×

‘รถไฟจีน-ลาว’ จุดเปลี่ยนของ สปป.ลาว จากประเทศไร้พื้นที่ติดทะเล สู่ประเทศการค้าไร้พรมแดน โอกาสทองของไทยอยู่ตรงไหน?

17.07.2023
  • LOADING...
รถไฟจีน-ลาว

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ย้อนที่มารถไฟจีน-ลาว เส้นทางสายไหม หรือ BRI (Belt and Road Initiative) แห่งใหม่ของจีน จุดเชื่อมการค้าทางบกแห่งสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การค้าโลก 
  • ‘สปป.ลาว’ ผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการขนส่ง เพื่อเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล สู่ประเทศที่มีกลยุทธ์ด้านขนส่งและโลจิสติกส์ 
  • ‘ท่าบกท่านาแล้ง’ เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าไทยขึ้นรถไฟจีน-ลาว เจาะไปยังตลาดจีน ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ FTA 

สัปดาห์ที่ผ่านมา THE STANDARD WEALTH  มีโอกาสเดินทางสำรวจ ‘รถไฟจีน-ลาว’ ประตูเชื่อมการค้าการลงทุนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความพิเศษของเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่กำลังเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย

 

ย่างเข้าปีที่ 2 รถไฟจีน-ลาว 

 

หากยังจำกันได้ เวลากว่า 2 ปี เส้นทางประวัติศาสตร์ ‘รถไฟจีน-ลาว’ สปป.ลาว เปิดหวูดอย่างยิ่งใหญ่ 

 

ในช่วงของการระบาดโควิด ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 ซึ่งตรงกับวันชาติลาว ครบปีที่ 46 โดยโครงการนี้ไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะใช้เวลาหารือผลกระทบและก่อสร้าง 5 ปี ใช้งบลงทุนประมาณ 1.9 แสนล้านบาท โดยการลงทุนเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐบาลจีนภายใต้นโยบายประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่รู้จักกันดีในนามยุทธศาสตร์ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ถือเป็นความสำเร็จบนเส้นทางสายไหมที่จีนและ สปป.ลาว สามารถเปิดประตูเชื่อมโครงข่ายขนส่งทางบกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังเอเชียใต้ เอเชียกลาง ทะลุไปถึงยุโรป

 

รถไฟจีน-ลาว จึงเป็นหนึ่งอานิสงส์และโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะสามารถขนส่งสินค้าไทยจากนครเวียงจันทน์ไปสู่ตลาดจีน เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ แต่เดิมไทยจะส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้ต้องใช้การขนส่งทางเครื่องบิน เรือ และรถยนต์เท่านั้น นี่จึงนับเป็นครั้งแรกของไทยที่ใช้ระบบรางในการขนส่ง 

 

จากหนองคายของไทยใช้เวลาเดินทาง 30 นาที ถึง ‘ท่าบกท่านาแล้ง’ จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าขึ้นรถไฟลาว-จีน นครหลวงเวียงจันทน์

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กับทีม THE STANDARD WEALTH เริ่มต้นการเดินทางจากด่านหนองคาย ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาทีก็ถึงนครเวียงจันทน์ เพื่อสำรวจเส้นทางขนส่งสินค้าไทยผ่านระบบราง โครงการท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง หรือเรียกว่า ‘ท่าบกท่านาแล้ง’ โดยพื้นที่นี้ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของการค้าไทย เพราะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟขนผลไม้ไทยขึ้นขบวนสู่ตลาดจีน

 

อรมนฉายภาพว่า พื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ภายในโลจิสติกส์พาร์ก ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สปป.ลาวอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในโครงการที่ สปป.ลาวพัฒนาขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (Land-Linked) เป็นจุดอำนวยความสะดวกครบวงจรในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เข้าสู่ สปป.ลาว 

 

และสินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ส่วนหนึ่งเข้าสู่ สปป.ลาว และอีกส่วนเป็นผู้ประกอบการไทยและลูกค้าจากมาเลเซีย ขนส่งสินค้าขึ้นรถไฟจีน-ลาว เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดจีน 

 

สาคร พิลางาม เล่าสถานการณ์การค้า ‘ท่าบกท่านาแล้ง’ ที่นับตั้งแต่มีรถไฟจีน-ลาว ผู้ประกอบการไทยก็หันมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้น โดยสินค้าไทยถึงจีนภายใน 15 ชั่วโมง

 

สาคร พิลางาม ผู้อำนวยการใหญ่ท่าบกท่านาแล้ง กล่าวว่า ‘ท่าบกท่านาแล้ง’ ยังต้องลงทุนอีกมหาศาล เพื่อพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมต่อภูมิภาค และเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร 

 

เพื่อเปลี่ยน สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ให้เป็นประเทศที่เชื่อมต่อทางบก และมีอีกหลายโครงการที่ สปป.ลาวพร้อมจะพัฒนาเชื่อมต่อจากด่านเวียดนาม ในการพัฒนาท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษในเวียดนามเพื่อเชื่อมการค้าจีน

 

“ขณะนี้จะเห็นว่าไทยหันมาใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาวไปจีนมากขึ้น โดยในช่วง 6 เดือน จากเดือนมกราคม-กรกฎาคมปีนี้ มีตู้ขนส่งสินค้าจากไทยมาเปลี่ยนถ่ายที่ สปป.ลาว ส่งต่อไปตลาดจีนแล้ว 2,126 ตู้ ขณะเดียวกันก็มีสินค้าจากจีนมาเปลี่ยนถ่ายที่ สปป.ลาว และต่อไปไทยมากถึง 2,072 ตู้เลยทีเดียว”

 

เมกะโปรเจกต์เส้นทางโลจิสติกส์ Landlocked-Land-Linked ของรัฐบาล สปป.ลาว โดยการออกแบบจากนักลงทุนญี่ปุ่น JICA

 

รถไฟจีน-ลาว หนุนทุเรียนไทยฟีเวอร์

 

อรมนบอกว่า หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีกระแสทุเรียนไทยในตลาดจีนได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากขบวนรถไฟสายนี้

 

หากดูจากมูลค่าส่งออกจากไทยตามเส้นทางนี้ จะเห็นว่ามูลค่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,964 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้เพียง 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) มูลค่าพุ่งขึ้น 2,848.41 ล้านบาท 

 

“ในจำนวนนี้สัดส่วนกว่า 72% หรือมูลค่า 2,073.18 ล้านบาท เป็นการส่งออกทุเรียนสดไปจีน ซึ่งเรียกว่าขยายตัวร้อยละ 364 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่เหลือรองลงมาเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลายข้าวเหนียว ยางพารา เม็ดพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์”

 

เพราะรถไฟจีน-ลาว ช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งและต้นทุน จากเมื่อก่อนทุเรียนสดส่วนใหญ่ส่งออกสู่ตลาดจีนผ่านทางถนนและทางทะเลเท่านั้น ซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งสภาพภูมิอากาศและความแออัดด้านโลจิสติกส์ ทำให้การขนส่งบางครั้งใช้เวลานานกว่า 20 วัน เมื่อมีเส้นทางนี้ก็สามารถผ่านเส้นทาง R3A ได้ใน 2 วัน หรือใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง เสิร์ฟผลไม้สดถึงมือชาวจีนได้เลย

 

ช่วง 3 ปีกระแสทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากชาวจีนอย่างมาก เมื่อเปิดรถไฟจีน-ลาว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) นอกจากทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปจีน (2,091.58 ล้านบาท) ขยายตัว 28.23% แล้ว ปัจจุบันยังมีผลไม้สดของไทยชนิดอื่นที่มีแนวโน้มทำตลาดได้ดีในจีน เช่น การส่งออกมะม่วงของไทยไปจีน มีมูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 218 ตามด้วยสับปะรด มูลค่า 6.24 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 84.04, ลำไย 108 ล้านดอลลาร์ และมังคุด สะท้อนให้เห็นว่าผลไม้ไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

หากถามว่าแต่ละวันมีการขนส่งสินค้ากี่ขบวนนั้น ปัจจุบันรถไฟจีน-ลาวมีขบวนขนส่งสินค้าเข้า-ออก 14 ขบวนต่อวัน ขาเข้าและขาออกอย่างละ 7 ขบวน ซึ่งนับตั้งแต่จีนสร้างจุดตรวจด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่ด่านรถไฟโม่ฮาน เวียดนามแล้วเสร็จ และเปิดให้นำเข้าผลไม้จากไทย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน โดยใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้มากขึ้น  

 

 รถไฟจีน-ลาว มีขบวนขนส่งสินค้าเข้า-ออก 14 ขบวนต่อวัน

 

จีนไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าผลไม้ จากข้อตกลง FTA RCEP

 

จากมูลค่าข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยสามารถทำตลาดเพิ่มการส่งออกผลไม้ประเภทอื่นๆ ไปจีนได้อีกมาก โดยเฉพาะไทยสามารถใช้แต้มต่อสิทธิประโยชน์จาก FTA ทั้งกรอบอาเซียน-จีน (ACFTA) และความตกลง RCEP โดยขณะนี้จีนไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยอีกต่อไปแล้ว 

 

โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน) พบว่า ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิ์ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) ส่งออกทุเรียนสดไปจีน มูลค่า 2,022 ล้านดอลลาร์ และใช้สิทธิ์ความตกลง RCEP ในการส่งออก มูลค่าถึง 7.5 ล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย

 

ปัจจุบัน สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทยในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 20 ของโลก โดยในปี 2022 การค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว มีมูลค่า 7,879.15 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 4,540 ล้านดอลลาร์ 

 

มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และเคมีภัณฑ์ และเป็นการนำเข้า มูลค่า 3,339.15 ล้านดอลลาร์ และมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิง เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 

 

สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์เต็มไปด้วยนักลงทุนและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามายัง สปป.ลาว

 

บัวสอน วงถาวอน ผู้จัดการ บริษัท สปีด อินเตอร์เนชันแนล ทรานสปอร์ต ลาว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับช่วงต่อจากบริษัทฝั่งไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางของไทย และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ได้เป็นอย่างดี โดยสินค้าจากไทยส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ไทยขนส่งเข้ามาที่ท่าบกท่านาแล้ง เพื่อขนขึ้นรถไฟจีน-ลาว ไปจีน ไม่ถึงครึ่งปีส่งสินค้าไปจีนแล้ว 800 ตู้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมาก โดยผลไม้ที่ฮอตฮิตที่สุดเพื่อส่งไปยังตลาดจีน จะเป็นผลไม้อื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ทุเรียน ตามด้วยลำไย มะพร้าว และส้มโอ 

 

รถไฟจีน-ลาว จะเป็นเส้นทางแห่งโอกาสที่สามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน และไทยจะใช้ประโยชน์จากแต้มต่อการค้ามากเพียงใด อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising