เมื่อเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุสะเทือนขวัญคนไทยทั้งสังคม กับคดีชิงทองที่จังหวัดลพบุรี โดยในที่เกิดเหตุ คนร้ายได้ลงมือใช้อาวุธยิงใส่ผู้คนในบริเวณใกล้เคียง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 4 ราย ขณะที่คนร้ายหลบหนีลอยนวลอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
ต่อมาไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งสืบทราบภายหลังคือ ประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือกอล์ฟ อายุ 38 ปี อาชีพครู เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรี โดยเจ้าตัวสารภาพว่า เป็นผู้ลงมือจริง อ้างว่า ทำไปเพราะปัญหาส่วนตัวและปัญหาการเงินของตัวเอง พร้อมแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียทั้งหมด
คดีดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนที่ติดตามข่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวที่คาดไม่ถึงว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เนื่องจากตลอดการทำงานที่ผ่านมา ผอ.กอล์ฟ แสดงพฤติกรรมเชิงบวกอยู่เสมอ เป็นคนอัธยาศัยดี ไม่เคยดุ ก้าวร้าว หรือรุนแรงกับใครทั้งสิ้น จนเกิดวลีหนึ่งขึ้นมาบนสื่อโซเชียล เพื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ‘คนสมัยนี้รู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ’
ล่าสุดในรายการ THE STANDARD Daily ได้มีการหยิบยกคดีชิงทองที่จังหวัดลพบุรีมาพูดคุยกับ ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ที่เคยพูดคุยและสัมภาษณ์นักโทษคดีฆาตกรรมมานับร้อยชีวิต เพื่อมาวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมของ ผอ.กอล์ฟ ว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากอะไร
มองคำสารภาพของกอล์ฟ ประสิทธิชัย มีความจริงใจหรือไม่
ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ บอกว่า “ผมคิดว่าตอนนี้มันยังเร็วเกินไปที่จะคิดว่าเขาตอบออกมาแล้วทุกอย่าง เราต้องมองผ่านวิธีการคิดของเขาให้ได้ หรือพูดง่ายๆ คือคิดในมุมมองของผู้ก่อเหตุ เพราะถ้าเราอยากจะเข้าใจอาชญากร เราต้องคิดแบบอาชญากรให้ได้
“ฉะนั้น ผมจะสมมติตัวเองขึ้นมา ถ้าสมมติผมเป็นเขา (ประสิทธิชัย) วันหนึ่งผมปล้นทองมา และหลบหนีเป็นเวลา 2 สัปดาห์ วันนี้เกิดถูกจับ ผมจะพูดอะไรบ้าง ผมก็จะพยายามพูดอะไรก็ได้ที่ไม่พันตัวเองให้มากที่สุด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า กระแสสังคมบนโซเชียลเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเขารู้ว่าตอบแบบไหนจะไม่ถูกใจใคร ตอบแบบไหนจะเข้าตัวเอง
“ดังนั้น ผมเชื่อว่า สิ่งที่เขาตอบวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวเขาทั้งหมด เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเขาถูกตัดสินเรียบร้อย ผ่านการรับโทษพอสมควรแล้ว หลังจากนั้นค่อยย้อนกลับไปถาม ซึ่งส่วนใหญ่นักจิตวิทยาจะเข้าไปสัมภาษณ์หลังจากเวลานั้น เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เขาอาจจะตอบอะไรที่เป็นความจริงมากกว่านี้”
มองผู้ต้องหาคนนี้เป็นคนอย่างไร
“สิ่งที่ผมวิเคราะห์ไว้อันดับแรกเลยคือ อาชญากรคดีนี้ไม่ได้เป็นเหมือนคนร้ายปกติทั่วไปแบบที่ก่อเหตุในร้านทอง ตัวผมเองเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับคดีในร้านทองและร้านทองออโรร่าโดยเฉพาะ ซึ่งเคสของร้านทองออโรร่าที่ผ่านมาไม่มีการตายเกิดขึ้นเลย ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีผู้เสียชีวิตจากการชิงทองที่ร้านทองแห่งนี้
“โดยปกติผู้ที่ก่อเหตุชิงทองจะเข้าไปขู่ บางทีก็ยังไม่มีการหยิบอาวุธขึ้นมาด้วยซ้ำ หรือจะหยิบอาวุธก็จะยังไม่ยิงจนกว่าจะมีการต่อสู้เกิดขึ้น แต่กรณีนี้ต้องบอกว่า ไม่เหมือนเลย บุคลิกคนละแบบกับผู้ก่อเหตุชิงทองทั่วไป อย่างที่เห็นในคลิปว่า เขาเดินมาเจอคนยืนเลือกทองอยู่ก็ยิงใส่เขาเลย ยิงเปิดทางตั้งแต่เข้าห้าง และที่สำคัญที่สุดคือ ลักษณะตอนวิ่งหนี จะเห็นว่า มี รปภ. คนหนึ่งมาปิดประตูเพื่อไม่ให้เขาหนีออก แต่พอ รปภ. จะเดินหนี เขาก็เลือกที่จะหันกลับไปยิง รปภ. คนนั้น มันเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่า เขากำลังสนุกกับการก่อเหตุครั้งนี้
“อีกอันที่ผมวิเคราะห์ก็คือ การแต่งกายของเขา อาวุธปืนที่เขาใช้ถือว่าเข้าขั้นไฮโซพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตัว รองเท้า เสื้อผ้า วิธีการทำให้เห็นว่า เลือกการแต่งตัวมาเป็นอย่างดี จนเดินทางมาถึงวันนี้ เราได้เห็นแล้วว่า ผู้ก่อเหตุทำอาชีพอะไร มันก็เป็นการบอกได้อย่างหนึ่งว่า ตัวของเขาไม่ได้เป็นกลุ่มอาชญากรที่มีเรื่องราวภูมิหลังแบบปกติทั่วไปอย่างการถูกรังแก ถูกกระทำ บ้านไม่มีเงิน หรือหมดหนทาง หรือพูดง่ายๆ คือเขาไม่ใช่อาชญากรที่มาจากการถูกบีบคั้นให้กระทำเรื่องผิดกฎหมาย หากแต่เขาเป็นคนที่มีความสมบูรณ์ในชีวิตด้วยซ้ำ”
คำกล่าวอ้างที่ว่า ‘พลาดไปยิงเด็ก พลาดไปยิงพนักงานซ้ำ’ เป็นคำโกหก?
“คำพูดที่อ้างว่า พลาดไปยิงเด็ก ส่วนตัวเป็นคำพูดที่ผมค่อนข้างเชื่อนิดหนึ่ง แน่นอนว่าเดินเข้ามา มันไม่มีความจำเป็นต้องยิงเด็กเลย เขาอาจจะยิง รปภ. แล้วมันแฉลบไปโดนเด็ก ซึ่งมีการวิเคราะห์แล้วว่า มันมีโอกาสพลาดไปโดนเด็กได้ เพราะถ้าเขาตั้งใจจะยิงเด็กจริงๆ วิถีของกระสุนจะมาจากมุมกดของศีรษะ แต่ถ้ากระสุนสวนขึ้นอย่างในรูปคดี แสดงว่ามันแฉลบขึ้นมา แต่ที่สำคัญที่สุดคือ รปภ. คนสุดท้ายที่เข้ามาปิดประตู แต่ผู้ก่อเหตุยังหันกลับไปยิงซ้ำ อันนี้ดูเป็นสิ่งที่ใจร้ายที่สุด
“ผมใช้คำว่า เขาสนุกกับการก่อเหตุในครั้งนี้ เพราะเขาทำเหมือนกำลังสนุกกับสิ่งที่เขาก่อขึ้น อย่างกรณีที่บอกว่า ถุงมือเข้าไปพันในไกปืน แล้วเผลอทำปืนลั่น อันนี้ผมไม่เชื่อ แต่กรณีที่ปืนลั่นใส่พนักงานสาว มีคนเอามาตั้งข้อสันนิษฐานหลายอย่างว่า การยิงพนักงานสาวนี้เกิดจากคดีชู้สาวหรือเปล่า ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะการยิงของเขามันดูตั้งใจกว่าปกติ หรือเขากำลังสนุกกับช่วงเวลานั้นจริงๆ เหมือนคนที่กำลังมีความสนุกกับสิ่งเหล่านี้ เช่น กลุ่มคนที่ชอบเล่นบีบีกัน หรือกลุ่มคนที่ชอบอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับตำรวจ ทหาร ซึ่งก็จะมีกลุ่มคนที่มีบุคลิกประมาณนี้ หรืออาจจะเกิดขึ้นเพราะว่าเขาเป็นคนชอบเล่นปืนจริงๆ”
จากความชอบยิงปืน สู่แรงผลักอยากยิงคนอยู่ในใจ
“ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เขามีความชอบและบุคลิกในกิจกรรมยิงปืน มีแฟชั่นส่วนตัวเกี่ยวกับด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งความชอบเหล่านี้สามารถสั่งสมมาแปรเปลี่ยนเป็นความเชี่ยวชาญ จนกระทั่งถึงวันที่เกิดเหตุ อาจมีปัจจัยอื่นผนวกด้วย จนนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว”
รู้จักประเภทฆาตกรกับนักอาชญาวิทยา
- Born Killer: เกิดมาก็กลายเป็นฆาตกรตั้งแต่กำเนิด
- Psychosis: วิกลจริต หรือคนที่มีอาการป่วยทางจิต อาจจะเกินกว่ากลุ่มคนที่ผิดปกติทางบุคลิกภาพเพียงอย่างเดียว เช่น ตัวละครในภาพยนตร์ Joker รวมถึงผู้ที่ใช้สารเสพติดก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
- Pressure: อาชญากรรมจากความกดดัน ความกดดันที่เกิดขึ้นทั้งจากสภาพสังคมและสภาพแวดล้อม ซึ่งประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนจากอารมณ์เพียงชั่ววูบหรือแรงกดดันในจิตใจ
- Occasional: อาชญากรเป็นครั้งคราว สามารถพบเห็นได้จากเหตุทะเลาะวิวาท ลักขโมย ส่วนใหญ่จะพบว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นจะอยู่ในขอบข่ายอาชญากรรมประเภทนี้
กอล์ฟ ประสิทธิชัย เข้าข่ายประเภทไหน
“มีคนเคยบอกว่า กอล์ฟ ประสิทธิชัยเข้าข่ายในข้อ 2 กับข้อ 3 มากกว่า แต่ถ้าถามผมคิดว่า เป็นข้อ 3 มากกว่า ก็คือเกิดจากสภาวะความกดดัน อาจจะมีเรื่องของหนี้สิน เรื่องทางอารมณ์ด้วย ซึ่งถึงตอนนี้เรายังไม่แน่ใจว่าเขามีปัญหาอื่นด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีเรื่องของประเด็นทางชู้สาว โดยส่วนตัวผมยังไม่ได้ตัดประเด็นนี้ทิ้ง เพราะอาจมีเหตุผลซ่อนอยู่
“ซึ่งเรื่องการชิงทองก็ถือเป็นภาวะความกดดันทางอารมณ์อย่างหนึ่ง เพราะเราอาจจะมองว่า เขามีอาชีพการงานที่ดี แต่ไม่ได้แปลว่า เขาจะไม่มีหนี้สิน เขาอาจจะมีความกดดันเรื่องนี้อยู่พอสมควร ประจวบเหมาะกับช่วงที่เขาอาจจะอยากลองสร้างเรื่องราวแฟนตาซีในชีวิตจริง แต่ถึงตรงนี้ เรายังไม่มีการวิเคราะห์ออกมาว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร เพราะคนที่จะวิเคราะห์ได้จริงๆ ต้องใช้แบบทดสอบทางจิตแพทย์ เพื่อทดสอบว่า เจ้าตัวมีความผิดปกติทางสภาพจิตในระดับไหน ป่วยด้วยโรคอะไรหรือไม่ในตอนนี้”
การที่ผู้กระทำผิดติดคุกเป็นเวลานาน สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงไหม
“เปลี่ยนได้ครับ อย่างของ หมอเสริม สาครราษฎร์ ก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่ทั้งนี้ การจะเปลี่ยนคนคนหนึ่งมันต้องใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควร ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในของทัณฑสถานด้วย ที่ผ่านมาเรามองผู้ต้องขังคือผู้ที่ถูกลงโทษ ต้องถูกลงโทษเท่านั้น แล้วเราไม่สนใจในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเขาเลย แต่หลังจาก 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า แนวทางในการช่วยแก้ไขชีวิตของคนเริ่มดีขึ้น เพราะเราเริ่มมองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตผู้ต้องขังแต่ละคนให้ดีขึ้น
“แต่ทุกอย่างกลับมาพัวพันอยู่ที่ปัญหาเดิมคือ การที่นักโทษคดียาเสพติดเข้าไปแออัดอยู่ในเรือนจำประมาณ 3 แสนคน จะให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มีอยู่ไม่มากมาดูแลผู้ต้องขังด้วยจุดประสงค์เปลี่ยนให้นักโทษเป็นคนดี มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ฉะนั้น มันก็จะเข้าทฤษฎีเดียวกับการที่ครูดูแลนักเรียน
“ดังนั้น ต้องเริ่มจากการคัดแยกนักโทษคดียาเสพติดออกไปก่อน แล้วค่อยมาโฟกัสกับนักโทษคดีฆาตกรรม ว่าเขาต้องแก้ไขอย่างไร แล้วค่อยดูแลเป็นเคสต่อเคสไป”
สุดท้าย การนำเคสคดีชิงทองจังหวัดลพบุรีมาพูดคุย เป็นเพียงการวิเคราะห์และเพื่อศึกษาแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจบกระบวนการในชั้นศาล เพราะเมื่อถึงวันนั้น ความลับบางอย่างที่ถูกปกปิดภายในใจของผู้ก่อเหตุ อาจถูกเปิดเผยเพิ่มเติมมากกว่าที่ได้ฟังจากงานแถลงข่าวล่าสุดก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล