สื่อทางการจีนรายงานในวันนี้ (9 พฤษภาคม) ว่า ชิ้นส่วนบรรทุกของจรวด Long March 5B ความยาว 29 เมตร หนัก 22 ตัน ได้ร่วงลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อเวลาประมาณ 10.24 น. ตามเวลาในปักกิ่ง หรือประมาณ 09.24 น. ที่ผ่านมา ตามเวลาไทย
โดยชิ้นส่วนจรวดส่วนใหญ่นั้นถูกเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ แต่มีบางส่วนที่สลายตัวเหนือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งคาดว่าจุดตกกระทบอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของมัลดีฟส์
จรวด Long March 5B นั้นถูกปล่อยสู่วงโคจรโลกเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติภารกิจนำส่งชิ้นส่วนโมดูลสำหรับสร้างสถานีอวกาศนานาชาติแห่งใหม่ของจีน โดยเป็นภารกิจแรกจากทั้งหมด 11 ภารกิจ
ซึ่งการที่ชิ้นส่วนจรวดร่วงกลับสู่โลกนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับชิ้นส่วนบรรทุกของจรวด Long March 5B นั้นก่อให้เกิดความกังวล เนื่องจากไม่สามารถควบคุมพิกัดในการร่วงได้เหมือนดาวเทียมหรือชิ้นส่วนจรวดอื่นๆ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดเดาได้ยากว่าชิ้นส่วนจะร่วงลงสู่จุดไหนของโลก และก่อให้เกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่เศษชิ้นส่วนจะร่วงลงในเมืองใหญ่ทั่วโลก และทำให้เกิดอันตรายกับผู้คน เนื่องจากวัตถุอวกาศส่วนใหญ่มักจะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ แม้จะมีบางส่วนที่ทนความร้อนและร่วงลงสู่โลกได้ ขณะที่พื้นผิวโลกส่วนใหญ่ยังปกคลุมไปด้วยมหาสมุทรและมีผืนแผ่นดินจำนวนมากที่ไม่มีคนอาศัยอยู่
ทางด้านสหรัฐฯ และยุโรปได้เฝ้าติดตามการร่วงกลับสู่โลกของชิ้นส่วนจรวดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยกองบัญชาการอวกาศของสหรัฐฯ (US Space Command) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เศษชิ้นส่วนของจรวด Long March 5B ได้ร่วงกลับสู่โลกบริเวณคาบสมุทรอาหรับ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจุดที่ตกกระทบนั้นอยู่บนแผ่นดินหรือในทะเล
สำหรับกรณีนี้ถือเป็นวัตถุอวกาศขนาดใหญ่สุดที่ร่วงกลับสู่โลก หลังจากกรณีชิ้นส่วนห้องปฏิบัติการอวกาศของจีนร่วงสู่โลกและสลายตัวเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 2018 และกรณีชิ้นส่วนท่อนกลางหนัก 18 ตันของจรวด Long March 5B ร่วงสู่โลกในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ภาพ: Guo Wenbin / VCG via Getty Images
อ้างอิง: