×

มองไปข้างหน้า ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลังเส้นตายมาตรการปิดเมือง 30 เมษายน 2563

13.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การที่คนไทยทั้งประเทศจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ‘แบบเดิมๆ’ ในช่วง 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปีข้างหน้าคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่อให้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ประเทศเราก็จะยังอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อหรือการระบาดให้หมดไปได้อย่างถาวร ไม่ว่าจะภายในสิ้นเดือนนี้ หรือในอนาคตที่เรายังจะต้องติดต่อกับโลกภายนอก
  • จนกว่าจะสามารถนำวัคซีนมาใช้กับคนไทยทั่วประเทศได้ ไม่ว่าเราจะออกจากการกักตัวเองได้เมื่อใด 30 เมษายน 2563 หรือไม่ คนไทยส่วนใหญ่ก็จะยังต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ตัวเองติดเชื้อไปอีกนานอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี
  • ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจัดระยะห่างที่มากขึ้น หรือความต้องการที่ลดลง (เช่น แท็กซี่) อาจทำให้บางธุรกิจต้องหยุด ลดขนาด หรือกระทั่งปิดตัวลง และถึงแม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ก็อาจส่งผลแรงขนาดที่ทำให้บางธุรกิจไม่สามารถกลับมาได้อีก
  • แม้กระทั่งเมื่อผ่านช่วงกักตัวเองในบ้านรอบนี้ไปอย่างปลอดภัยแล้ว แทบทุกบ้านก็ยังควรต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจมีคนในบ้านป่วยด้วยอาการที่น่าสงสัย ว่าจะสามารถเฝ้าระวังโดยการแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่นในบ้านได้หรือไม่ อย่างไร 

แน่นอนว่าคนไทยจำนวนมากที่กักตัวอยู่ในบ้านในขณะนี้คาดหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตที่ปกติหรือเกือบปกติหลังวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ข้างหน้า แม้ว่าหลายจังหวัดจะยังเพิ่มความเข้มข้นด้วยมาตรการปิดเมือง แต่จังหวัดเหล่านั้นต่างก็กำหนดเวลาปิดเมืองไว้ถึงแค่ 30 เมษายนแทบทั้งนั้น 

 

ถึงแม้ว่าจะมีบางจังหวัดที่ระวังที่จะยังไม่ได้กำหนดเวลาเลิกปิดเมืองเอาไว้ แต่การที่คนไทยทั้งประเทศจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ‘แบบเดิมๆ’ ในช่วง 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีข้างหน้าคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่อให้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ (ที่เราทราบ) ลงสู่ระดับที่รัฐบาลพอใจและมั่นใจว่าระบบรักษาพยาบาลของเราจะรับมือได้นั้น ประเทศเราก็จะยังอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อหรือการระบาดให้หมดไปได้อย่างถาวร ไม่ว่าจะภายในสิ้นเดือนนี้ หรือในอนาคตที่เรายังจะต้องติดต่อกับโลกภายนอก

 

ตราบที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยและในโลกยังไม่มี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) ที่มากพอที่จะขัดขวางการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังจะต้องใช้ชีวิตภายใต้ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้โดยที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อใดก็ได้ และเมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19 ในสภาวการณ์เช่นนี้ ผู้ที่ติดเชื้อก็อาจจะเสียชีวิตโดยเฉลี่ยร้อยละ 2 (ประมาณ 20 เท่าของอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามปกติ) และอาจสูงถึงร้อยละ 15 สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย หรืออาจมากกว่านั้นถ้าระบบรักษาพยาบาลรับมือไม่ไหว ซึ่งการเสียชีวิตเกิดได้ บางครั้งก็อย่างรวดเร็วกับคนที่ปกติมีร่างกายแข็งแรง แต่ทว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ และร่างกายไม่สามารถรับมือกับเชื้อได้ดีเหมือนคนส่วนใหญ่

 

การระบาดจะหยุดลงหรือควบคุมได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่ามี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) ซึ่งปกติจะเกิดได้สองทางหลักๆ คือ 

 

  1. คนส่วนใหญ่ได้รับเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาตามธรรมชาติ 
  2. การกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ร่างกายรู้จักเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นขึ้นมา 

 

ความสูญเสียชีวิตนับแสนคนในทุกวันนี้ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าถ้าใช้วิธีแรกจะก่อให้เกิดความสูญเสียที่มากเกินไป แทบทุกประเทศจึงหันมาใช้วิธีหยุดการระบาดของเชื้อให้ได้ก่อนโดยการจำกัดการติดต่อของผู้คน ควบคู่ไปกับการไล่ตามและควานหาผู้ติดเชื้อ ในขณะที่เร่งพัฒนาวัคซีนขึ้นมา 

 

ซึ่งด้วยกระบวนการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ คาดกันว่าน่าจะเริ่มผลิตออกมาใช้ได้ในต้นปีหน้า แต่ก็คงจะเริ่มใช้มากในประเทศที่ประสบกับการระบาดอย่างรุนแรงก่อน และกว่าที่ประเทศไทยจะสามารถนำวัคซีนมาใช้กับคนไทยทั่วประเทศได้ก็น่าจะเป็นช่วงกลางหรือปลายปีหน้า (2564) เป็นอย่างเร็ว

 

 

จนกว่าจะถึงวันนั้น ไม่ว่าเราจะออกจากการกักตัวเองได้เมื่อใด 30 เมษายน 2563 หรือไม่ คนไทยส่วนใหญ่ก็จะยังต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ตัวเองติดเชื้อไปอีกนานอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี

 

แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร คนไทยและคนทั่วโลกก็ควรต้องได้รับทราบเอาไว้ เพราะในขณะนี้ดูแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่นที่ยอมรับได้เหลือให้เลือกจริงๆ

 

ชีวิต (ปกติ) ใหม่? (New Normal) ของคนไทยในช่วงรอวัคซีน

เราอาจมองช่วงที่รอวัคซีนเป็น ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ โดยตั้งความหวังเอาไว้ว่า เมื่อมีการใช้วัคซีนอย่างกว้างขวางแล้วเราก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมก็ย่อมได้ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยาวนานขนาดนี้ (ที่จริงๆ อาจนานกว่า 2 ปีเสียด้วยซ้ำ) คนจำนวนมากก็ต้องปรับตัวและปรับวิถีชีวิตไปอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้ว การกลับมาสู่จุดเดิมก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป 

 

แน่นอนว่าในบรรดาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น หลายอย่างจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ที่บางอย่างอาจถูกนำมาใช้เร็วขึ้น และช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของทั้งสังคมและปัจเจกบุคคลลงได้ แต่กิจกรรมในชีวิตประจำวันอีกหลายอย่างก็จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ความต้องการอาจจะลดลงด้วย ซึ่งอาจทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถทำธุรกิจหรือให้บริการแบบเดิมอีกต่อไป ต้องเสาะหาลู่ทางปรับเปลี่ยนไปให้บริการอื่น (เช่น รถตุ๊กๆ หันไปรับบริการส่งของมากขึ้น) หรืออาจต้องหาทางเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นเลย

 

  1. การเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และดิจิทัล

เทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตมาพักใหญ่แล้ว และมีส่วนช่วยทำให้องค์กรและธุรกิจจำนวนมากสามารถใช้คนจำนวนมากให้ทำงานจากบ้าน (Work from Home) ได้ง่ายขึ้น คงจะได้ทั้งแรงผลักดันและแรงหนุนส่งให้พัฒนาเร็วขึ้นไปอีก เช่น การมีระบบการประชุมขนาดใหญ่ที่คนหลายร้อยเข้ามาร่วมประชุมพร้อมๆ กันได้

 

เงินดิจิทัล ธนาคารออนไลน์ และธนาคารมือถือ (Mobile Banking) ซึ่งมีการใช้มากขึ้นในการซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา (รวมทั้งหลังจากที่มีการห้ามใช้ถุงพลาสติก) และคงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการใช้เงินกระดาษและเหรียญ รวมไปถึงการใช้ตู้ ATM ก็คงจะเติบโตและมีโอกาสที่ถูกนำมาใช้เป็นเงินหลักของประเทศเร็วขึ้น

 

ที่ผ่านมาเคยมีผู้เป็นห่วงว่ากลุ่มคนจนผู้มีรายได้น้อยจะเข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ที่เติบโตเร็วมาก ซึ่งก็คงมีประเด็นที่น่าห่วงอยู่บ้าง แต่การที่คนไทยจำนวนมากสามารถเข้ามาลงทะเบียนกับโครงการที่ผ่านมาของรัฐอย่าง ‘ชิมช้อปใช้’ และล่าสุดก็มีการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือของคนจำนวนมากถึง 24 ล้านคน ก็มีส่วนที่เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าคนไทย รวมไปถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากมีความคุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนมากขึ้น 

 

ซึ่งความต้องการใช้สมาร์ทโฟนที่คงจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่คนส่วนใหญ่ต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพกันต่อไป ก็น่าจะผลักดันให้เทคโนโลยี 5G ขยับไปได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งรัฐควรจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ พร้อมๆ กับกำกับดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่ไม่แพง เพราะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย

 

เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาให้เป็นการศึกษาทางไกลได้ไม่ยากนัก ซึ่งคงจำเป็นสำหรับอุดมศึกษาในปีการศึกษานี้ (อาจจะปีหน้าด้วย) โดยอาจผสมผสานกับเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ใช้สื่อโทรทัศน์ ซึ่งคงต้องใช้ช่องโทรทัศน์ดิจิทัล (รวมช่องที่ว่างอยู่) โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลมาเสริมด้วย 

 

สำหรับระดับมัธยมหรือต่ำกว่า ก็อาจใช้สื่อทั้งสองผสมกันได้ โดยคงต้องใช้สื่อโทรทัศน์เป็นหลัก (แต่เด็กไทยไม่น้อยก็มีหรือเข้าถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งควรนำมาเสริมด้วยเช่นกัน) หรือถ้าต่อไปเรามีความรู้เรื่องการติดเชื้อในเด็กมากพอและประเมินแล้วว่าความเสี่ยงในการเปิดโรงเรียนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก็อาจจะเลือกใช้หรือผสมผสานวิธีนี้เข้ากับวิธีทางไกลด้วยก็ได้ ซึ่งคงทำให้สามารถลดวันเปิดเรียนลงด้วย แต่ก็จะต้องหาทางจัดการกับปัญหาการเดินทางไปกลับโรงเรียน และการจัดการระยะห่างภายในครัวเรือน (ข้อ 3.) ให้รัดกุมเพียงพอเพื่อไม่ให้เด็กกลายเป็นพาหะนำโรคระบาดไปสู่ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ยากมาก และมองจากภาพรวมในขณะนี้แล้วก็น่าจะยังเสี่ยงเกินไปในหลายจุด

 

  1. เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป: ระยะห่างและความไว้วางใจคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากสาขาอย่างเทคโนโลยีการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และดิจิทัลที่น่าจะได้ประโยชน์จากวิกฤตนี้แล้ว ภาคเกษตรโดยรวมก็น่าจะได้ประโยชน์บ้างจากการที่วิกฤตนี้ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดสูงขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ได้ช่วยครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรที่ยากจนมากนัก เพราะในระยะหลังครัวเรือนกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่มีรายได้หลักจากลูกหลานที่ออกไปทำงานนอกภาคเกษตร ซึ่งในขณะนี้ลูกหลานจำนวนมากกลับมาอยู่บ้านแทน แต่ลูกหลานจำนวนหนึ่งก็น่าจะมีทักษะด้านอินเทอร์เน็ตมากพอที่จะเปิดช่องทางการขายสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป หรืออาหารขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งเราเคยมีตัวอย่างความสำเร็จอยู่บ้างในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำเมื่อ 3-4 ปีก่อน

 

ประเทศไทยเคยมีรายได้ส่วนสำคัญที่มาจากภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ารายได้ส่วนนี้จะหายไปมาก ทั้งจากปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจในประเทศต้นทาง รวมทั้งประเทศจีนที่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก และแม้กระทั่งคนไทยเองก็คงเดินทางและท่องเที่ยวน้อยลง หลายกิจการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อีกหลายกิจการโดยเฉพาะที่เป็นกีฬา สถานบันเทิง รวมทั้งโรงภาพยนตร์ก็อาจต้องปิดกิจการไปในช่วงนี้ หรืออย่างน้อยหลายกิจการที่จะกลับมาเปิดได้คงต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้าให้มากขึ้น

 

สำหรับธุรกิจและการให้บริการที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างให้มากขึ้นนั้น การเพิ่มระยะห่างมักหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน ขนส่งสาธารณะ รถตู้ ร้านอาหาร แท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์ ต่างก็มีความท้าทายว่าจะจัดบริการอย่างไร (รวมทั้งการใช้หมวกกันน็อก)

 

 

การจัดระยะห่างสำหรับรถโดยสารสาธารณะที่เคยแออัดก็เป็นความท้าทายมาก และอาจจะมีปรับตัวที่หลายคนจะจินตนาการไม่ถึง เช่น รถสองแถว (หรือรถเปิดที่ใช้ตามแหล่งท่องเที่ยว) อาจจะกลับเข้ามาแทนรถตู้ติดแอร์

 

คนจนหรือรายเล็กที่ขายอาหารหรือผลไม้ริมถนนหรือรถเข็นก็อาจมีปัญหาเพิ่มขึ้น เมื่อผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น

 

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจัดระยะห่างที่มากขึ้น หรือความต้องการที่ลดลง (เช่น แท็กซี่) อาจทำให้บางธุรกิจต้องหยุด ลดขนาด หรือกระทั่งปิดตัวลง และถึงแม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ก็อาจส่งผลแรงขนาดที่ทำให้บางธุรกิจไม่สามารถกลับมาได้อีก ในส่วนนี้รัฐอาจควรพิจารณาด้วยว่ามีกิจการอะไรที่สำคัญที่รัฐควรอุดหนุนการขาดทุนชั่วคราวที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งอาจรวมถึงการคมนาคมขนส่งที่ถ้าปล่อยให้ขาดแคลนมากก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาระบาดของโรค เนื่องจากความขาดแคลนอาจทำให้ไม่สามารถรักษาระยะห่างที่กำหนดไว้ได้จริง 

 

แต่สำหรับกิจการจำนวนมากที่เมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้วความต้องการน่าจะลดลงไปด้วยนั้น รัฐควรสนใจช่วยเหลือตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าจะพยายามรักษาให้ธุรกิจทั้งหมดอยู่ได้เหมือนเดิม

 

  1. ระยะห่างภายในครัวเรือน

ในความเป็นจริงแล้วเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่ทางภาครัฐยังพูดถึงไม่มากเท่ากับมาตรการแบบเคอร์ฟิวหรือปิดเมืองก็คือการจัดการระยะห่างภายในครัวเรือน ซึ่งก็เป็นกุญแจสำคัญมากในช่วงกักตัวเองในบ้านช่วงนี้ (นอกจากมาตรการแนว ‘กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ’ ที่โปรโมตกันมากแล้ว) 

 

ซึ่งสำหรับครอบครัวจำนวนมากที่ไม่ได้มีบ้านที่ใหญ่มาก การควบคุมระยะห่างภายในบ้านอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก

 

ในครั้งนี้มีโอกาสมากที่ครัวเรือนส่วนใหญ่จะออกจากการกักตัวโดยที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในครัวเรือน ซึ่งอาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของสิ่งที่เราช่วยกันทำช่วงนี้ แต่นั่นไม่ได้เป็นหลักประกันที่เพียงพอที่บอกว่าการจัดการภายในบ้านดีพอแล้ว เพราะเมื่อไม่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในบ้านก็ย่อมไม่มีการติดเชื้อต่อเกิดขึ้น

 

ดังนั้นแม้กระทั่งเมื่อผ่านช่วงกักตัวเองในบ้านรอบนี้ไปอย่างปลอดภัยแล้ว แทบทุกบ้านก็ยังควรต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจมีคนในบ้านป่วยด้วยอาการที่น่าสงสัย ว่าจะสามารถเฝ้าระวังโดยการแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่นในบ้านได้หรือไม่อย่างไร 

 

สำหรับบ้านที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ควรต้องตระเตรียมว่าจะรับกับสถานการณ์เช่นนั้นอย่างไร ซึ่งอาจจะไม่เป็นปัญหามากในภาวะที่ไม่มีการระบาดที่รุนแรง ซึ่งการขอรับการตรวจจากสถานพยาบาลคงจะทำได้ไม่ยากในเวลาที่รวดเร็วพอ แต่ถ้าในสถานการณ์ที่ต่างออกไป ครัวเรือนอาจต้องเตรียมแผน 2 หรือแผน 3 เอาไว้รับมือด้วย

 

ในส่วนของภาครัฐเองนั้น นอกจากในช่วง 3 สัปดาห์ข้างหน้าควรจะแนะนำวิธีจัดการภายในครัวเรือนที่แต่ละครัวเรือนควรต้องอยู่ร่วมกันในช่วงนี้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐควรต้องทำอยู่แล้วนั้น ก็ยังควรใช้โอกาสนี้ที่คนส่วนใหญ่อยู่ติดบ้าน มาแนะนำถึงวิธีการจัดการระยะห่างในครัวเรือนทั้งในขณะนี้และหลังจากนี้ และวางแผนสำหรับการเฝ้าระวังและการจัดการการเจ็บป่วยของคนในครัวเรือนในอนาคตด้วย เพื่อจะช่วยลดโอกาสของการกลับมาระบาดของโรคหลังจากที่ออกจากการกักกันตัวเองในครั้งนี้

 

  1. การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคอื่น

นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 ซึ่งนอกจากอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่สถานพยาบาลต้องทุ่มสรรพกำลังไปจัดการกับโควิด-19 แล้ว หลายคนอาจลังเลที่จะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะไม่อยากเสี่ยง ‘เดินไปหาโรค’ เอง ซึ่งในขณะนี้ สปสช. และหลายโรงพยาบาลเริ่มปรับมาใช้วิธีส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านแทน และมีการทดลองระบบแพทย์รักษาทางไกล (Telemedicine) ในบางพื้นที่ เนื่องจากความเสี่ยงด้านนี้จะยังคงอยู่ไปอีกนาน เราจึงน่าจะได้เห็นการปรับระบบการรักษาพยาบาลที่อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต ที่มีการคัดกรองผู้ป่วยทางไกลและนัดหมายเฉพาะคนไข้ที่จำเป็นจริงๆ ไปโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการไปสถานพยาบาลแล้ว ก็น่าจะทำให้ระบบรักษาพยาบาลโดยรวมมีประสิทธิภาพมากกว่าในระบบปัจจุบันที่ แม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถไปพบแพทย์เมื่อต้องการ (ในระบบวอล์กอิน) แต่ก็อาจได้รับการรักษาที่เร่งรีบ เพราะมีผู้รอรับการรักษาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

 

สิ่งที่น่าจะเริ่มดีขึ้น

ถ้าวิกฤตการระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ขยายตัวรุนแรงไปกว่านี้มาก และจำนวนผู้ป่วยใหม่ในไทยค่อยๆ ลดลง เราก็คงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องโควิด-19 ในทางที่ดีขึ้นในประเทศไทยอย่างน้อยสองเรื่องคือ การตรวจเชื้อ/ภูมิคุ้มกัน และการรักษา

 

การตรวจเชื้อเคยเป็นปัญหามากตั้งแต่แรกที่มีสถานที่ตรวจได้น้อย และมีปริมาณชุดตรวจและน้ำยาที่จำกัดมาก แต่ระบบการตรวจของไทยก็ค่อยๆ ขยายเพิ่มศักยภาพขึ้นมาเรื่อยๆ และค่อยๆ สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการขอตรวจลงได้ในหลายด้าน เช่น กรณีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกจะตรวจเชื้อเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากบางเมืองในบางประเทศ ก็ขยายให้ครอบคลุมผู้ที่เดินทางมาจากทุกประเทศ ที่วัดอุณหภูมิที่สนามบินหรือด่านตรวจได้ 37.3 องศาขึ้นไป หรือมีอาการอื่นของระบบทางเดินหายใจ และในขณะนี้ในบางพื้นที่ที่มีการระบาด นอกจากจะรับตรวจผู้ที่มีอาการแล้ว ยังมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ที่เข้ามารายงานตัวด้วยตนเองที่หลังจากตรวจแล้วพบเชื้อด้วย ซึ่งต่อไปในอนาคตทั้งประเทศก็คงจะตรวจให้ผู้ที่มีอาการที่สงสัยว่าจะป่วยได้ง่ายขึ้น รวมทั้งคงจะมีการตรวจภูมิคุ้มกัน (ซึ่งจะบอกประวัติการติดเชื้อและหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อในอนาคต) มากขึ้นด้วย

 

ในด้านการรักษานั้น นอกจากการขยายสถานพยาบาลที่ทำให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบสามารถรองรับได้ในกรณีที่จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม ไทยก็เริ่มมีสต๊อกของยาต้านไวรัสที่มีรายงานผลการรักษาทางคลินิกที่ดีที่สุดในขณะนี้ (ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นทดลอง รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยในด้านอื่นด้วย) ในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้สามารถให้ยากับผู้ที่มีอาการในระยะแรกๆ ได้เร็วขึ้น (เพื่อสกัดการแบ่งตัวของไวรัสที่ยังมีไม่มาก) และน่าจะช่วยให้ผลการรักษาในภาพรวมดีขึ้นด้วย

 

แต่ถึงที่สุดแล้วในขณะนี้ความหวังที่คนไทยจะออกไปจาก ‘ชีวิตปกติใหม่’ กลับไปสู่ ‘ชีวิตปกติเดิมๆ’ ก็คงยังต้องฝากไว้มากที่สุดกับวัคซีน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการทดลองอยู่ในบางประเทศ และน่าจะยังเป็นวิธีที่หวังผลได้มากที่สุด ทำให้ถ้าอนาคตไม่พลิกผันไปไกลจากนี้มาก (เช่น ไวรัสเปลี่ยนสภาพ (Mutate) ไปในทางที่รุนแรงน้อยลง ที่จะทำให้การระบาดใหญ่จบลงได้เร็วกว่าที่คาด เช่น ในกรณีไข้หวัดหมู 2009 แต่โอกาสที่จะ ‘โชคดี’ แบบนั้นคงจะยากกว่ามากในครั้งนี้) เราก็คงจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ใน ‘ชีวิตปกติใหม่’ (ที่ไม่ปกติจริงๆ) แบบนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี

หมายเหตุ: ข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘TDRI Policy Series on Fighting Covid-19’ สามารถอ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 ได้ที่ https://tdri.or.th/category/read-with-tdri/article/

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising