โรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ลุ้นว่าจะสามารถกลับมาเปิดในเฟส 3 ได้หรือไม่ แน่นอนว่าเมื่อต้องปิดชั่วคราวนานถึง 2 เดือนกว่าๆ ธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ทว่า วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ไม่ปฏิเสธที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากขนาดนั้น เพราะธุรกิจโรงภาพยนตร์มีรายจ่ายประจำไม่สูง และเป็นธุรกิจที่แข็งแรงในตัวเองอยู่แล้ว
“การระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครทันตั้งตัว อย่างที่จีนต้องปิดโรงภาพยนตร์ไป 70,000 จอ เราเองในช่วงแรกพูดเล่นๆ ว่าอาจต้องปิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ด้วยซ้ำ สำหรับเราแล้ว โมเดลธุรกิจไม่ได้ถูกกระทบมากนัก แม้ภาพยนตร์ใหม่ๆ ยังไม่ได้ถูกฉาย แต่เป็นของไม่เน่า ไม่เสีย ตอนนี้ทุกคนรอวันที่จะกลับมาฉาย ซึ่งโปรแกรมจะแน่นทั้งของไทยและต่างประเทศแน่นอน”
สำหรับการแก้วิกฤต สิ่งแรกที่ต้องประเมินว่า จะกระทบกับธุรกิจระยะสั้นและอนาคตอย่างไร ในช่วงแรกต้องดูกระแสเงินสดในมือ รายจ่ายที่มี หลายคนอาจมองว่า ช่วงที่ปิดจะอยู่แบบสบายๆ เพราะไม่มีงาน แต่จริงๆ แล้วทุกคนทำงานหนักขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมว่าอะไรคือจุดแข็ง-จุดอ่อนที่ต้องเปลี่ยน โดยสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือทุกอย่างไปดิจิทัลกันหมดแล้ว และเมเจอร์ฯ เองก็ไปในทิศทางนั้น
ทั้งนี้ จากกระแสที่โรงภาพยนตร์มีลุ้นจะคลายล็อกในเฟส 3 วิชาย้ำว่า เมเจอร์ฯ ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว วันนี้สิ่งที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาดูภาพยนตร์จะต้องใส่หน้ากากอนามัย มีการวัดอุณหภูมิ ส่วนระบบปรับอากาศมีการฆ่าด้วยด้วย UVC และโอโซน ที่สำคัญตาม Social Distancing จึงเตรียมเก้าอี้ 1 ตัว เว้น 2 ตัว และเว้นระยะแถวด้วย
“เทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ สมมติโรงภาพยนตร์มี 100 ที่นั่ง การทำ Social Distancing ทำให้ที่นั่งลดลง 75% เหลือ 25% เท่านั้น แต่เราไม่ได้ปรับค่าตั๋วขึ้น ยังคงยืนพื้นเท่าเดิม”
ขณะเดียวกัน โควิด-19 ได้เร่งพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น เมเจอร์ฯ จึงเตรียมพร้อมพัฒนาวอลเล็ต เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำมาใช้จ่ายโดยไม่ต้องสัมผัสเงินสด นอกจากนี้เมเจอร์ยังเตรียมปรับระบบการทำตลาดใหม่ แยกไปแต่ละกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเด็นที่วิชากล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์คือ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น โดยใช้ ‘กลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์’ เหมือนกับเกาหลีใต้ ที่นอกจากจะหารายได้เข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งออกทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถหวังผลด้านการท่องเที่ยวได้ด้วย
วิชาย้ำว่า ภาพยนตร์ไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยแต่ละปีเราส่งออกภาพยนตร์ปีละประมาณ 20 เรื่อง แต่จริงๆ แล้วเรายังมีศักยภาพมากกว่านี้อีก
“ผมอยากให้รัฐตั้งกองทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนภาพยนตร์ไทยประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งจะดึงดูดให้มีคนใหม่ๆ เข้า และทำให้ภาพยนตร์ไทยสามารถเป็นสินค้าส่งออกได้”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล