×

เกิดอะไรขึ้นกับ สปป.ลาว? ทั้งหนี้ท่วม เงินกีบไร้ค่า เศรษฐกิจกำลังเข้าขั้นโคม่า

09.11.2023
  • LOADING...
เกิดอะไรขึ้นกับ ลาว

หลายคนติดตามสถานการณ์เพื่อนบ้านประเทศ สปป.ลาว มาตั้งแต่ปีที่แล้ว จะเห็นสัญญาณอันตรายจากค่าเงินกีบอ่อนค่า หนี้สินที่ยังคงค้างมหาศาลจากการกู้เงินจากจีน ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงล่มสลายหลายต่อหลายครั้ง จนล่าสุดบรรดานักวิเคราะห์ต่างออกมาแสดงความกังวล หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ปีนี้ สปป.ลาว จะเผชิญหนี้สาธารณะพุ่งทะลุ 122% และหากค่าเงินกีบยังอ่อน ‘หนี้จะเป็นเสมือนภูเขาหิมะ’ แล้ววันนี้ สปป.ลาว จะหาทางออกอย่างไร?

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า หลังจากที่ สปป.ลาว กู้ยืมเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการสร้างทางรถไฟ เช่น รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (มูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สร้างทางหลวง และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ บวกกับปัจจัยราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก วิกฤตค่าเงินกีบลาวอ่อนค่าลงจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะนี้เศรษฐกิจของ สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศล่มสลายทางเศรษฐกิจ เพราะสัญญาณอันตรายที่น่าห่วงคือภาระหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงทะลุ 100% ของ GDP ไปแล้ว 

 

โดยหากย้อนต้นตอสาเหตุ จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติและเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 จากการกู้เงินมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และสารพัดปัจจัยลบดังข้างต้น ทำให้นักลงทุนต่างจับตาว่าจีนจะต่อสัมปทานระยะยาวต่อไปอีกหรือไม่

 

Belt and Road เป็นเหตุ?

 

มากไปกว่านั้น ปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า หนี้สาธารณะของ สปป.ลาว มีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 122% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยหนี้สินส่วนใหญ่ล้วนผูกพันกับการตกลงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีน ซึ่งโครงการเหล่านี้เองทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป.ลาว หมดไปกับการกู้ยืมเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

โทชิโระ นิชิซาวะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และนักวิเคราะห์ เตือนว่า หาก สปป.ลาว ไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจและปล่อยให้ลุกลามเกินกว่าจะควบคุมได้ และไม่มีข้อตกลงการแก้หนี้ที่ชัดเจนกับจีน สถานะทางการเงินของ สปป.ลาว ก็ไม่น่าจะบรรเทาลง ท้ายที่สุดประเทศจะเข้าสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ 

 

สปป.ลาว ควรหาทางเจรจาทยอยปลดหนี้กับจีน

 

แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินทั้งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การออกพันธบัตร และการทำงานร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชียเพื่อหาแนวทางในการจัดการหนี้ รวมไปถึงลดการใช้จ่ายในภาคบริการที่สำคัญ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ ก็ตาม

 

แต่ สปป.ลาว ควรหาทางเจรจาทยอยปลดหนี้กับจีน เช่น การลดหนี้ตามเงื่อนไขมูลค่าสุทธิ เพื่อให้ สปป.ลาว สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันในการชำระหนี้ได้อย่างยั่งยืน

 

เขากล่าวเสริมว่า หรือ สปป.ลาว จะขยายระยะเวลาการชำระหนี้และการลดอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เช่นเดียวกับแนวทางที่เน้นสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก เช่น การแลกเปลี่ยนหนี้เพื่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้ สปป.ลาว ต้องปฏิบัติตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแลกกับการปรับลดค่าใช้จ่ายได้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2020 จีนผ่อนปรนหนี้ให้ สปป.ลาว ในระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญจนถึงปี 2022 ถือเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยธนาคารโลกประเมินว่าการชำระหนี้ที่เลื่อนออกไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ช่วยลดประมาณ 8% ของ GDP แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือแค่ชั่วคราวเท่านั้น

 

มุมมองกระทรวงการต่างประเทศจีน

 

จนถึงขณะนี้ จีนยังไม่เต็มใจและไม่มีแผนลดหนี้ แม้จะมีสัญญาณเตือนว่าท้ายที่สุดการเจรจาก็เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย และถือเป็นผลประโยชน์อันสูงสุดของจีนในการป้องกันไม่ให้ สปป.ลาว ผิดนัดชำระหนี้ เช่นเดียวกับกรณีศรีลังกาและแซมเบีย

 

“ธนาคารจีนไม่ต้องการเป็นเจ้าหนี้ที่แบกรับภาระกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และจีนก็ไม่ต้องการเป็นผู้ให้กู้ที่ไม่น่าเชื่อถือ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะจีนไม่สามารถปล่อยให้ สปป.ลาว ผิดนัดชำระหนี้ได้”

 

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์จีน-สปป.ลาว ที่แข็งแกร่งช่วยให้จีนมีอำนาจและจุดยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังได้รับอิทธิพลภูมิภาคอินโดแปซิฟิก สิ่งนี้เองก็ยังคงสะท้อนความสัมพันธ์ระบบสังคมนิยมที่มีร่วมกันไม่เปลี่ยนแปลงระหว่างจีนกับ สปป.ลาว

 

ห่วง ‘กับดักหนี้’

 

ทั้งนี้ รายงานของสื่อบางฉบับได้เตือนถึงสิ่งที่เรียกว่ากับดักหนี้ โดยเฉพาะการที่บริษัทพลังงานของรัฐ Électricité du Laos มีสัดส่วนประมาณ  37% ของหนี้ต่างประเทศลาว ได้ลงนามในข้อตกลงสัมปทานระยะยาว 25 ปีไว้กับ China Southern Power Grid ในปี 2021 ทำให้รัฐวิสาหกิจของจีน (SOEs) ถือหุ้นใหญ่และคว้าสิทธิส่งออกไฟฟ้าภายใน สปป.ลาว ไปต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้โต้ว่านี่คือความกลัวระหว่างการทูตและกับดักหนี้ของจีนในฐานะประเทศกลุ่ม BRI หรือไม่

 

ด้านนักวิจัยจากโครงการ China Africa Research Initiative (CARI) จาก Harvard Business School ชี้ให้เห็นว่า ศรีลังกาเป็นหนี้ญี่ปุ่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย มากกว่าจีน

 

ในงานวิจัยยังระบุอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาหนี้ยังไม่พบว่าธนาคารจีนพยายาม ‘ยึดทรัพย์สิน’ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือการเข้ามาของศาลในแอฟริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่จีนกำลังพยายามพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อจัดการกับหนี้ (และการพัฒนา) ความยั่งยืนเป็นรายกรณีไป

 

สปป.ลาว ยังมีทางเลือกอีกมาก

 

ท้ายที่สุดแล้ว สปป.ลาว จะต้องกระจายการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ด้วยความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผลได้ หากไม่มีข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้

 

แต่ เปโดร มาร์ตินส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำสำนักงาน สปป.ลาว ของธนาคารโลก มองว่า รัฐบาลลาวจะต้องเจรจาต่อรองหนี้ที่กำลังดำเนินอยู่ ที่ไม่เพียงแต่กับจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหนี้ของ สปป.ลาว ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินรายใหญ่ด้วย ดังนั้น ในระหว่างนี้ สปป.ลาว ยังมีทางเลือกอีกมาก

 

ส่วน ฮารุมิ ทากุชิ นักเศรษฐศาสตร์ S&P Global Market Intelligence กล่าวทิ้งท้ายว่า การเจรจาอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปภาษี รวมถึงการลดการยกเว้นภาษีที่มากเกินไป และการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีในด้านรายได้ 

 

ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายการปฏิรูปการจัดการทางการเงิน รวมถึงการควบคุมการชำระคืนจากรัฐวิสาหกิจอย่างเข้มงวด และการให้กู้ยืม/ค้ำประกันแก่รัฐวิสาหกิจ อาจเป็นกุญแจสำคัญ

 

รัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่?

 

ทั้งนี้ หากเงินกีบซึ่งเป็นสกุลเงินของ สปป.ลาว ไม่มีเสถียรภาพต่อไปเช่นนี้ ‘หนี้จะเป็นเสมือนภูเขาหิมะ’ เพราะค่าเงินของ สปป.ลาว มูลค่าลดลงกว่าครึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เงินเกือบ 20,000 กีบ แตะระดับ 1 ดอลลาร์แล้ว และยิ่งสะท้อนอัตราเงินเฟ้อพุ่ง 46% ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการนำเข้า 

 

สะท้อนไปถึงการจัดอันดับเครดิตที่เสียอันดับความเชื่อมั่น เพราะการผิดนัดชำระเงิน ส่งผลให้ สปป.ลาว อยู่ในประเภทที่มีความเสี่ยงสูงสุด  

 

แต่เมื่อมองไปข้างหน้า แม้รัฐบาลลาวยังไม่มีแนวทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลก็ย้ำว่า วันนี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 

“เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายเศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสในการจ้างงาน สร้างการเติบโตจากการว่างงาน โดยดึงทรัพยากรมาใช้ให้มากขึ้นต่อไป”

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising