×

หลวงพระบางเสี่ยงหลุดสถานะเมืองมรดกโลก สปป.ลาว มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

27.01.2024
  • LOADING...

“เรากังวลเรื่องทางรถไฟจีน-ลาว เพราะชาวจีนเริ่มเข้ามามากและซื้ออสังหากับที่ดินไป เขามีเงินหนา สร้างอาคารใหญ่มากมาย แต่พวกเราไม่อยากได้” เจ้าของธุรกิจท้องถิ่นรายหนึ่งกล่าว

 

รายงานข่าวจาก Nikkei Asia ระบุว่า คณะกรรมการมรดกโลกเตรียมพิจารณาเมืองหลวงพระบางในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นหนึ่งในรายชื่อเมืองที่เสี่ยงถูกถอดออกจากบัญชีเมืองมรดกโลก  

 

หากนึกภาพตามและย้อนดูภูมิศาสตร์ สปป.ลาว ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานที่โอบล้อมเมืองหลวงพระบาง จึงเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแหล่งมรดกโลก จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) 

 

หลวงพระบางกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ต้องไปเยือนสักครั้ง เพราะสวยงามไปด้วยธรรมชาติล้อมรอบ พร้อมด้วยสถาปัตยกรรมลาวผสมผสานฝรั่งเศสอันมีเสน่ห์

 

 

“เสน่ห์ของหลวงพระบางเราจะเห็นพระห่มจีวรสีส้มสดเดินผ่านแนวเสาหินปูนขาว พร้อมด้วยวิวเรือหางยาวแล่นไปตามน้ำระหว่างเนินเขาป่าไม้เขตร้อนอย่างงดงาม”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะเดียวกันด้วยบรรยากาศเมืองเก่าที่สวยงามและแสนเรียบง่ายแห่งนี้ ก็สร้างความตื่นตระหนกและเกิดคำถามในหมู่นักอนุรักษ์และคนท้องถิ่นมากมายถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมและรายได้ หากไม่รีบแก้ไขอาจสูญเสียสถานะเมืองมรดกโลกตามรอย ‘ลิเวอร์พูล’ ประเทศอังกฤษ ที่ถูกถอดออกจากรายชื่อแหล่งมรดกโลกไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

สาเหตุที่ สปป.ลาว เสี่ยงถูกลบจากรายชื่อมรดกโลก แม้จะมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเกิดการพัฒนาเมืองใหม่ๆ การก่อสร้างอสังหาในย่านเมืองเก่าที่ได้รับการคุ้มครอง ส่งผลให้สูญเสียอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างแบบดั้งเดิม รวมถึงการพึ่งพานักท่องเที่ยวที่มากจนเกินไป ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเก่าๆ ถูกกลืนกิน

 

ลิเวอร์พูลถูกถอดออกจากรายชื่อแหล่งมรดกโลก สาเหตุมาจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองริมแม่น้ำเมอร์ซี

 

และสิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษมากที่สุดคือ การสร้างสะพานที่แม่น้ำคาน ซึ่งอาจมาแทนที่สะพานไผ่ที่ทำนุบำรุงทุกๆ ฤดูแล้ง อาจสร้างผลกระทบเชิงลบทั้งสิ้น

 

เขื่อนหลวงพระบาง ไทย-สปป.ลาว อาจเพิ่มความเสี่ยงหลุดสถานะ

 

รายงานชิ้นนี้ยังเน้นย้ำประเด็นสำคัญนั่นคือ ‘การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง’ ซึ่งอยู่ห่างจากต้นน้ำ 25 กิโลเมตร โครงการเป็นการร่วมทุนระหว่างไทย-สปป.ลาว ถือเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 ของเมืองที่อาจเปลี่ยนเมืองริมน้ำให้กลายเป็นเพียงเมืองริมทะเลสาบในอนาคต 

 

และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนหลวงพระบางแห่งนี้ยังได้หยิบยกไปถึงกรณีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ครั้งที่เกิดวิกฤตเขื่อนแตกทางตอนใต้ของลาวในปี 2018 ล้วนเกิดความเสียหายหลายๆ มิติบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งสิ้น

 

มินจา หยาง อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลก UNESCO ถึงกับเอ่ยปากว่า “หากมีการสร้างเขื่อนแห่งที่ 2 ขึ้นจริง ผมเชื่อว่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลวงพระบางจะถูกถอดถอนออกจาก UNESCO”  

 

ตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่นมองว่า เรากลัวว่าเมืองนี้จะถูกถอดออกจากรายชื่อมรดกโลก ซึ่ง UNESCO วางกฎเกณฑ์ไว้มากมายให้ปฏิบัติตาม แต่ตอนนี้เรากลับทำตรงกันข้ามไปหมด

 

 

ทั้งนี้ หลวงพระบางตั้งชื่อตามพระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ถวายแด่กษัตริย์ฟ้างุ้มในศตวรรษที่ 14 หลวงพระบางเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดใน สปป.ลาว มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี แต่หลังจากที่ประเทศได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1953 เมืองหลวงก็ถูกโอนไปยังเวียงจันทน์ จากนั้นเมืองนี้ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมไว้ และคงไว้ด้วยวิถีชีวิต ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมริมแม่น้ำ ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย UNESCO ในปี 1995

 

ปัจจุบันหลวงพระบางมีบ้านเรือนกว่า 600 หลัง และมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 183 แห่ง ได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อตกลงของ UNESCO เมื่อเมืองต้องการรายได้จึงเริ่มเห็นการสร้างเมืองใหม่ และคนหนุ่มสาวเริ่มกลับมาทำงานภาคการท่องเที่ยว  

 

ผลประโยชน์ที่ตามมามีราคาต้องจ่าย 

 

“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในหลวงพระบาง 10 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และพุ่งเกือบ 8 แสนคนในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023”

 

การเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงตาม ผู้คนท้องถิ่นจำนวนมากจึงเลือกที่จะขายหรือปล่อยเช่า แล้วย้ายออกไปอยู่นอกเมือง 

 

ปัจจุบันจึงเห็นเจ้าของธุรกิจเป็นชาวเวียดนามหรือจีน 

 

การพัฒนาเมืองเริ่มแลกมาด้วยการมีชาวบ้านน้อยลง เหลือวัดน้อยลง ในขณะที่พิธีตักบาตรเช้าอันงดงามดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมชมชอบกันเสียมากกว่า   

 

ดังนั้นแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วคนในท้องถิ่นจะยินดีกับสถานะเมืองมรดกโลก แต่ก็นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งข้อร้องเรียนที่มีมากขึ้น บวกกับรายได้และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ข้อจำกัดที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขไม่ให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนแปลงอาคาร ควบคู่ไปกับการขาดความช่วยเหลือทางการเงินในการบำรุงรักษาโครงสร้างที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ เพราะการพัฒนาเมืองใหม่ๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานมรดกโลก 

 

บ่อยครั้งมักเกิดคำถามว่า  

 

“ถ้าคนอยากรื้อบ้านแล้วสร้างให้ทันสมัยกว่านี้ทำไมจะทำไม่ได้?” บริษัททัวร์รายหนึ่งกล่าว 

 

จีนรุกลงทุน และการเข้ามาของรถไฟลาว-จีน 

 

รวมถึงความกังวลที่ในขณะนี้นักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ตั้งแต่ร้านค้าเล็กๆ ไปจนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีนในปีที่แล้ว บ้างก็มองว่าข้อจำกัดที่กำหนดโดย UNESCO เป็นเหมือนป้อมปราการป้องกันการรุกรานของมหาอำนาจในภูมิภาค

 

 

โดยเจ้าของธุรกิจท้องถิ่นรายหนึ่งบอกว่า “เรากังวลเกี่ยวกับทางรถไฟ เพราะชาวจีนจะเข้ามาจำนวนมากและซื้ออสังหากับที่ดินไป พวกเขามีเงินหนา ในกรุงเวียงจันทน์พวกเขาสร้างอาคารใหญ่มากมาย แต่พวกเราไม่อยากได้”

 

ผู้ประกอบการบางกลุ่มมองว่า  “หากไม่มีสถานะเป็นมรดกโลก โครงการใหญ่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้าและคาสิโนที่มีไว้ดึงดูดนักท่องเที่ยว จากนี้จะต้องตกอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ใคร อย่างไร

 

“เรานึกภาพไม่ออกเลยว่าอนาคตของเมืองนี้จะเป็นอย่างไร” 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาเมืองหลวงพระบางอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่าหลวงพระบางกำลังตกอยู่ในสถานะเสี่ยงอันตราย 

 

ย้อนปม สปป.ลาวกับทางรอด ดักหนี้

 

หากกล่าวถึงเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในช่วงระยะหลัง สปป.ลาว กำลังเผชิญด้วยสารพัดปัญหา ทั้งดักหนี้ที่อยู่ในระดับ ‘ความเสี่ยงสูง’ มานานกว่าทศวรรษ ปัญหาเหล่านี้ยังไม่สามารถหาทางออกได้ 

 

ข้อมูลระบุว่า หนี้สาธารณะและหนี้ที่ค้ำประกันสาธารณะ (PPG) ของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 ของ GDP (1.25 หมื่นล้านดอลลาร์) ตั้งแต่ปี 2019 เป็นร้อยละ 88 (1.45 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2021 หนี้สาธารณะประมาณครึ่งหนึ่งเป็นหนี้จาก ‘จีน’

 

PPG ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากผลกระทบที่นอกจากเศรษฐกิจคือโควิด ภาวะเศรษฐกิจโลก และสงครามในหลายๆ ที่ มากไปกว่านั้นวันนี้ สปป.ลาว ยังพึ่งพานักลงทุนจีน แต่การเติบโตของ GDP จีนที่ชะลอตัวก็มีผลมากขึ้นไปอีก

 

จะเห็นจากบรรดาประเทศที่มีรายได้น้อย เช่น เลบานอน ศรีลังกา ซูรินาม และแซมเบีย ต่างผิดนัดชำระหนี้จีน แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีโครงการบริหารหนี้ (DSSI) ที่เกิดจากกลุ่ม G-20 เข้ามาช่วยบรรเทาการชำระหนี้ชั่วคราว 48 ประเทศ แต่โครงการก็สิ้นสุดไปแล้ว

 

หนึ่งในนี้คือ สปป.ลาว ที่ภาวะเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นประมาณร้อยละ 2.5 ในปี 2021 แต่มูลค่าของเศรษฐกิจ สปป.ลาว และต้นทุนหนี้ยังถูกคุกคามจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงอีก ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในปี 2022 Fitch Ratings จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ สปป.ลาว อยู่ที่ ‘CCC-’  

 

 

วิกฤตการณ์มากมายในปัจจุบันได้นำไปสู่การคาดเดาต่างๆ นานาเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศดูเหมือนจะฝังรากลึกมากขึ้นจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว การเติบโตที่มุ่งเน้นไปที่แนวทางในการพัฒนาระหว่างประเทศ นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 กำลังเป็นทางเลือกหรือทางรอดของ สปป.ลาว 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X