboard ว่า “ครั้งแรกที่ผมเห็นสัญญาฉบับใหม่ของ Universal Music Group ผมพยายามลบล้างมันออกทั้งหมด เพราะผมคิดว่าอะไรกันเนี่ย นี่มันแปลกมาก ทำไมเราจะต้องเห็นด้วยกับข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เพิ่มมากขึ้นกับต้นสังกัดที่เราเคยทำข้อตกลงด้วยกันมาแล้วด้วยล่ะ”
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากกรณีของ Taylor Swift ที่กำลังทยอยปล่อยอัลบั้มอัดเสียงใหม่ทั้ง 6 ชุด โดยพ่วงคำว่า Taylor’s Version เอาไว้ด้านหลัง หลังจากที่บริษัท Ithaca Holdings ของคู่อริเก่าอย่าง Scooter Braun เข้าซื้อกิจการอดีตต้นสังกัดที่ครอบครองลิขสิทธิ์อัลบั้ม 6 ชุดแรกของเธอ ก่อนที่จะทำการขายลิขสิทธิ์เพลงเหล่านั้นของ Taylor Swift ให้กับ Shamrock Holdings ในราคา 300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.14 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ Taylor Swift เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และเดินหน้าทำอัลบั้มอัดเสียงใหม่อย่างที่เห็นในวันนี้
การทำอัลบั้มอัดเสียงใหม่ของ Taylor Swift ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะเหล่าแฟนเพลงต่างก็สนับสนุนผลงานชุด Taylor’s Version ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นผลที่ดีเยี่ยมสำหรับทีม Taylor Swift แต่ในอีกแง่หนึ่งก็นับเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับผู้ถือครองลิขสิทธิ์อัลบั้ม 6 ชุดดังกล่าวของนักร้องสาวในเวลานี้ จนทำให้ค่ายเพลงต้องร่างสัญญาใหม่กับศิลปินรุ่นใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันขึ้น
ภาพ: Raymond Hall / GC Images
อ้างอิง: