Bloomberg ออกรายงานที่ระบุว่า กองหนี้ด้อยคุณภาพมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 144 ล้านล้านบาท กำลังดึง ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ไปสู่ ‘การล่มสลายครั้งประวัติศาสตร์’ โดยที่ เอลซัลวาดอร์, กานา, อียิปต์, ตูนิเซีย และปากีสถาน มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
ศรีลังกาเป็นประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศในปีนี้ อันเกิดจากภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงและความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งตอนนี้จุดสนใจกำลังมุ่งไปที่ เอลซัลวาดอร์, กานา, อียิปต์, ตูนิเซีย และปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ Bloomberg Economics มองว่าเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้
“สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ ความเสี่ยงจากหนี้และวิกฤตหนี้ไม่ใช่เรื่องสมมติ” Carmen Reinhart หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกกล่าวในรายการ Bloomberg Television
หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่า การผิดนัดชำระหนี้เป็นไปได้จริง ข้อมูลที่รวบรวมจากดัชนี Bloomberg เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยรวมแล้ว 19 ประเทศเหล่านี้มีประชากรมากกว่า 900 ล้านคน และบางประเทศ เช่น ศรีลังกาและเลบานอน ผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งทั้งหมดมีหนี้คงค้างในสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร หรือเยน
สิ่งที่ต้องจับตามองคือ วิกฤตการณ์แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การล่มสลายทางการเงินของรัฐบาลหนึ่งๆ สามารถสร้างผลกระทบแบบโดมิโน วิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือวิกฤตหนี้ในลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 ผู้เฝ้าดูตลาดเกิดใหม่กล่าวว่าช่วงเวลาปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกัน
เช่นเดียวกับตอนนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งผู้ที่อยู่ภายใต้ความเครียดมากที่สุดมักจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่กว่า เช่น จีน, อินเดีย, เม็กซิโก และบราซิล ที่มีงบดุลภายนอกที่แข็งแกร่ง และสำรองเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามรายงานของ Bloomberg ชี้ว่า ความวุ่นวายทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งผูกติดอยู่กับค่าอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP