ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ออกโรงปกป้องแผนปฏิรูปเงินบำนาญที่ยืดอายุของผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญจาก 62 ปี เป็น 64 ปี แม้จะได้รับเสียงทัดทานจากประชาชนชาวฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาก็ตาม พร้อมเผยว่า ตนเองเสียใจที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้รัฐสภาฝรั่งเศสลงมติต่อแผนปฏิรูปดังกล่าว
นับเป็นการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนชาวฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก หลังจากที่มาครงลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกสภารัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้
ทางด้านสหภาพแรงงานฝรั่งเศสได้ประกาศเรียกร้องให้พี่น้องแรงงานชาวฝรั่งเศสทั่วประเทศ พร้อมใจกันออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่ในวันแรงงาน หรือวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยหวังว่ามาครงและรัฐบาลฝรั่งเศสจะประกาศยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ในท้ายที่สุด
โพลหลายสำนักชี้ว่า ประชาชนชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญ ทั้งยังไม่พอใจอย่างมากที่รัฐบาลฝรั่งเศสใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้โดยไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภา เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
มาครงยืนยันว่า “การปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็น การไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ถ้าถามว่าการปฏิรูปนี้ได้รับการยอมรับหรือไม่ เห็นได้ชัดว่าไม่ และถึงแม้ว่าจะมีการหารือกันเป็นเวลาหลายเดือน แต่ก็ไม่สามารถหาฉันทามติได้ และผมเองก็เสียใจกับเรื่องนี้”
ผู้นำฝรั่งเศสยังกล่าวอีกว่า “ไม่มีใครที่จะสามารถทำเป็นไม่ได้ยิน ไม่รู้ไม่เห็นต่อการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมในครั้งนี้ ไม่ใช่ผมคนหนึ่งล่ะ คำตอบของปัญหานี้อาจไม่ใช่ความเข้มงวดหรือความสุดโต่ง ประตูสำหรับการพูดคุยเจรจากันกับสหภาพแรงงานยังคงเปิดอยู่เสมอ”
ทางด้าน มารีน เลอ แปน ผู้นำฝ่ายขวาจัด และอดีตผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเผยว่า “มาครงเลือกที่จะหันหลังให้กับชาวฝรั่งเศสและเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน”
โดยมาครงเตรียมวางโรดแมปเพื่อจัดการกับปัญหาความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะประกาศแนวทางต่างๆ ที่สำคัญในวันชาติฝรั่งเศสปีนี้ (14 กรกฎาคม)
ขณะที่สื่อท้องถิ่นของฝรั่งเศสอย่าง Le Monde รายงานว่า เลอ แปน ถือเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวในช่วงเวลานี้ที่ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต ขณะที่ความเชื่อมั่นในสถาบันประชาธิปไตยของฝรั่งเศสมีแนวโน้มลดลง
ภาพ: Ludovic Marin / AFP
อ้างอิง: