คนไทยใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน การเลือกทำเลในการสร้างที่อยู่อาศัยในสมัยก่อนก็ต้องใกล้แม่น้ำลำคลอง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรม สายน้ำจึงเปรียบเสมือนสายโลหิตของชีวิตคนไทยมาแต่อดีต ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีการละเล่นที่เป็นเสน่ห์แห่งสายน้ำ ซึ่งจัดเป็นประเพณีที่มีมายาวนานอย่าง ‘การแข่งเรือยาว’
การแข่งเรือยาวนั้นยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้อย่างแน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาเมื่อใด แต่มีการเล่าว่าเริ่มมาจากสมัยอยุธยา เพราะจากบันทึกงานพระราชพิธีต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจำเดือน 11 ซึ่งจะมีพิธีแข่งเรือรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วในจดหมายเหตุลาลูแบร์ยังได้กล่าวถึงการเล่นแข่งเรือของชาวบ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า เป็นการละเล่นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น ตลอดจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการเล่นแข่งเรือกันเป็นประจำเสมอมา ในขณะที่สมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งทรงโปรดให้ปรับปรุงพระราชวังได้มีการขุดสระภายในพระราชวัง ก็ทรงโปรดให้มีการแข่งเรือในครั้งนั้นด้วย หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 เองก็มีการเล่นกันอย่างแพร่หลาย
ในปัจจุบันการแข่งเรือยาวที่เป็นแบบดั้งเดิมเริ่มจะหาชมได้ยากตามเมืองหลวง แต่การแข่งเรือนี้ก็ใช่ว่าจะหายไปเสียทีเดียว ประเพณีนี้ยังคงมีอยู่ แต่จะอยู่ในตามต่างจังหวัด และจุดมุ่งหมายในการแข่งเรือก็ได้เปลี่ยนไปในทางศาสนา เพราะเริ่มแข่งกันในช่วงวันออกพรรษาควบคู่ไปกับการทำบุญ ปิดทอง ไหว้พระ และงานกฐิน ช่วยสร้างบรรยากาศให้งานบุญครึกครื้นขึ้น และเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย
การแข่งเรือยาวมักจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำมาก โดยผู้คนในชุมชนจะช่วยกันจัดงาน มีการคัดเลือกฝีพายเป็นชายที่แข็งแรงมาลงแข่งขัน และทุกหมู่บ้านจะต้องมีเรือลงแข่งขันร่วมกันด้วย ซึ่งการแข่งขันก็มีอยู่ 4 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ประเภทเรือยาว 55 ฝีพาย, ประเภทเรือยาว 40 ฝีพาย, ประเภทเรือยาว 30 ฝีพาย, ประเภทเรือยาวสากล 10 ฝีพาย แต่จำนวนฝีพายไม่จำเป็นจะต้องถึงตามประเภทที่ลงก็ได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนด
ส่วนที่สร้างสีสันให้งานแข่งเรือก็คงหนีไม่พ้นนักพากย์ ที่จะเป็นคนที่ทำให้บรรยากาศการแข่งขันสนุกและลุ้นขึ้นไปอีก ถ้าพูดถึงพากย์เรือ เราก็คงจะคิดถึงนักพากย์ที่พูดเร็วจนเราแทบจะฟังไม่ทัน แต่นั่นแหละคือเสน่ห์ของการแข่งขัน
การแข่งเรือยาวประเพณีนี้ ปัจจุบันในหลายพื้นที่ได้เริ่มมีการฟื้นฟูให้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบของการแข่งขันประจำปีในหลายพื้นที่ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะช่วงออกพรรษา นอกจากนั้นยังมีการส่งนักกีฬาไปแข่งในระดับนานาชาติ มีการก่อตั้งสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนากีฬาทางน้ำ ซึ่งประกอบด้วยเรือแคนู เรือคายัค เรือกรรเชียง และเรือยาว อีกทั้งยังบรรจุกีฬานี้เข้าชิงเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ โดยพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และได้มาตรฐานกีฬาสากลยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.rcat.or.th/
- th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7
- xn--k3cpjt9d6a4e.net/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9Be/