ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เผยวานนี้ (24 กรกฎาคม) ว่า ฝรั่งเศสประสงค์ที่จะรับรองความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ในเดือนกันยายน ณ การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ท่ามกลางความหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง แต่ขณะเดียวกันก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา
มาครง โพสต์ภาพจดหมายที่ส่งถึงมะห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ผ่านทาง X ยืนยันเจตนารมณ์ของฝรั่งเศสที่จะรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ และจะเดินหน้าโน้มน้าวให้ชาติพันธมิตรอื่นๆ เห็นพ้องตามนี้
“ด้วยความมุ่งมั่นต่อการสร้างสันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืนในตะวันออกกลาง ผมตัดสินใจแล้วว่าฝรั่งเศสจะยอมรับสถานะรัฐของปาเลสไตน์” มาครงกล่าว “ผมจะประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเดือนกันยายน” โดยการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลให้ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติใหญ่ของตะวันตกชาติแรกที่จะรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับอิสราเอลและสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกโรงประณามฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอลและเป็นสมาชิก G7 โดยระบุว่าการตัดสินใจเช่นนั้นถือเป็นการสนับสนุนการก่อการร้ายและ “มีความเสี่ยงที่จะสร้างตัวแทนของอิหร่านเพิ่ม” ขณะโพสต์บน X ระบุเพิ่มเติมว่า การรับรองรัฐปาเลสไตน์ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้อาจนำไปสู่การทำลายล้างอิสราเอล ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
อิสราเอล คัตซ์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล กล่าวถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็น “ความเสื่อมเสียและเป็นการยอมจำนนต่อการก่อการร้าย” พร้อมเสริมว่าอิสราเอลจะไม่อนุญาตให้จัดตั้งองค์กรปาเลสไตน์ที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอิสราเอล รวมถึงก่อให้เกิดอันตรายต่อการดำรงอยู่ของประเทศ
สำหรับความเคลื่อนไหวฝั่งสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่าสหรัฐฯ ปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อแผนของมาครงที่จะรับรองรัฐปาเลสไตน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ขณะในโพสต์บน X เขากล่าวว่า “การตัดสินใจที่ไร้ความระมัดระวังนี้จะช่วยหนุนคำชวนเชื่อของกลุ่มฮามาสและทำลายสันติภาพ อีกทั้งยังเป็นการตบหน้าเหยื่อของเหตุการณ์ 7 ตุลาคม”
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน สหรัฐฯ ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการต่างๆ ที่จะรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐฝ่ายเดียว โดยกล่าวด้วยว่าการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อผลประโยชน์ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และอาจได้รับผลที่ตามมา
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เองก็แสดงความกังขาเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ (two-state solution) โดยเสนอให้สหรัฐฯ เข้ายึดครองฉนวนกาซาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเรียกเสียงประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน รัฐอาหรับ ปาเลสไตน์ และสหประชาชาติ อย่างมากในเวลานั้น
อนึ่ง ที่ผ่านมามาครงมีแนวโน้มที่จะรับรองปาเลสไตน์เป็นรัฐมานานแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะรักษาแนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ แม้จะเผชิญแรงกดดันไม่ให้ทำเช่นนั้นก็ตาม
แฟ้มภาพ: Alastair Grant/Pool via REUTERS
อ้างอิง: