×

แค่จัดแสงก็ชนะเลิศ เลือกแสงไฟอย่างไรให้เหมาะกับบ้าน

22.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้พื้นใดพื้นที่หนึ่งสำหรับวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว การเลือกใช้แสงไฟจึงไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงว่าห้องเดียวต้องใช้ไฟประเภทเดียว
  • ห้องนอนส่วนมากมักตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งมักมีแสงตามธรรมชาติในช่วงเช้า ควรใช้ไฟ cool white ที่ไม่สว่างจ้าเป็นหลัก แล้วเสริมด้วย warm white แบบฝังฝ้า หรือแบบโคมหัวเตียง ส่วนบริเวณโต๊ะทำงาน ใช้โคมตั้งโต๊ะที่เป็นหลอด daylight
  • พื้นที่ภายนอกมีปัจจัยเรื่องฝุ่น ควัน และฝนมาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ควรคำถึงถึงอันดับแรกจึงเป็นการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัย จากนั้นก็ต้องเลือกทั้งหลอดไฟและตัวโคมไฟที่เป็นแบบเฉพาะสำหรับใช้ภายนอก

     เราใช้แสงไฟในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ (บางคนแม้แต่ตอนหลับก็ยังใช้นะเออ) ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกประเภท อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว ซึ่งจริงๆ แล้วหลักการนั้นมีไม่มาก แถมยังทำตามได้ไม่ยากด้วย ลองมาดูไปพร้อมๆ กันดีกว่า

 

 

โทนของแสงไฟ

     warm white เป็นแสงสีนวล ไม่เหลืองจัด ไม่ส้มจัด เป็นแสงที่ให้ความสบายตา แต่จะไม่สว่างมาก นิยมใช้เป็นแสงสร้างบรรยากาศ (mood light) มากกว่า

     daylight เป็นแสงโทนเดียวกับความสว่างของช่วงกลางวัน คือออกโทนฟ้า จัดจ้า ทำให้มองเห็นชัดเจน เหมาะกับพื้นที่ทำงาน

     cool white เป็นลูกผสมระหว่าง warm white กับ daylight ให้สีขาว แต่ไม่ขาวจัด เป็นตัวเลือกกลางๆ ที่ใช้ได้แทบทุกพื้นที่

 

เลือกใช้อย่างไรกับจุดไหนดี

     เนื่องจากทุกวันนี้เราอาจไม่ได้ใช้พื้นใดพื้นที่หนึ่งสำหรับวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว การเลือกใช้แสงไฟจึงไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงว่าห้องเดียวต้องใช้ไฟประเภทเดียว เราสรุปมาให้โดยที่คุณสามารถนำไปมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เหมาะกับการใช้งานได้เลย

 

 

     1. ห้องนอน + ห้องทำงาน ห้องนอนส่วนมากมักตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งจะมีแสงตามธรรมชาติในช่วงเช้า แนะนำให้ใช้ไฟ cool white ที่ไม่สว่างจ้าเป็นไฟหลัก อาจติดบนเพดานเป็นแบบฝังฝ้า แล้วเสริมด้วย warm white แบบฝังฝ้าหรือแบบโคมหัวเตียงก็ได้ ส่วนบริเวณโต๊ะทำงาน ใช้โคมตั้งโต๊ะที่เป็นหลอด daylight และพยายามหลีกเลี่ยงการตั้งโต๊ะที่ต้องหันหลังให้ไฟเพดาน เพื่อไม่ให้เกิดเงาสะท้อนเวลาเปิดไฟช่วงกลางคืน

 

 

     2. ห้องนอน + walk-in closet มุมแต่งตัวหรือห้องแต่งตัวในห้องนอน หลายครั้งเป็นมุมอับ เพราะจะทำช่องเปิดเป็นหน้าต่างก็กลัวไม่เป็นส่วนตัว และแสงไฟจากห้องนอนก็ส่องไปไม่ถึง ถ้าคุณมีโอกาสได้ติดตั้งระบบไฟตั้งแต่แรกก็ควรจัดให้เป็นแบบ daylight สำหรับส่วนแต่งตัวไปเลย เพราะเวลาคุณแต่งตัว ลองชุด แต่งหน้า คุณต้องอิงกับแสงสว่างที่เป็นแสงธรรมชาติมากที่สุด  

 

 

     3. ห้องครัว + ห้องรับแขก หลายคนมีงานอดิเรกคือชอบทำอาหาร เลยชวนเพื่อนๆ มาแฮงก์เอาต์ที่บ้านบ่อยๆ การจัดห้องครัวกึ่ง open space ไว้รับแขกด้วยก็สะดวกดี ในส่วนครัวที่ใช้ประกอบอาหารใช้ได้ทั้ง daylight และ cool white บางคนใช้ cool white เฉพาะจุด อย่างใต้เครื่องดูดควัน หรือในตู้เก็บของ สำหรับส่วนรับแขกก็เหมือนกัน อาจเสริม warm white เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นละมุนตามากขึ้น

 

 

     4. ห้องน้ำ + แกลเลอรี อ่านไม่ผิดหรอก ลองสังเกตดูสิว่าสมัยนี้ห้องน้ำตามร้านเก๋ๆ มักมีงานศิลปะประดับอยู่ และหลายบ้านก็เริ่มนำทริกแบบนี้มาใช้บ้าง สำหรับงานศิลปะนั้นเน้นเรื่องสัมผัสทางสายตา คุณสามารถติดตั้ง cool white ให้ส่องไปที่ชิ้นงานโดยเฉพาะ ส่วนห้องน้ำก็ใช้แบบ daylight ได้เลย โดยควรติดตั้งแบบฝังฝ้าเพดาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำกระเด็นไปโดนจนไฟช็อต

 

 

     5. ห้องทำงาน + ห้องรับแขก สามารถใช้ daylight เป็นไฟหลักได้ทั้งสองพื้นที่ แต่ส่วนของพื้นที่รับของน่าจะมีไฟเสริมเป็น warm white เป็นโคมตั้งพื้นเด่นๆ สักชิ้น หรือไม่ก็ใช้แบบติดผนังเป็นเซตเก๋ๆ ถือเป็นของตกแต่งกึ่ง sculpture ไปด้วยในตัว ส่วนพื้นที่ทำงานก็ควรมี daylight เพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพื่อลดอาการปวดกระบอกตาเวลาต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ

 

                

ฟลูออเรสเซนต์, แอลอีดี, ฮาโลเจน คืออะไร ใช้งานต่างกันไหม

     พูดง่ายๆ ฟลูออเรสเซนต์ (fluorescent) ก็คือหลอดไฟที่เป็นแก้ว ขาวๆ ยาวๆ ที่ทุกคนคุ้นเคยมานาน ซื้อง่าย ราคาถูก ให้แสงสว่างแบบสุดๆ แต่ข้อเสียคือ เสียง่าย และกินไฟสุดๆ เหมือนกัน

     จากนั้นมันก็พัฒนามาเป็นหลอดตะเกียบ ซึ่งก็ยังถือเป็นฟลูออเรสเซนต์ แต่เป็นแบบคอมแพ็กที่ลดขนาดลงมาให้ใช้กับโป๊ะหรือโคมได้หลากหลายขึ้น

     แต่ปัจจุบัน แอลอีดี (LED) เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แค่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มันพัฒนาไปทั้งรูปทรง สีสันของแสง แถมยังพิสูจน์มาแล้วว่าประหยัดไฟกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์มาก เวลาใช้งานก็ไม่ก่อให้เกิดความร้อน ไม่ดึงดูดแมลงด้วย ข้อเสียนิดหน่อยเพียงอย่างเดียวคือราคายังสูงพอสมควร แนะนำว่าถ้าจะเปลี่ยนมาใช้ LED ก็ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ เสริมไปทีละจุด จะได้ไม่เป็นภาระกระเป๋าเงินมากนัก     

     สำหรับ หลอดฮาโลเจน (halogen) เป็นหลอดไส้ชนิดหนึ่ง (ก็คือหลอดไฟหัวกลมๆ นั่นล่ะ) ขึ้นชื่อเรื่องความสว่าง แต่ก็ขึ้นชื่อว่ากินไฟและก่อให้เกิดความร้อนขณะใช้งาน จึงเหมาะกับงานที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงหน่อย เช่น ใช้ส่องสว่างเพื่อสร้างแสงเงาให้กับการถ่ายภาพ ใช้ในตู้โชว์สินค้า หรือใช้ในพื้นที่แสดงงานศิลปะ

 

 

แสงไฟนอกบ้านควรเลือกอย่างไร

     พื้นที่ภายนอกมีปัจจัยเรื่องฝุ่น ควัน และฝนมาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ควรคำถึงถึงอันดับแรกคือเรื่องของการติดตั้งระบบไฟฟ้า จากนั้นก็ต้องเลือกทั้งหลอดไฟและตัวโคมไฟที่เป็นแบบเฉพาะสำหรับใช้ภายนอก ปัจจุบันนี้มีโคมไฟแบบที่กันน้ำ กันแมลง กันฝุ่น ให้เลือกช้อปค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวกับประเภทของโทนแสงไฟที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แสงสีขาวจ้าจนแสบตา แต่มีทั้งไฟสร้างบรรยากาศ ไฟส่องสว่างเฉพาะจุด อยู่ที่การเลือกใช้งานของเจ้าของบ้านเลย

 

Photo: Shutter Stock

FYI

Do

  1. เช็กอัพหลอดไฟด้วยตัวเอง ขั้วหลวมหรือเปล่า ดวงไหนที่ติดๆ ดับๆ บ่อยเกินไป หรือหลอดแบบเก่าที่มีมานานอาจไม่เหมาะกับการใช้งานในห้องนั้นอีกแล้ว ทั้งหมดจะช่วยยืดอายุการใช้งานและประหยัดค่าไฟให้คุณได้
  2. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือ Lighting Designer ถ้าคุณมีเวลาและงบประมาณมากพอ เพราะพวกเขาพร้อมจะแนะนำการเลือกใช้ไฟที่เหมาะกับแต่ละส่วนภายในบ้านของคุณได้

 

Don’t

1.ใช้งานหลอดไฟแบบไม่ถนอม เปิดๆ ปิดๆ เปิดทิ้งไว้ หรือใช้งานผิดประเภท

  1. ทิ้งหลอดไฟเก่ารวมกับขยะทั่วไป เพราะถือเป็นขยะมีพิษ ให้ห่อด้วยกระดาษแล้วใส่กล่องที่เคยใส่ตอนซื้อมา จากนั้นก็ติดป้ายบอกเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising