×

SCB EIC คงประมาณการ GDP ไทยปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 3.9% แต่หั่นส่งออกเหลือ 0.5% เตือนจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจ่อกระทบอัตราเบิกจ่ายงบลงทุน

14.06.2023
  • LOADING...
ประมาณการ GDP ไทย

SCB EIC คงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 ไว้ที่ 3.9% ตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว รวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวดี แม้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกสินค้าไทยปีนี้เหลือ 0.5% จากเดิม 1.2% จากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอ แรงหนุนตลาดส่งออกจีนที่แผ่วกว่าคาด และความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 EIC คาดการณ์ไว้ว่าจะชะลอตัวเล็กน้อย เหลือโต 3.6% เนื่องจากตัวเลขฐานปีนี้ที่ค่อนข้างสูง

 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ EIC ประเมินไว้ที่ 30 ล้านคน ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสแตะ 1.27 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในปี 2562 มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีไม่สดใสนัก และเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญของเศรษฐกิจ 

 

SCB EIC ยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อยู่ที่ 2.1% (เดิม 2.3%) เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจต้นไตรมาส 2 ออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการยังมีความแตกต่างกันสูง อีกทั้งความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้น อาจจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี เช่น มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มถูกกดดัน ทั้งจากอุปสงค์ที่ลดลง เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำลง รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีโอกาสรุนแรงมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ ในกรณีฐานเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเผชิญกับเอลนีโญระดับอ่อนถึงรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายในภาคการเกษตรราว 40,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.1% (เข้ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยที่ 1-3%) เนื่องจากราคาพลังงานในประเทศที่ปรับลดลง แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.7% เทียบจากอดีตระหว่างปี 2559-2562 ที่ 0.6% สะท้อนการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภค และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

 

เตือนจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจ่อกระทบอัตราเบิกจ่ายงบลงทุน

สำหรับเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง SCB EIC มองว่า จะยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในกรณีฐาน (Base Case Scenario) หากไทยได้รัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคม คาดว่าจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้ไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและเร่งอนุมัติโครงการลงทุนไว้ก่อนยุบสภา 

 

อย่างไรก็ดี ในกรณี Worst-Case Scenario หรือความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจล่าช้าไปถึงปลายเดือนตุลาคม อาจจะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ นโยบายหาเสียงสำคัญที่จะผลักดันต่อไปเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

 

 

นอกจากนี้ ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่า นโยบายหลักของแกนนำรัฐบาลชุดใหม่จะส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการบริโภค รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงบางกลุ่มธุรกิจที่มีประเด็นผูกขาดทางการค้า ด้านหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกฉากทัศน์ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จากการดำเนินการตามรายจ่ายจากชุดนโยบายหาเสียง นอกเหนือจากแรงกดดันจากรายจ่ายเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีอยู่เดิม สะท้อนความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการคลัง เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X