×

‘จ่ายค่าไฟ ไล่ข่าวปลอม’ ก้าวต่อไป LINE ประเทศไทย ภายใต้หัวเรือใหญ่คนใหม่ ‘พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา’

05.11.2019
  • LOADING...
LINE THAILAND

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของ LINE ประเทศไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
  • เพราะเคยดูแลงานด้านรัฐกิจสัมพันธ์มาก่อน พิเชษฐจึงช่ำชองในการดำเนินงานต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ ที่ผ่านมาเราจึงได้ LINE รุกหนักทำงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาข่าวปลอม
  • ในอนาคต LINE จะต้องเป็น ‘Life Infrastructure’ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนให้ได้ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน และอาจรวมถึงการนำบริการต่างๆ ของภาครัฐมาให้บริการบนแพลตฟอร์มด้วย

แม้แต่องค์กรที่ดูมั่นคงและยั่งยืน การันตีฐานผู้ใช้งานในไทย 44 ล้านคน อย่าง ‘LINE’ ก็ต้องพร้อมตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

 

ต้นปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ‘มรสุม’ ขนาดย่อมๆ จะเคลื่อนตัวเข้าไปท้าทาย LINE ประเทศไทยเร็วเหนือความคาดหมาย เมื่อ อริยะ พนมยงค์ อดีตกรรมการผู้จัดการของ LINE ประเทศไทย ที่อยู่ปลุกปั้นแพลตฟอร์มตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง เพื่อไปหาความท้าทายใหม่ที่วิกพระราม 4

 

สองเดือนเต็มที่ LINE ประเทศไทยอยู่ในช่วงสุญญากาศ (ระหว่างนั้นมี อึนจองลี รองประธานอาวุโส ฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ) ก่อนจะแต่งตั้งให้ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของ LINE ประเทศไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทอย่างเป็นทางการ พร้อมถือโอกาสปรับผังโครงสร้างผู้บริหารตำแหน่งสำคัญๆ บางส่วน

 

เครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นในใจใครหลายคน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีส่วนทำให้ LINE ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ‘รัฐกิจสัมพันธ์’ คืออะไร หมายความว่าเราจะได้เห็นความร่วมมือกับรัฐชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ แล้วก้าวต่อไปของ LINE จะเคลื่อนไปยังทิศทางใด หาคำตอบได้จากบทความนี้

 

LINE THAILAND

 

งานใหญ่ บทบาทใหม่ กับคนคุ้นเคย

เราเดินทางมาถึงออฟฟิศ LINE ประเทศไทยในช่วงบ่ายวันหนึ่ง แม้บรรยากาศจะดูไม่คึกคักต่างจากวันที่มีงานแถลงข่าว ซึ่งคับคั่งไปด้วยสื่อมวลชนและคนทำงาน แต่ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความน่าอยู่น่ารักเป็นกันเองสไตล์ออฟฟิศ LINE ทุกครั้งที่แวะมาเยือนสถานที่แห่งนี้ มากไปกว่านั้นคือ พลังงานมหาศาลที่ไหลเวียนจากพนักงานคนหนุ่มสาวที่เดินขวักไขว่ไปมา

 

ไม่นานนักก็พบว่า ตัวเองมาหยุดอยู่ที่หน้าห้องทำงานของซีอีโอ LINE ประเทศไทย ซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งเดิมกับห้องทำงานส่วนตัวของผู้บริหารคนก่อน 

 

ที่ต่างออกไปคือ คราวนี้ตัวห้องถูกนำ ‘กระจกใส’ มาติดตั้งกั้นเป็นอาณาบริเวณห้องแบบสมบูรณ์แล้ว 

 

“แต่น้องๆ ก็ยังเข้ามาคุยกับผมได้เหมือนเดิมนะ” พิเชษฐตอบเมื่อเราถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับห้องทำงานใหม่ของเขา และเสริมว่า ที่ต้องนำกระจกมากั้นก็เพราะว่าตนมีประชุมบ่อย แต่ยังต้องการให้น้องๆ พนักงานที่เดินผ่านไปมายังสังเกตเห็นได้และไม่รู้สึกถึงความห่างเหิน

 

ถ้านับจนถึงช่วงที่เรานั่งคุยกับเขา พิเชษฐเพิ่งจะขึ้นมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LINE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่หากมองในแง่ความคุ้นเคย เขาไม่ใช่คนอื่นคนไกลของ LINE เสียทีเดียว เพราะเริ่มทำงานให้กับแชตแอปฯ ยอดฮิตนี้ตั้งแต่ปี 2559 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ 

 

LINE THAILAND

 

“ที่ผ่านมาก็เริ่มจะลงตัวแล้วครับ เป็น 2 เดือน ที่ทั้งสนุกและเปิดหูเปิดตามาก จริงๆ แล้วก่อนมารับตำแหน่งนี้ ผมไม่ได้ดูแลเรื่องภาคธุรกิจ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่รู้เลย เพราะทำงานมาด้วยกันตลอด และผู้บริหารของ LINE ประเทศไทยคนอื่นๆ ก็เป็นคนเก่าแก่ที่อยู่กันมานาน

 

“ก่อนจะมารับตำแหน่งซีอีโอของ LINE ผมเคยอยู่ในตำแหน่ง Director of Corporate Affairs ซึ่งหนึ่งในงานของผมคือ การดูแลฝั่งรัฐกิจสัมพันธ์ รวมถึง Stake-Holder และ Corporate Identity ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของแบรนดิ้ง แต่หมายถึงภาพลักษณ์ของเราในสายตาของ Stake-Holder เจ้าอื่นๆ จุดยืนของเราในการเป็นบริษัทเทคโนโลยี

 

“ซึ่งงานด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ 3-7 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่จะชี้นำ ซึ่งยังไม่ชัดเจน ดังนั้น งานของผมก็คือ ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อนำข้อมูลที่มีในต่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาศึกษาว่าเขาทำกันอย่างไร แล้ววางแนวทางด้านนโยบายและกฎหมายให้เข้ากับบริบทประเทศของเรา ทำอย่างไรไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ นี่คือคำจำกัดความที่อธิบายรัฐกิจสัมพันธ์ได้ดีที่สุด 

 

“แล้วเราในฐานะที่อยู่ฝั่งเอกชนก็จะสามารถให้ข้อมูลกับภาครัฐได้ชัดเจนเลยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ทำอย่างไรเศรษฐกิจดิจิทัลถึงจะโตได้จริงๆ เพราะกฎหรือนโยบาย ถ้าออกมาไม่ดี ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็พร้อมจะย้ายประเทศได้ทันที อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ณ วันนี้ไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมการผลิตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ผลิตที่ไหนก็ขายที่นั่น ผลิตภัณฑ์ของเทคโนโลยีคือ ‘บริการ’ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ที่ประเทศนั้นๆ ก็ได้”

 

ทั้งนี้ ก่อนจะมาอยู่กับ LINE พิเชษฐเคยมีประสบการณ์ดูแลงานด้านรัฐกิจสัมพันธ์ให้กับ Google ประเทศไทยมาก่อน เขาเล่าว่า ความต่างระหว่างสองบริษัทที่เขาเคยและกำลังร่วมงานด้วยคือ Google จะเน้นทำธุรกิจแบบ B2B มากกว่า ขณะที่ LINE เน้น B2C เป็นหลัก ซึ่งในเชิงการทำงานถือว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร

 

LINE THAILAND

 

เป้าหมายหลักยังเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มให้อยู่กับผู้ใช้ตั้งแต่ ‘ตื่นนอน’ ยัน ‘เข้านอน’ 

หนึ่งในคำตอบที่เราอยากได้ยินจากพิเชษฐมากที่สุดคือ ก้าวต่อไปของ LINE ประเทศไทย กำลังจะมุ่งไปทางไหน? เพราะการเปลี่ยนผู้นำองค์กรหรือบริษัทย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างขององค์กรนั้นๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับ LINE ซึ่งเริ่มเข้าสู่ช่วง ‘ทรงตัว’ ในแง่จำนวนผู้ใช้งานที่ 44 ล้านรายมาสักระยะแล้ว

 

ที่สำคัญ ในงาน LINE CONFERENCE 2019 ที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังมีการประกาศนำกลยุทธ์ OMO (Online Merges with Offline) และ Life on LINE มาใช้สร้างแพลตฟอร์มศูนย์กลางการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ และเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานการใช้ชีวิตของผู้คนให้ได้ โดยที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ การรุกแพลตฟอร์มฟินเทคและ AI มากขึ้น

 

“ในสัดส่วนคนไทยที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือปัจจุบัน (นับเฉพาะประเทศไทย) น่าจะมีมากถึง 90% ที่ใช้งาน LINE โดยตัวเลขผู้ใช้งานอย่างเป็นทางการของเรา ณ วันนี้ อยู่ที่ 44 ล้านราย ซึ่งค่าเฉลี่ยของการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันอยู่ที่ประมาณ 200 นาที ในจำนวนนี้เขาใช้บริการของเรามากถึง 60 นาที

 

“ซึ่งโจทย์ที่เราจะทำต่อจากนี้คือ การเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่น่าจะตอบโจทย์การใช้งานของคน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกลับเข้าไปนอน อย่างทุกวันนี้พอตื่นขึ้นมา คนส่วนใหญ่ก็จะใช้แพลตฟอร์มเช็กงานต่างๆ ถัดมาเราจะทำอย่างไรให้คนมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรามากที่สุดคือ การทำคอนเทนต์ข่าวและคอนเทนต์บันเทิง LINE TODAY, LINE TV และ LINE WEBTOON รวมถึงการมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ LINE SHOPPING

 

“เราพยายามสร้างบริการพวกนี้ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคน โอนเงินก็ใช้ LINE PAY ต้องคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า คนต้องอยู่ในแพลตฟอร์มของเราตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงนะ หมายความว่า อย่างน้อยภายใน 24 ชั่วโมง จะ 08.00 น. 20.00 น. หรืออาจจะ 02.00 น. ถ้าคนอยากจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องตอบโจทย์เขาให้ได้

 

“นิยามที่น่าจะเหมาะกับเรามากที่สุดคือ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Life Infrastructure’ ให้กับผู้ใช้งาน นำเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของทุกคนเข้ามาใช้ อย่างนักพัฒนา Co-Developer ที่เอา API ของเราไปพัฒนา เขาก็สามารถเอาไปพัฒนาได้ไกลมาก บางรายเอา LINE Official Account ของเราไปต่อยอดด้านการศึกษา เช็กชื่อเด็กนักเรียนแล้วส่งเข้าระบบ Pool กลางของโรงเรียน ผู้ปกครองก็สามารถเช็กสถานะลูกๆ ได้

 

“ในเชิงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราคงจะได้เห็นเรื่อยๆ อยู่แล้วต่อจากนี้ หลายๆ อย่างที่ LINE ทำในต่างประเทศ เราก็เลือกเอาเฉพาะสิ่งที่เหมาะกับบ้านเรามาต่อยอดให้บริการในรูปแบบ ‘Localization’ ส่วนบางอย่างที่ต่างประเทศไม่มี แต่เราเห็น Pain Point หรือโอกาสทางธุรกิจ เราก็เริ่มต้นทำในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น LINE MAN นี่คือข้อดีของเราที่อาจจะไม่ได้เห็นจากแพลตฟอร์มอื่นๆ”

 

LINE THAILAND

 

ถามถึงการเร่งเติมฐานผู้ใช้งานให้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 44 ล้านราย ซีอีโอ LINE บอกเราว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึง 100% (ของจำนวนประชากรไทย) เขาก็ยังเชื่อมั่นว่า LINE จะยังเพิ่มจำนวนผู้ใช้ได้เสมอ แต่ก็อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายดาต้าอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเข้ามาของ 5G น่าจะมีส่วนทำให้แพ็กเกจข้อมูลถูกลง และทำให้คนเข้าถึงบริการของ LINE ได้ดีขึ้น

 

ส่วนในวันที่ 12 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะถือเป็นช่วงเวลาครบ 1 ปีเต็มพอดี หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศจับมือกับ LINE จัดตั้ง ‘บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด’ ขึ้นมา เพื่อเตรียมลุยให้บริการสินเชื่อรายย่อย ซึ่งพิเชษฐก็แย้มให้เราฟังแล้วว่า “ใกล้เต็มที” แล้วที่เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากกสิกร ไลน์ออกมา

 

LINE THAILAND

 

เดินหน้าแก้ปัญหา ‘เฟกนิวส์’ กับรัฐบาล ความกังวลการถูกสอดแนมบน LINE?

‘มะนาวโซดาแก้มะเร็ง, ดาราชื่อดังขับรถชนเสียชีวิตแล้ว!, ชีวิตของเขาดีขึ้นเมื่อได้รู้จักกับสิ่งนี้’ ปัญหาข่าวปลอมและการแชร์ข้อมูลแบบผิดๆ ระบาดไปทั่วโลก และลุกลามมาจนถึงเมืองไทย โดยเฉพาะในวันที่เทคโนโลยีการเชื่อมต่อสื่อสารเข้าถึงง่ายขึ้น การใช้เครื่องมือแพลตฟอร์มแบบผิดๆ กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแบบไม่เจตนาก็ง่ายขึ้นตามไปด้วย 

 

ช่วงที่ผ่านมา เราจึงเห็นภาพของซีอีโอ LINE ประเทศไทย พูดคุยหารือและจับมือกับ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บ่อยเป็นพิเศษ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันก็กำลังเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาเฟกนิวส์อย่างเต็มกำลัง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เพิ่งเปิดตัว ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ อย่างเป็นทางการไปแบบสดๆ ร้อนๆ

 

“ข่าวปลอมเกิดขึ้นในทุกๆ แพลตฟอร์ม เมื่อเกิด User Generated Content ขึ้นมา ใครๆ ก็สามารสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง คราวนี้มันก็มีทั้งคนที่ผลิตคอนเทนต์ด้วยข้อมูลที่ถูกและผิด ก็ต้องมาดูว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไม่เดินทางไปถึงประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยว่า นโยบายการทำงานของเราพอจะทำอะไรในเรื่องนี้ได้บ้าง

 

“LINE ให้ความสำคัญในเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัวของผู้ใชงาน (User’s Privacy) มากๆ เพราะฉะนั้นเราจะไม่กระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายการมอนิเตอร์, ฟิลเตอร์ หรือสกรีนแชตของผู้ใช้งาน ที่หลายๆ คนกังวลกัน ก็ขอบอกให้ชัดเลยว่า เราจะไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่นอน 

 

“ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้งานที่แชตหากันก็ยังถูกเข้ารหัสไว้ (Data Encryption) นั่นหมายความว่า ต่อให้เราเข้าไปดูข้อมูลของผู้ใช้จริงๆ เราก็จะอ่านไม่ออกอยู่แล้ว มันก็เป็นส่ิงที่ยืนยันได้ว่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จะปลอดภัยแน่นอน

 

“แล้วถามว่า เรากำลังจะทำอะไร วิธีการแก้ปัญหาของเราประกอบด้วย 2 ข้อ 1. การให้ความรู้ประชาชน เพราะคนที่ใช้ LINE อยู่ในหลากหลายช่วงวัยมาก พ่อผมอายุประมาณ 82-83 ปี เขายังอยู่ในเจเนอเรชันของคนที่เชื่อว่า ‘อะไรที่ได้เห็นบนโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้’ เราก็ต้องบอกเขาว่า มันมีวิธีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องอยู่นะ

 

“เราถึงทำโครงการ ‘STOP FAKE NEWS ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด’ ร่วมกับสำนักข่าว AP เพื่อให้ข้อมูลความรู้คนในการเช็กข่าวปลอมว่าต้องทำอย่างไร ส่วนบนแพลตฟอร์ม เราก็มีระบบรายงาน Reporting System บนไทม์ไลน์ ถ้าใครแชร์ข่าวปลอม แล้วเราเกิดไปเห็นเข้า ก็สามารถแจ้งรายงานเข้ามาในระบบได้ทันที”

 

มีการเปิดเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปนั้น ความร่วมมืออื่นๆ ของ LINE ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็คือ การผลักดันให้แพลตฟอร์มของพวกเขาเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้ในการตรวจเช็กข่าวปลอมของชาวบ้าน เช่น ฟีเจอร์ในลักษณะการส่งลิงก์ข่าวให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ (จุดนี้ LINE ออกตัวว่า พวกเขาไม่ใช่ Verifier เป็นแค่ช่องทางและแพลตฟอร์มเท่านั้น)

 

LINE THAILAND

 

‘จ่ายค่าไฟ ต่อใบขับขี่’ ภาพฝันของ LINE รวมทุกบริการภาครัฐไว้บนระบบ

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประชาชนคนไทย เราเองก็เคยจินตนาการถึงการมีแพลตฟอร์มบริการของภาครัฐแบบดิจิทัลที่รวมทุกอย่างไว้ในที่เดียว ทั้งจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อใบขับขี่ จองทำบัตรประชาชน หรือแม้แต่เสียค่าปรับจราจร

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลายพรรคก็เคยชูนโยบายที่เข้าข่ายลักษณะที่ว่าออกมาเหมือนกัน เพียงแต่ที่สุดแล้วเราก็ยังไม่มีโอกาสเห็นการขับเคลื่อนไปสู่การทำงานในลักษณะดังกล่าวเสียที หรืออาจจะมีความพยายามดำเนินตามแผนงานอยู่ เพียงแต่อาจจะยังไม่มีการประกาศออกมา หรือเห็นเค้าลางรูปร่างที่ชัดเจนของมันสักเท่าไร 

 

พิเชษฐบอกว่า “ผมเริ่มเห็นความชัดเจนจากหลายๆ กระทรวงในการนำเทคโนโลยีไปทำงานให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่า LINE น่าจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในด้านนี้ และช่วยให้มันดีขึ้นได้ เพราะในอดีตคนมองเราเป็นแค่เครื่องมือการสื่อสารหรือการตลาด แต่จริงๆ แล้วเรายังทำ Business Solution ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่รัฐบาลนำไปใช้ได้ ภาคเอกชนด้วยก็ดี

 

“ความหมายคือ แพลตฟอร์มของเราน่าจะเป็นช่องทางที่รัฐสามารถให้บริการประชาชนได้เลย ยกตัวอย่างที่ไกลก็เช่น ทุกวันนี้แพลตฟอร์มของเราถูกธนาคารใช้ทำเป็น LINE Official Account กับลูกค้า เพื่อทำให้การบริการของธนาคารทำได้ง่ายขึ้นในลักษณะ Self-Serve ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้บริการมันถูกพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ครั้ง

 

“ถ้าไปเทียบกับการบริการประชาชน ยกตัวอย่าง สมมติการบริหารจัดการเมืองแห่งหนึ่งสามารถทำ API หลังบ้านของเราให้เดินไปเจอถนนฟุตปาธที่ชำรุดแล้ว สามารถแจ้งซ่อมผ่าน LINE ได้ทันที คราวนี้ข้อมูลมันก็จะไปรวบรวมที่หลังบ้าน การจัดสรรงบประมาณตามเขตต่างๆ ก็จะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับพื้นที่ที่ต้องการงบพัฒนาได้อย่างลงตัว ทีนี้ภาครัฐก็จะสามารถจัดสรรงบได้ถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพตามข้อมูลที่ส่งเข้ามาโดยประชาชน

 

“นอกจากนี้เรื่อง ‘การเข้าคิว’ การติดต่อหน่วยงานราชการก็น่าจะสามารถทำบน LINE ได้ แทนที่จะต้องไปนั่งรอเช้าเสร็จเย็น อย่างสมัยที่ผมยังเด็ก การทำพาสปอร์ตต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ตรงข้ามกับทุกวันนี้ที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลา เทคโนโลยีมันจะเข้ามาจัดการเพนพอยต์เหล่านี้ได้ ซึ่ง LINE เป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมจะทำสิ่งเหล่านี้ได้อยู่แล้ว”

 

LINE THAILAND

 

“ถ้าอย่างนั้นในอนาคตเราก็จองต่อใบขับขี่ผ่าน LINE ได้แล้วสิครับ” เราถามเขาทันที เพราะเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ก็น่าจะประสบปัญหาการไม่มีเวลาว่างเหมือนๆ กันกับเรา

 

“จริงๆ ทำได้หมดเลยนะครับ” พิเชษฐเล่าต่อ “ขึ้นอยู่กับความต้องการและความประสงค์ของแต่ละหน่วยงานรัฐว่าพวกเขาต้องการอะไร แต่มันก็อาจจะมีบางมุมที่เราทำไม่ได้เหมือนกัน ส่วนใหญ่เราจะมองในมุมการเข้าไปช่วยให้บริการประชาชนดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมาก เหมือนที่ธนาคารทุกวันนี้ก็มีต้นทุนค่าดำเนินการลดลงเรื่อยๆ”

 

เมื่อถามว่า เราจะเริ่มได้เห็นบริการต่างๆ ของทางภาครัฐที่ถูกยกมาอยู่บนแพลตฟอร์มของ LINE เมื่อไร พิเชษฐบอกว่า คงไม่สามารถให้ข้อมูลไทม์ไลน์กรอบเวลาที่ชัดเจนได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการของภาครัฐ และเขาก็คงไม่สามารถลัดขั้นตอนใดๆ ทั้งสิ้น

 

เพียงแต่อย่างน้อยที่สุด การได้ยินจากปากซีอีโอของ LINE ประเทศไทยด้วยตัวเอง ตั้งแต่แนวทางการบริหารงานต่อจากนี้ ไปจนถึงการเตรียมพัฒนาบริการของภาครัฐให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มของพวกเขา ก็ชวนให้เราอดรู้สึกตื่นเต้นตามไปด้วยไม่น้อย

 

เป้าหมายใหญ่สุดของพิเชษฐนอกเหนือไปจากการเสริมใยเหล็กให้แพลตฟอร์มของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น ยังรวมถึงการทำให้ LINE เป็นองค์กรที่ยั่งยืน ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคลแค่ใครคนใดคนหนึ่ง

 

ความหมายก็คือ ในอนาคต LINE อาจจะมีการหมุนเวียนตำแหน่งผู้บริหารสลับสับเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรได้เรียนรู้งานที่แตกต่างกันออกไปคล้ายๆ กับวิธีที่องค์กรใหญ่ๆ ในต่างประเทศมักจะทำกัน

 

และนี่คือทั้งหมดที่ซีอีโอ LINE ประเทศไทยอยากบอกกับคุณ

 

LINE THAILAND

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • ก่อนหน้าจะมาอยู่กับ LINE พิเชษฐเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ ที่บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ช่วยและที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออเร้นจ์ ประเทศไทย จำกัด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X