สถานการณ์โควิด-19 ในไทย ณ ปัจจุบัน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอีกครั้ง ในขณะที่ผู้ติดเชื้ออาการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง
แต่ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มประชากรที่เรียกว่า ‘กลุ่มเสี่ยงสูง’ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลและเฝ้าระวัง ทั้งยังไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางผู้คนในสังคมได้ตามปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เพียงพอ ตลอดจนผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่เป็นแพ้ภูมิตัวเอง
การสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แก่กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป
หนึ่งในแรงขับเคลื่อนและสนับสนุนความพยายามนี้คือแคมเปญชื่อว่า ‘เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ’ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
‘เสริมภูมิคุ้มกัน’ ปลดล็อกอิสรภาพให้กับกลุ่มเสี่ยง
ก่อนจะพูดถึงเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกัน ต้องเข้าใจก่อนว่าภูมิคุ้มกันนั้นคือแอนติบอดี ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายหรือเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคเหล่านั้น ซึ่งภูมิคุ้มกันจะมีความจำเพาะต่อโรคใดโรคหนึ่งเท่านั้น โดยภูมิคุ้มกันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง (Active Immunity) โดยเกิดหลังการสัมผัสเชื้อโรคนั้นๆ โดยธรรมชาติหรือหลังจากการได้รับวัคซีน
- ภูมิคุ้มกันแบบรับจากภายนอก (Passive Immunity) โดยที่ร่างกายไม่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง ได้แก่ การส่งผ่านภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกผ่านรก และการได้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป
ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 ได้ตามปกติ ไม่สามารถออกไปในที่สาธารณะ พบปะสังสรรค์กับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือผู้คนจำนวนมาก ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ความพยายามสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันถูกผลักดันผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า ‘เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ’ ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือที่รู้จักในชื่อ LAAB (Long-Acting Antibody)
ก่อนหน้านี้แคมเปญ ‘เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ’ มีการรณรงค์และสร้างแรงกระตุ้นมาแล้วในหลายรูปแบบ เช่น การเดินในบอลลูนที่ทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของภูมิคุ้มกันที่มีต่อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งโรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และแพ้ภูมิตัวเอง ให้ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างมั่นใจ
ล่าสุดยังมีการเปิดตัวภาพยนตร์สั้นชุด เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ จำนวน 2 เรื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไป
ภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกของแคมเปญในชื่อ ทำไมพ่อถึงไม่ไปงานแต่งผม? บอกเล่าเรื่องราวคนเป็นพ่อที่จำเป็นต้องปฏิเสธการไปร่วมงานแต่งลูก ที่ตั้งใจบินกลับจากต่างประเทศเพื่อมาจัดงานแต่งที่ไทย โดยต้องการให้พ่อที่เขารักที่สุดได้ร่วมเป็นสักขีพยาน
แต่การไปร่วมงานที่มีผู้คนมากมายอาจกลายเป็นฝันร้าย เนื่องจากพ่อนั้นป่วยด้วยโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงหากได้รับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ความหวังสำคัญจึงเป็นการปรึกษาแพทย์ เพื่อช่วยประเมินและหาแนวทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB
ส่วนภาพยนตร์สั้นอีกเรื่องชื่อ คอนเสิร์ตนี้…ต้องไปให้ได้ เล่าถึงชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งต้องการพาคนสำคัญที่สุดในชีวิตไปคอนเสิร์ต แม้ตนเองจะไม่รู้จักศิลปินและไม่เคยฟังเพลงวงนี้สักเพลง แต่เพราะ ‘แม่’ คนที่เขารักที่สุดรักวงนี้มากๆ จึงอยากเติมเต็มความฝัน ด้วยการพาไปดูคอนเสิร์ตของวงนี้สักครั้ง และต้องหาหนทางเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อออกไปใช้ชีวิตกับคนที่รักได้อย่างมีความสุข
แรงกระเพื่อมจากแคมเปญนี้เชื่อว่า นอกจากจะสร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจร่วมกับคนรอบข้างที่คุณรัก แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังไม่หายไป และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วโลกต้องปรับตัวตามแนวทาง ‘ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19’ (Living with COVID-19)
รู้จัก ‘LAAB’ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง
LAAB (Long-acting Antibody: ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแบบมีเงื่อนไขในประเทศไทยแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติใช้เพื่อการฉีดป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และฉีดเพื่อการรักษาโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม
ปัจจุบันแม้ว่าไทยจะผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่ประชากรจำนวนไม่น้อยยังมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงหากได้รับเชื้อโควิด-19 LAAB จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้นำ LAAB มาใช้ป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีนจำนวนกว่า 26,000 ราย โดยพบว่ามีความปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง
ประสิทธิภาพของ LAAB ในการรักษาโควิด-19 จากการศึกษาทดลองระยะที่ 3 ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการและได้รับยาในช่วง 3 วันแรก สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) ได้ถึง 88% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) และยังลดความเสี่ยงถึง 67% ในกลุ่มที่ได้รับยา LAAB ใน 5 วันหลังแสดงอาการ (อ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาตามที่มาท้ายบทความ)
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (อ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาตามที่มาท้ายบทความ) บ่งชี้ว่า ยา LAAB สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2.75, BA.4 และ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในประเทศไทย ณ ปัจจุบันได้
ทั้งนี้ ในการใช้งาน LAAB จะต้องฉีดที่สะโพกและสามารถออกฤทธิ์ได้เลยภายใน 6 ชั่วโมง จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไปหรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีน
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางใช้ LAAB เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย
- ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน
สำหรับการพิจารณาใช้ LAAB ให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายรับยา LAAB ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข สามารถแจ้งกับแพทย์เจ้าของไข้ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ได้ประเมินและดำเนินการแจ้งความจำนงขอเข้ารับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปได้ในลำดับต่อไป
#เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ #เตรียมความพร้อมให้ทุกความพิเศษ TH-12886
อ้างอิง: