×

ความโด่งดังของลิซ่ากระตุ้นรัฐไทยส่งออก Soft Power พร้อมแค่ไหนถามใจเธอดู?

29.10.2021
  • LOADING...
ลิซ่า Soft Power

HIGHLIGHTS

  • ต้นทุนความโด่งดังของลิซ่าเกิดจากการเคี่ยวกรำของวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ล้วนๆ จนถึงวันที่เธอประสบความสำเร็จ รัฐไทยก็อยากจะแปะป้ายสร้างแบรนด์จากความโด่งดังของลิซ่า และเริ่มหันกลับมามองเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมหรือ Soft Power ของไทยอีกครั้ง 
  • ซีรีส์เกาหลีต้องการไปตีตลาดฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งของจีน สถานกงสุลประจำที่นั่นก็วิ่งเต้นให้สินค้าเกาหลีร่วมกันซื้อโฆษณาช่วงเวลาที่ซีรีส์ออกอากาศ เพื่อให้สถานีโทรทัศน์เห็นว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความสนใจ และสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จตามที่หวัง 
  • และอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือการเล่าเรื่องที่เป็น ‘ประเด็นสากล’ ถ้ายังคงวนเวียนอยู่แต่เรื่องค่านิยมแบบไทยๆ ก็คงจะขายได้เฉพาะกับคนไทย ซึ่งปัจจุบันก็ปันใจไปให้ซีรีส์เกาหลีเกือบหมดแล้ว

เรียกว่ารถเข็นคว่ำตั้งแต่ยังไม่ตั้งแผงขายก็คงไม่ผิด จากกรณีที่ต้นสังกัดของ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ออกจดหมายชี้แจงว่าลิซ่าไม่สามารถมาร่วมงานเคานต์ดาวน์ 2022 ที่ภูเก็ตได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายืนยันเป็นมั่นเหมาะถึงขั้นการันตี ‘100%’ ว่าดีลนี้ผ่านแน่นอน โดยหวังกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้กลับมาดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปแบบนั้นก็เรียกได้ว่าน่าผิดหวังถึงขั้น ‘หน้าแตก’ เลยทีเดียว


จริงๆ เรื่องคิวงานก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงในฐานะศิลปิน ‘เกาหลีใต้’ สัญชาติชาติไทย ก็คือ ‘ภาพลักษณ์’ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับศิลปินเกาหลีที่ระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

ผู้เขียนเคยเป็น บ.ก. นิตยสารที่ต้องสัมภาษณ์ศิลปินเกาหลีอยู่บ่อยๆ ได้เห็นน้องเจ้าของคอลัมน์กว่าจะได้สัมภาษณ์ศิลปินแต่ละคนต้องมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย ตั้งแต่การกลั่นกรองคำถาม ระยะเวลาในการทำงาน จำนวนทีมงาน หรือแม้แต่ตอนถ่ายทำเสร็จยังลงรายละเอียดถึงขั้น ‘จัดการรูปแบบรอยยิ้มของศิลปิน’ นี่คืองานภาพนิ่งกับศิลปินระดับกลางๆ แล้วกรณีของลิซ่าที่ขึ้นชั้นเป็นศิลปินระดับโลก และยังเป็นงานคอนเสิร์ตเข้าไปอีกย่อมมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ก็ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาที่มีอยู่จะเพียงพอให้งานออกมาดีสมกับมาตรฐานหรือเปล่า ไหนจะต้องเจอ ‘พิธีกรรม’ ทางฝั่งราชการไทยเข้าไปอีก การไม่มาร่วมงานครั้งนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องคิวงานรัดตัว หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม

 

ต้นทุนความโด่งดังของลิซ่าเกิดจากการเคี่ยวกรำของวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ล้วนๆ จนถึงวันที่เธอประสบความสำเร็จ รัฐไทยก็อยากจะแปะป้ายสร้างแบรนด์จากความโด่งดังของลิซ่า และเริ่มหันกลับมามองเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมหรือ Soft Power ของไทยอีกครั้ง อย่างที่เราได้ยินข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งเรื่องการทำบันทึกความเข้าใจกับจีนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละคร ไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ก็พูดถึงการปั้น Soft Power ของไทยใน Netflix โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของเกาหลีใต้ ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นแรงกระเพื่อมจากความสำเร็จของ Squid Game 


แต่ก็เกิดคำถามว่าฝ่ายรัฐรู้จักการปลุกปั้น Soft Power มากน้อยแค่ไหน และใจกว้างพอที่จะเปิดรับความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า

 

Squid Game ภาพจาก Netflix 

 

ความสำเร็จของ Soft Power เกาหลีใต้มีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งในยุค 90 ทำให้อุตสาหกรรมหนักของเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนเริ่มมองหาองค์ความรู้อื่นๆ ที่น่าจะขายได้ในสังคมโลก และเห็นว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดแค่เรื่องเดียวสามารถทำเงินได้มากมายพอๆ กับการขายรถยนต์หรืออุตสาหกรรมหนักอื่นๆ กลายเป็นที่มาให้พัฒนาทางด้านนี้อย่างเป็นระบบ และใช้ทุกองคาพยพของประเทศสนับสนุน มีเรื่องเล่าว่าในปี 1992 ซีรีส์เกาหลีต้องการไปตีตลาดฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งของจีน สถานกงสุลประจำที่นั่นก็วิ่งเต้นให้สินค้าเกาหลีร่วมกันซื้อโฆษณาช่วงเวลาที่ซีรีส์ออกอากาศเพื่อให้สถานีโทรทัศน์เห็นว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความสนใจ และสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จตามที่หวัง นี่ยังไม่นับรวมซีรีส์อีกหลายๆ เรื่องในยุคหลังๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐให้เล่าเรื่องราวของหน่วยงานนั้นๆ มีตัวละครทั้งดีและเลวอยู่ในหน่วยงาน โดยไม่มีการยื่น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ไปช่วยจับปากกาคนเขียนบท

สิ่งนี้คือคำถามว่าไทยพร้อมที่จะทำแบบนี้ไหม 

 

Hometown Cha-Cha-Cha ภาพจาก Netflix 

 

และอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือการเล่าเรื่องที่เป็น ‘ประเด็นสากล’ ถ้ายังคงวนเวียนอยู่แต่เรื่องค่านิยมแบบไทยๆ ก็คงจะขายได้เฉพาะกับคนไทย ซึ่งปัจจุบันก็ปันใจไปให้ซีรีส์เกาหลีเกือบหมดแล้ว

ส่วนในเรื่องความร่วมมือกับจีนก็เหมือนจะดูดีในเรื่องการนำเข้า-ส่งออกผลงานระหว่างกัน และสนับสนุนให้สองประเทศผลิตผลงานร่วมกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งไทยและจีนมีปัญหาคล้ายๆ กันคือเรื่องเซ็นเซอร์และเนื้อหาที่ไม่หลากหลายมากพอ ทำให้หนังจีนแม้จะทำเงินในประเทศตัวเองได้มาก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จระดับโลกสักที ตรงนี้ก็อาจจะไม่ได้ช่วยพัฒนาวงการบันเทิงในบ้านเรา

 

ภาพยนตร์เรื่อง Wolf Warrior 2 ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์จีนคือ 854 ล้านดอลลาร์ แต่ทำรายได้ทั่วโลกเพียง 18 ล้านดอลลาร์

 

ภาพยนตร์เรื่อง The Eight Hundred ทำรายได้ในจีนถึง 460 ล้านดอลลาร์ แต่ทำรายได้รวมในต่างประเทศได้เพียง 1.3 ล้านดอลลาร์

 

ส่วนรสนิยมของคนไทยที่นิยมละครว่าด้วยเรื่องปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาติและความรุนแรงทางเพศซึ่งเป็นสิ่งที่จีนเซ็นเซอร์ด้วย แล้วแบบนี้จะส่งออกได้ไหม ข้อนี้กลายเป็นโจทย์ทั้งของรัฐและผู้ผลิตว่าจะมีทางออกแบบไหนได้บ้าง

ผู้เขียนเชื่อเสมอว่าคนบันเทิงของไทยมีศักยภาพมากพอที่ไปสู่ระดับสากล ขาดก็แต่การพัฒนาอย่างเป็นระบบและวิสัยทัศน์ทั้งของผู้ผลิตเองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ก็หวังว่ากระแสตื่นตัวเรื่องส่งออกวัฒนธรรมครั้งนี้จะพัฒนาต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่เพียงแค่ลมปากเป่าอย่างที่ผ่านมา 

 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising