การโจมตีเรือบรรทุกสินค้าของกบฏฮูตีเริ่มมีท่าทีเบาลง เมื่อในวันนี้ (25 ธันวาคม) สายเดินเรือยักษ์ใหญ่เริ่มกลับมาเดินเรือแล้ว ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสยังคงยืดเยื้อ ทำให้นานาประเทศต่างเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด เช่นเดียวกับไทยที่ใช้เส้นทางนี้ขนสินค้าไปยังยุโรปเป็นหลัก ต้องตั้งรับ! พาณิชย์เตรียมถกเอกชน หลังค่าระวางเรือปรับขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ปลัดพาณิชย์ชี้ หากสถานการณ์บานปลายอาจมีผลต่อการส่งออกปี 2567
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า Maersk หรือ A.P. Moller – Maersk บริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่สัญชาติเดนมาร์ก เตรียมกลับมาเดินเรือในเส้นทางทะเลแดงและอ่าวเอเดน และใช้คลองสุเอซเป็นเส้นทางระหว่างเอเชียกับยุโรปอีกครั้ง หลังได้รับการยืนยันว่า หน่วยปฏิบัติการพิทักษ์ความมั่นคง (OPG) และกองปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เข้าคุ้มครองความปลอดภัยทางการค้าในพื้นที่
หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบรรดาบริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่หยุดขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงและช่องแคบบับเอลมันเดบ และปรับเปลี่ยนเส้นทางเรืออ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งผู้ส่งออกจากเอเชียต้องเสียค่าธรรมเนียมตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระยะไกล
เช่นเดียวกับหลายบริษัทที่ได้หยุดเปลี่ยนเส้นทางในทะเลแดง เนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย รวมถึง BP ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่จากอังกฤษ
ทั้งนี้ การประกาศของ Maersk ดังกล่าวมีขึ้นภายในช่วงเวลาเพียงสองวัน หลังจากที่บริษัทซึ่งมีต้นทางอยู่ในโคเปนเฮเกน ประเมินสถานการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเหตุการณ์ทะเลแดงอาจลากยาวหลายเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- WEALTH IN DEPTH: เกิดอะไรขึ้นที่ทะเลแดง เหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้า และกำลังสะเทือนถึงไทย
- บรรดาผู้ขนส่งทางเรือ ซึ่งรวมมูลค่าธุรกิจกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เร่งปรับเส้นทางเดินเรือเลี่ยงทะเลแดง
อย่างไรก็ตาม Maersk ย้ำว่า การกลับมาเดินเรือต่อในทะเลแดงยังคงต้องเฝ้าติดตามความเสี่ยง และสถานการณ์ด้านความปลอดภัยของเรือและพนักงานอย่างใกล้ชิด
ซึ่งช่วงที่ผ่านมา การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีครั้งนี้ทำให้การขนส่งทั่วโลกชะงักและลดลง 20% นับเป็นการโจมตีครั้งใหม่ที่สะเทือนห่วงโซ่อุปทานที่อาจจุดชนวนแรงกดดันเงินเฟ้อ
เนื่องจากมีคอนเทนเนอร์มากกว่า 121 ลำ สัดส่วน 30% ของการขนส่งสินค้าใช้เส้นทางทะเลแดง และประมาณ 10% ต้องขนส่งผ่านคลองสุเอซ ด้วยมูลค่าการขนส่งสินค้าปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
พาณิชย์ชี้ หากสถานการณ์บานปลายอาจมีผลต่อส่งออกไทยปี 2567
THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลจาก Freight Rate พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สายเดินเรือได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือไปแล้วกว่า 1 เท่า จาก 1,000-1,500 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต ขึ้นมาอยู่ที่ 3,000-4,000 ดอลลาร์ต่อตู้
ด้าน กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยวันนี้ (25 ธันวาคม) ว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ธันวาคม) กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการทุกสายเดินเรือ ผู้ส่งออกไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือถึงค่าระวางเรือที่ปรับขึ้น
แม้ล่าสุดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นั้นส่งออกไปตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 เรียบร้อยแล้ว ทำให้เดือนธันวาคมนี้ส่งออกสินค้าน้อยมาก
“แต่กระทรวงยังคงจับตาสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งหากนานไปกว่านี้ก็จะมีผลต่อการส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2567 ดังนั้น ขณะนี้จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับเอกชนถึงประเด็นการปรับขึ้นค่าระวางเรือ โดยผู้ส่งออกเข้าใจในสถานการณ์ดี แต่หากการขึ้นในส่วนต่างการขนส่งบางรายการเพิ่มเติม ต้องหารือถึงจุดที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2023/12/24/shipping-giant-maersk-prepares-to-resume-operations-in-red-sea.html
- www.bloomberg.com/news/articles/2023-12-24/maersk-prepares-to-return-to-red-sea-under-us-led-protection?srnd=premium-asia
- https://s.nikkei.com/3NCzOdq?fbclid=IwAR2g0YOFunzqw_SM8YJCn_UpoH5p3tml21svSjinm4bOgo5TgPFklOvCufU_aem_AfP9WmNkkT59tTyGGbC4c6dziHAKi8-3xSH7rprgu0rzc4kAwBznVnWoeMfkg45UtsQ