×

ลุลา เรียนรู้อะไรจากวงการเพลงไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

25.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIns. Read
  • ลุลากำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชีวิต Lula First Solo Concert ‘Little Miss Lullaby’ ที่ถือเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เธอใช้ชื่อ ‘ลุลา’ ในการเป็นศิลปิน
  • ลุลาเชื่อว่าทุกๆ อัลบั้มคือการประกอบสร้างตัวตนของเธอในช่วงเวลานั้นๆ เพราะฉะนั้นเธอไม่เคยรู้สึกอายที่ต้องนั่งฟังเพลงเก่าๆ หรือจะมีคนให้เธอร้องเพลง ตุ๊กตาหน้ารถ อีกกี่ครั้งก็ได้
  • เธอเชื่อว่าความฝันเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตามหา และเชื่อว่าไม่มีวันช้าเกินไปที่ทุกคนจะเริ่มต้นเดินทางตามความฝันของตัวเอง

เผลอแป๊บเดียว เสียงเล็กๆ ของ ‘เจ้าหญิงบอสซาโนวา’ ลุลา-กันยารัตน์ ติยะพรไชย ก็ขับกล่อมแฟนเพลงชาวไทยมาเป็นระยะเวลา 10 ปีเต็ม นับแต่อัลบั้ม Urban Lullaby ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2551 เธอใช้เวลาเพียง 5 ปีในการออกอัลบั้มคัฟเวอร์สตูดิโอได้ 5 ชุด แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายจากการทำอัลบั้มเต็มไปนาน ก่อนที่จะปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 6 Levitate เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

 

พร้อมกับสิ่งที่เป็นความฝันของนักร้องทุกคนกับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชีวิต Lula First Solo Concert ‘Little Miss Lullaby’ ที่เธอบอกว่าทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานคือบทสรุปจากประสบการณ์ช่วงเวลา 10 ปีที่เธอได้บรรลุทุกอย่างอย่างที่ตั้งใจ

 

THE STANDARD ชวนลุลามาพูดคุยถึงช่วงเวลาตลอด 10 ปีตั้งแต่เธอเปลี่ยนจากชื่อ ‘ตุ๊กตา 2 Become 1’ มาเป็น ‘ลุลา’ ในแบบที่ทุกคนรู้จัก เราอยากรู้ว่านักร้องสาวเสียงใสที่หลายคนมองว่าแสนบอบบางได้เรียนรู้อะไรและแข็งแกร่งขึ้นมากขนาดไหนกับวงการเพลงไทย หนึ่งในวงการที่ขึ้นชื่อว่าโหดหินที่สุด และพร้อมจะลบชื่อของศิลปินหลายคนให้หายไปได้ในชั่วพริบตา

 

 

1. การเดินทางเพื่อเยียวยาหัวใจและทำความเข้าใจกับความฝันใหม่อีกครั้ง

ขอย้อนไปตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วที่เรามีสภาวะจิตใจไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร ทั้งจากเรื่องส่วนตัวและในฐานะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะที่ต้องสื่อสารออกไปตลอดเวลา ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก แรงบันดาลใจ มุกตลก จนเรารู้สึกว่าอยากลองไปใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องสื่อสารแล้วรับอะไรเข้ามาใส่ตัวบ้าง เลยหนีทุกอย่างไปเที่ยวอเมริกาคนเดียว 10 วันแบบไม่ได้วางแผนอะไรเลย เปิดไกด์บุ๊ก พักที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม 5 ดาว นั่งรถไฟใต้ดิน กินข้าวง่ายๆ

 

ซึ่งช่วงแรกๆ มันยังมีเรื่องรบกวนจิตใจต่างๆ นานาที่ทำให้เราไม่สบายใจ จนเราได้รู้จักกับคนไทยที่ทำงานที่นิวยอร์ก ได้เห็นความลำบากของคนที่ออกมาเดินทางตามความฝันในมหานครแห่งนี้แล้วรู้สึกว่ายังมีคนอีกเยอะมากที่เขาลำบากกว่าเรา ได้เห็นชีวิตคนที่อยู่ในครัว คนที่ต้องทำงานเสริมอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองมีเงินเอาไปทำผลงานเพลงที่โน่น ได้เห็นคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกับที่เรากำลังพยายามทำอยู่ แล้วภาพในอดีตที่เราต้องไปเรียนเมืองนอก ทำงานอย่างหนัก ทำทุกอย่างเพื่อออกอัลบั้มให้ได้ มันเลยกลายเป็นการเยียวยาตัวเองไปเรื่อยๆ และกลายเป็นที่มาของเพลง เรื่องระหว่างทาง ที่ได้ ชาติ สุชาติ มาช่วยเขียนเนื้อและร้องเพลงให้ นั่นก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้ครั้งใหญ่เหมือนกัน เพราะเพลงนั้นน่าจะเป็นเพลงเพื่อชีวิตที่สุดตั้งแต่เราเคยทำมาแล้ว

 

เพลง เรื่องระหว่างทาง

 

2. ทุกช่วงเวลาคือตัวเรา ไม่มีอะไรต้องเขินอาย

ถ้าไม่นับเพลง เรื่องระหว่างทาง ตั้งแต่แรกในอัลบั้ม Levitate เราสัญญาไว้ว่าจะมาสู่ตลาดป๊อปให้มากขึ้น แต่เป็นความป๊อปที่โตขึ้นแน่นอน เพราะพอเราอยู่ในโลกมนุษย์ อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง มันมีความรุนแรง มีความโหดร้ายเกิดขึ้นเสมอ ยิ่งเราไปเล่นคอนเสิร์ตเยอะๆ เรารู้สึกได้ว่าหลายคนมาดูคอนเสิร์ตเพราะมีความทุกข์ ต้องการดื่ม มาร้องเพลง และลืมช่วงเวลาไม่ดีในตอนนั้น บางคนจะหลุด ไม่มีสติ แต่ทั้งหมดคือความจริงที่ทุกคนต้องเผชิญ และเราจะพยายามนำเสนอเพลงเหล่านั้นให้มากขึ้น

 

แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนจะชอบคิดถึงอัลบั้มเก่าๆ ว่าเราร้องเพลงอะไรลงไป แต่สำหรับเรา ต่อให้ต้องร้องเพลง ตุ๊กตาหน้ารถ ไปอีก 10 หรือ 20 ปี เราก็โอเคนะ เพราะทุกพาร์ตในชีวิตที่เดินทางผ่านมามันคือตัวเรา ไม่ว่าปัจจุบันจะฮาร์ดคอร์ แก่ ผมหงอก แต่มันก็ยังเป็นตัวเราในทุกๆ ช่วงที่ผ่านมา คนเขาเสพโมเมนต์ของเพลงที่ได้ฟัง ไม่ได้เสพตัวตนของเราในช่วงเวลาไหน ทุกอย่างประกอบขึ้นเป็นตัวเรา และไม่มีอะไรที่จะต้องเขินอาย

 

เรามีหน้าที่เอ็นเตอร์เทนและมอบความสุขให้เมื่อมาดูคอนเสิร์ตและกลับบ้านไปด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาเราทำเพลงเพื่อตัวเองมาเยอะ โดยเฉพาะอัลบั้มแรกๆ คือตัวเองล้วนๆ เลย แต่ที่เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะคนเขาเชื่อในเพลงของเรา เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่เราต้องโตขึ้นและทำเพื่อคนอื่นบ้าง

 

เพลง ตุ๊กตาหน้ารถ ที่ทำให้ชื่อของลุลาเริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลง

 

3. เมื่อมีฝันก็ต้องทำและปกป้องความฝันนั้นเอาไว้ให้

อีกหนึ่งเรื่องที่นึกออกคือตลอดชีวิตเรามักจะเจอคำพูดที่ว่า “อยากเป็นนักร้องเหรอ ฝันเฟื่อง เพ้อเจ้อ” จากคนที่มีชีวิตอยู่ในความเป็นจริงมากๆ แล้วเขายอมรับกับสิ่งที่เราเชื่อหรือสิ่งที่ฝันไม่ได้ แล้วพอเราเจอคนไทยที่ไปอเมริกาเพื่อเป็นศิลปิน เป็นนักแสดง หรืออยากประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ คิดดูว่าเขาต้องถูกเหยียบย่ำความฝันด้วยคำพูดทำนองเดียวกันเยอะมากแน่ๆ แล้วเราเคยเจอคำพูดแบบนี้มากๆ จนวันหนึ่งเราเลือกที่จะไม่บอกใครอีกเลยว่าเรากำลังฝันถึงเรื่องอะไรอยู่ แม้กระทั่งแม่ก็ไม่บอก เพราะรู้สึกว่าความฝันมันจะเห็นชัดเมื่อเราทำเสร็จแล้ว ระหว่างนั้นก็หาอย่างอื่นทำบังหน้าไปก่อนเพื่อให้คนที่รักเราสบายใจ แต่เบื้องหลังก็ทำๆๆ จนวันหนึ่งได้ออกอัลบั้ม เขาถึงได้รู้ เพราะฉะนั้นอีกเหตุผลหนึ่งในการทำเพลง เรื่องระหว่างทาง คือเราอยากให้กำลังใจทุกๆ คนที่มีความฝัน เราอยากช่วยให้เขาปกป้องความฝันนั้นจากทุกๆ การเหยียดหยามให้ได้

 

โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำลายความฝันของคนอื่นได้ง่ายมาก การได้เห็นพฤติกรรมของคนอื่นตลอดเวลาทำให้เราสนใจแต่จะเสพเรื่องราวของคนอื่นโดยไม่ได้กลับมามองตัวเองว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เราควรปรับปรุง แล้วการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นมันคงเป็นเรื่องที่ยากกว่าถ้าเทียบกับการมองเห็นคนอื่นตั้งใจทำอะไร แล้วไปโจมตีสิ่งที่เขาทำอยู่ เรามัวแต่เอาเวลาไปอวด ไปแชร์ ไปดูถูก และเหยียดหยามคนอื่นจนไม่มีเวลากลับมาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงสักที

 

 

4. โชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาร้องเพลง

เรารู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้มาทำงานตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่เรารัก และเราได้เงินจากมันด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่เลือกไม่ได้และต้องทุกข์ทนทำงานที่ตัวเองไม่ได้รัก แต่ต้องทำเพราะเงื่อนไขและความจำเป็นบางอย่างในชีวิต เราเคยคุยกับคุณแม่ท่านหนึ่งที่ไม่ใช่คนไทย วัฒนธรรมของเขาบังคับให้แต่งงานและมีลูก เขาบอกว่าอยากทำในสิ่งที่รักและตามหาฝันให้ได้อย่างเรา แต่ชีวิตของเขามีแค่สามีและลูก เราเลยบอกเขาว่าถ้าสามียูเป็นคนที่น่ารัก ปล่อยให้ลูกโตไปก่อนจนถึงวันที่ลูกไม่ต้องรับความช่วยเหลืออะไรจากเรามาก แล้วค่อยขอสามีไปตามหาความฝัน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนตามหาความฝันได้ไม่ว่ามันจะใหญ่หรือเล็ก เพียงแต่ว่าถ้ายังไม่ถึงก็เพิ่งใจร้อนและอย่าหยุดทำ เพราะแม่ของเราอายุ 60 กว่า แต่ก็ยังไปหาคอร์สเรียนโน่นนี่นั่น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันต้องมีช่วงที่เราได้ตามหาฝัน แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าคงไม่มีวันไปถึงความฝันนั้นได้จริงๆ ก็อาจจะต้องวางความฝันนั้นเอาไว้ก่อนแล้วไปตามหาฝันอื่นที่เป็นไปได้มากกว่าแทน เพราะทุกคนมีได้หลายความฝัน ไม่ใช่มีแค่ฝันเดียวแล้วจบเท่านั้น

 

5. สุดท้ายจุดหมายปลายทางอาจคือบ้านของเราเอง

มีคำถามที่เราเจอบ่อยมากคือ คิดว่าตลอด 10 ปีของลุลาเราประสบความสำเร็จหรือยัง ถ้าเรื่องนี้เราตอบได้ง่ายว่ามันสำเร็จตั้งแต่ได้ทำอัลบั้ม Urban Lullaby แล้ว ที่เหลือคือกำไรที่เราได้รับ แต่ถ้าถามว่าถึงจุดหมายที่เราตั้งเอาไว้หรือยัง คิดว่าเราคงไม่มีทางถึงจุดนั้นได้ เพราะเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจุดหมายปลายทางของเราตอนนี้คืออะไร ตอนอายุ 20 กว่าๆ เราคิดแค่อยากทำอัลบั้ม พอทำเสร็จแล้วก็ถามตัวเองว่าจะทำยังไงต่อ ก็ทำชุดต่อไป แล้วยังไงล่ะ ก็ทำให้มันดีที่สุด อย่าให้มาตรฐานตัวเองตก พอชุดถัดไปก็ถามตัวเองมาเรื่อยๆ อีก มันมีคำถามแบบนี้มาตลอดชีวิตที่ยังหาคำตอบสุดท้ายไม่ได้

 

ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัด แต่คิดว่าเราอาจจะเข้าใกล้คำนั้นมากขึ้น คือจุดหมายของเราอาจจะไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนหรอก จริงๆ จุดหมายอาจคือบ้านของเราเอง พอทำอะไรมากๆ เราเริ่มคิดว่าไม่ว่าเราจะบินไปได้ไกลแค่ไหน สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านของเรา อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่เรารัก มันอาจจะมีแค่นั้นเลยจริงๆ ก็ได้  

 

 

6. การรักษาสมดุลสำคัญที่สุด

เรียนรู้เรื่องความสมดุลในการทำงาน เพราะว่าศิลปินในบ้านเราอยู่ได้ด้วยงานจ้าง การที่เรารับงานจ้างมากเกินไป เราอาจจะยืนระยะได้แค่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อาจจะสิบปีหรือมากกว่านั้น แต่เพราะเราเป็นคนเสียงเล็กแบบนี้ มันมีเงื่อนไขในการใช้เสียงที่ไม่เหมือนคนอื่น พอถึงจุดหนึ่ง เราต้องค้นพบว่าควรพอได้แล้ว เดือนนี้ไม่ควรรับงานมากกว่านี้แล้ว เพราะเราค้นพบคำตอบสุดท้ายว่าชีวิตของเราคือเสียง แล้ววันหนึ่งเราเคยตื่นเช้ามาแล้วไม่มีเสียง ร้องเพลงไม่ได้ จากที่เคยฟังเสียงตัวเองในห้องอัดแล้วมันนิ้งมาก แต่วันนั้นแค่ร้องโน้ตตัวเดียวที่ร้องอยู่ทุกๆ วันยังคุมไม่ได้ แล้วเราเสียใจมาก ร้องไห้หนักเหมือนชีวิตพังทลาย เพราะเราใช้มันมากเกินไป เลยคิดว่าการรักษาสมดุลตรงนี้คือเรื่องสำคัญที่สุดในอาชีพการเป็นศิลปิน  

 

7. ความสม่ำเสมอคือหัวใจของศิลปินที่ดี

สำหรับเรานะ เรามองว่าเกิดเป็นศิลปินใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เกิดเป็นศิลปินที่อยู่ได้เป็นสิบปีเป็นเรื่องยากที่สุด ความสม่ำเสมอต้องมาอันดับหนึ่ง เรามีช่วงเวลาที่แย่และท้อแท้เยอะมาก แต่พี่ๆ ที่อยู่วงการมาเป็นสิบปีขึ้นไป หรือเคยคุยกับแสตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข) เขาบอกว่าสิ่งเดียวที่ควรทำสำหรับศิลปินไทยคือห้ามหยุด ไม่ใช่เพราะว่าหยุดแล้วจะไม่มีงาน แต่ถ้าเรายืนยันว่าจะยืนอยู่ฝั่งสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย แล้วเราจะต้องเดินต่อไปข้างหน้าและทำในสิ่งที่เราเลือกต่อไปเรื่อยๆ อย่างลุลาชอบทำอะไรที่ไม่เหมือนกัน ทุกอัลบั้มต้องไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนลุค เปลี่ยนการแต่งตัว เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนดนตรี เมื่อเราเลือกแล้ว ถึงจะมีช่วงเวลาที่แย่ แต่เราก็ต้องทำต่อไป ห้ามหยุดเท่านั้นเอง

 

 

8. Lula First Solo Concert ‘Little Miss Lullaby’ บทสรุปทุกอย่างในชีวิตของลุลา

ความเชื่อของทุกคนต่างกัน สิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือเราอยากให้ทุกคนเปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับของใครก็ตาม ล้านคน ล้านความคิด ล้านความรู้สึก เราไม่สามารถไปบอกให้อีกคนคิดหรือชอบในแบบของเราได้ เพราะศิลปะเป็นเรื่องที่ตัดสินไม่ได้ ศิลปะของเขาคือของเขา ศิลปะของเราคือของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนยันได้คือดนตรีเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นแนวไหน พูดเรื่องอะไร นั่นเป็นสิ่งดีทั้งหมด

 

สิบปีที่แล้ว ถ้าคนไม่ฟังเพลง ตุ๊กตาหน้ารถ ไม่ซื้ออัลบั้มของลุลา เราก็คงไม่มีทางเป็นที่รู้จักมาถึงตอนนี้ และไม่ว่าตัวของเราจะชั่วร้าย มีความดาร์ก มีมุมความไม่น่ารักในมุมใดมุมหนึ่ง ก็อยากขอบคุณทุกคนที่ยอมรับมันได้ ทั้งหมดทั้งปวงเราเคยเลือกเป็นศิลปินที่ทำเพลงเพื่อตัวเอง ตอน Urban Lullaby เราทำเพลงเพื่อสนองความชอบในเพลงบอสซาโนวาของตัวเอง แต่ทุกวันนี้เราเลือกแล้วว่าจะทำให้ทุกคนมีความสุข โดยเฉพาะแฟนเพลงและคนฟังที่จะมาในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ เราและทีมงานเตรียมทุกอย่างไว้ดีมาก เราอยากให้วันนั้นเป็นวันที่ศิลปะและดนตรีมารวมกันอยู่ที่งานนี้ และต่อไปไม่ว่าลุลาจะเป็นยังไง อยู่ที่ไหน วันนั้นจะเป็นวันที่จารึกไว้ว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราได้บรรลุทุกสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้แล้ว และทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นได้เพราะทุกๆ คน

 

Photo: ปรมภัทร ผูกทอง

FYI
  • Lula First Solo Concert ‘Little Miss Lullaby’ จัดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ที่ GMM Live House @Central World บัตรราคา 1,500-2,500 บาท พร้อมกับแขกรับเชิญพิเศษ 3 คนคือ โรส-ศิรินทิพย์ หาญประดิษฐ์, แพรว-คณิตกุล เนตรบุตร และแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising